มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ใช้กิจกรรมช่วยปรับตัวกับบทบาทใหม่

มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ใช้กิจกรรมช่วยปรับตัวกับบทบาทใหม่

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เป็นหนึ่งในสถาบันที่เข้าร่วมโครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในท้องที่ห่างไกลให้เป็นครูรุ่นใหม่ ที่พร้อมพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและชุมชนของตน

ขณะที่เทอมการศึกษาเพิ่งเริ่มขึ้น น้องๆ ครูรักษ์ถิ่นรุ่นแรกล้วนต้องปรับตัวกับการเรียนในระดับชั้นใหม่ หลายคนต้องจากบ้านมาไกล ต้องเจอสังคมใหม่ที่แตกต่างไปจากชีวิตนักเรียนมัธยม ทาง มรภ. กำแพงเพชร จึงได้ใช้วิธีการนำเอากิจกรรมมาช่วยเสริมทั้งในวิชาเรียนและเวลาว่าง เพื่อให้น้องๆ สามารถปรับตัวเข้ากับการเรียนและชีวิตนักศึกษาได้ดียิ่งขึ้น

อาจารย์วชิระ พิมพ์ทอง อาจารย์ผู้ดูแลหอพักนักศึกษาครูรักษ์ถิ่น กล่าวถึงกิจกรรมเสริมและการดูแลน้องๆ ว่า เริ่มจากไอเดียตั้งต้นที่ทาง มรภ. วางไว้ก่อนเริ่มโครงการว่า จะต้องมีกิจกรรมเสริมที่เน้นทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้น้องๆ ปรับตัวกับการอยู่หอพักได้เร็วขึ้นและมีทักษะที่จำเป็นติดตัวต่อไป

 

ต้องมีทักษะการเกษตร ดนตรี กีฬา อย่างน้อยคนละ 1 อย่าง

อาจารย์วชิระอธิบายว่า น้องๆ ในโครงการครูรักษ์ถิ่น มรภ. กำแพงเพชรมีทั้งหมด 32 คน ทุกคนต้องพักร่วมกันในหอพัก และจะมีกิจกรรมประจำที่ต้องทำทุกวันคนละ 3 อย่าง ได้แก่ การเกษตร ดนตรี และกีฬา

หลังเลิกเรียนทุกวันตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไป นักศึกษาครูรักษ์ถิ่นกลุ่มนี้จะต้องลงทำสวน โดยน้องๆ ต้องแบ่งกันรับผิดชอบแปลงเกษตร ซึ่งแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเลือกชนิดผักและหาวิธีดูแลด้วยตัวเอง

“ทุกคนต้องได้เรียนรู้การปลูกผัก จุดประสงค์เราคือไม่ได้ปลูกให้งาม แต่คือปลูกให้รู้ ต้องวิเคราะห์ดินและเมล็ดพันธุ์ได้ แล้วต้องจดบันทึกตั้งแต่วันที่เริ่มปลูก การใส่ปุ๋ยก็ต้องค้นหาสูตรของตัวเองให้เจอ เพราะวิธีการต่างคนก็ไม่เหมือนกัน เราอยากให้เขาลองผิดลองถูกด้วยตัวเองทั้งหมด แล้วการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะเกิดขึ้น”

จนถึงห้าโมงเย็นจึงเป็นกิจกรรมกีฬาและดนตรีที่เน้นตามความสนใจของแต่ละคน อาจารย์วชิระระบุว่า น้องๆ ทุกคนจะต้องเป็นกีฬาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง และดนตรีอย่างน้อยหนึ่งอย่าง เมื่อเก่งแล้วก็จะได้ลองหัดกีฬา หรือเครื่องดนตรีประเภทอื่นต่อไป โดยนอกจากที่ต้องเล่นเป็นแล้ว พวกเขาต้องเรียนรู้ด้านทฤษฎี รวมถึงกฎและกติกาด้วย เพื่อให้สามารถนำไปถ่ายทอดต่อได้

 

เรียนภาษา ใกล้ชิดศาสนา เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ด้านวิชาการ น้องๆ ครูรักษ์ถิ่น มรภ. กำแพงเพชร ทุกคนจะได้รับการเสริมหลักสูตรภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ตามความสนใจ เพราะครูรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีภาษาที่สองหรือภาษาที่สาม เพื่อให้ทันโลกยุคใหม่ที่การติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน

ส่วนในทางคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นการพัฒนาจากภายใน อาจารย์วชิระบอกว่าทุกวันอาทิตย์ น้องๆ จะมีกิจกรรมสวดธรรมจักรกัปปะวัฒนสูตรที่วัดพระบรมธาตุ อารามหลวง ซึ่งเป็นวัดประจำจังหวัดกำแพงเพชร โดยน้องๆ จะต้องเข้าไปช่วยงานจัดสถานที่วัดด้วย

“กิจกรรมเหล่านี้เราจะให้ทำทุกสัปดาห์ ให้เขาค่อยๆ ซึมซับเป็นกิจวัตร เรามองว่าแนวทางการดูแลที่ใช้กิจกรรมช่วยพัฒนา จะทำให้เขาไม่มีเวลาว่าง และช่วยบรรเทาความรู้สึกแปลกใหม่ของการมาอยู่หอพักหรือคิดถึงบ้านได้ ซึ่งหลังจากนี้เราก็จะค่อยๆ เพิ่มกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปอีก เช่น แบ่งเวรทำกับข้าวกินร่วมกัน”

“หรือด้านความแตกต่างทางพื้นเพหรือศาสนา เราจะให้เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เขาอยู่ร่วมกันได้บนฐานของความแตกต่างในทุกๆ ด้าน ทั้งพิธีกรรม ความเชื่อ การปฏิบัติ หรืออาหารการกิน ทุกคนต้องกินอาหารถิ่นของที่อื่นได้ ต้องเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของเพื่อนต่างศาสนา นี่คือพื้นฐานสำคัญที่พวกเขาต้องมี เพราะคนเป็นครูต้องอยู่ในทุกสภาพแวดล้อม ทุกท้องถิ่นได้” 

 

‘ครู’ ต้องพร้อมไปสู่โรงเรียนทุกแบบ

อาจารย์ผู้ดูแลนักศึกษาครูรักษ์ถิ่น มรภ. กำแพงเพชร กล่าวสรุปว่า การพัฒนาน้องๆ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ล้วนเป็นไปเพื่อสร้างทักษะที่รอบด้าน เพราะการเป็นครูนั้นไม่ใช่เพียงแค่นำวิชาความรู้ไปถ่ายทอดให้เด็กๆ เพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องได้รับการเตรียมตัวที่จะไปเป็นครูได้ในทุกพื้นที่ของประเทศ

“เรามองว่าเมื่อเขาเรียนจบแล้วต้องลงไปอยู่ในพื้นที่จริง จะต้องสามารถปรับตัวได้กับทุกพื้นที่ มีทักษะรอบด้าน ทำได้ทุกอย่างและเป็นแบบอย่างให้ลูกศิษย์ได้ ตอนนี้เขาเพิ่งเข้ามาเริ่มต้นบทเรียนแรกๆ ของการเป็นครู เขายังไม่รู้ว่าจะได้ไปสอนที่ไหน สิ่งที่เราจะทำได้ดีที่สุด คือทำให้เขาได้จำลองประสบการณ์หลายๆ อย่าง เพื่อนำไปใช้ให้ได้ไม่ว่าจะในสังคมเมือง หรือพื้นที่กันดารห่างไกล บางทีอาจไม่ต้องเก่งทั้งหมดแต่เขาต้องรู้ให้ได้ทุกอย่าง เพื่อไปสู่โรงเรียนได้ทุกแบบ” อาจารย์วชิระ กล่าว        

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค