มองเป้าหมายการศึกษา 10 ปีข้างหน้าเชื่อมโยงบริบทพื้นที่

มองเป้าหมายการศึกษา 10 ปีข้างหน้าเชื่อมโยงบริบทพื้นที่

ในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 2 ของโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการปาฐกถาเรื่องทำไมเราจึงต้องให้โอกาสเด็กยากจนมาเรียนครูกลับไปพัฒนาท้องถิ่นในการประชุมเชิงปฏิบัติการสถาบันผลิตและพัฒนาครูรัก(ษ์)ถิ่น ปีที่ 2 โดยระบุว่า​ เป้าหมายของกสศ. คือให้ระบบการผลิตครูเป็นเนื้อเดียวกับชุมชน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เลือกมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าการผลิตครูในยุคหลัง ต่างไปจากยุคก่อน ซึ่งในยุคก่อนเป็นการผลิตครูให้เป็นครู แต่ปัจจุบัน มีการพัฒนาครูให้เป็นนักเทคนิคทางการศึกษามากเกินไป

การสอนไม่ใช่สอนแต่วิชาการ แต่เป็นการบ่มเพาะทางปัญญา โลกข้างหน้าไม่ใช่โลกที่ให้ทางวิชาการอย่างเดียว ไปโรงเรียนจะต้องได้อย่างอื่นด้วย นอกจากความรู้ เช่น เด็กระดับประถมใช้เวลาอยู่กับพ่อแม่มากกว่าอยู่กับครู ทำอย่างไรให้การศึกษากลับไปหาครอบครัวได้มากกว่านี้ที่ปรึกษากสศ. กล่าว

 

มองเป้าหมายการศึกษา 10 ปีข้างหน้าเชื่อมโยงบริบทพื้นที่

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า การศึกษาต้องอย่ามองแยกส่วน ในปัจจุบันคนที่เป็นครูมีน้อย ดังนั้นอาจจะต้องแยกวิทยาลัยครู ออกจากคณะศึกษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ที่ผลิตนักเทคนิคทางการศึกษาหรือไม่  นอกจากนี้การผลิตครูไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เช่น ครูบางคนไปเป็นครูในพื้นที่ห่างไกล และไปด้วยความเต็มใจ แต่ทำงานที่นั่นได้เพียง 3-4 ปี ก็ย้าย สาเหตุมาจากคนในมหาวิทยาลัย ไม่พร้อมไปนิเทศในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นต้องช่วยกันในเรื่องนี้  

การศึกษาสำคัญเกินไปที่จะปล่อยไว้ในมือของนักการศึกษา การศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นไปไม่ได้ที่เราเรียนอะไรเพียง 3-4 ปีแล้วจะได้ใช้สิ่งนั้นไปอีก 70 ปี ดังนั้นการศึกษาในความหมายกว้าง คือการพัฒนาคน ต้องมีมิติอื่นในการให้ความรู้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งจะต้องมองว่าขณะนี้เป้าของโลกมีเป้าการศึกษาอะไรบ้าง ดังนั้นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย  ควรมองเป้าการศึกษาในการสร้างคนใน 10 ปีข้างหน้าว่าโลกจะไปถึงไหน เชื่อมกับบริบทของไทย บริบทของพื้นที่ ครูที่จะไปทำงาน ต้องเข้าใจบริบทของพื้นที่

 

สร้างสัมฤทธิผลทางการศึกษาไม่ใช่แค่การเข้าถึง

ที่ปรึกษากสศ. มองภาพรวมทางการศึกษาไทยว่า​ แม้ว่าไทยจะมีการศึกษาฟรีขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่ฟรีอย่างแท้จริง เช่น ค่าเดินทางของเด็ก เด็กบางคนมาโรงเรียนด้วยการเดิน การขี่จักรยาน แต่เด็กบางคนต้องนั่งรถเมล์ ขี่จักรยานยนต์ มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น การที่จะมาถึงโรงเรียนเพื่อเรียนฟรีจึงไม่ฟรี แต่มันคือต้นทุนทางการศึกษา ซึ่งการเข้าถึงการศึกษาที่ฟรีแต่ไม่ฟรีแท้จริงนั้นเป็นปัญหาของคนจำนวนหนึ่ง  ซึ่ง กสศ. กำลังลงมือทำเรื่องนี้ โดยเฉพาะเด็กประมาณ 1.6 ล้านคน ที่เป็นเด็กยากจนพิเศษ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการเข้าถึงการศึกษาที่ฟรีร้อยเปอร์เซ็นต์  แต่สัมฤทธิผลไม่เท่ากัน ซึ่งการเข้าถึงการศึกษาไม่ได้ประกันถึงความสำเร็จ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือการได้สัมฤทธิผลทางการศึกษาไม่ใช่การเข้าถึงการศึกษาเฉยๆ ซึ่งจะสัมฤทธิผลหรือไม่นั้นนอกจากปัญญาของตัวเด็กเองแล้ว ยังอยู่กับฐานะของครอบครัวด้วย

สำหรับการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ดร.กฤษณพงศ์ มองว่าสามารถบริหารจัดการแบบเป็นคลัสเตอร์ได้ เหมือนอย่างที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทำอยู่ ให้เด็กเรียนโรงเรียนหนึ่งในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนวันอังคาร พฤหัสบดีก็เรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง นักเรียนได้เรียนครบทุกวิชา ซึ่งเรื่องนี้แก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ใช้แค่การบริหารเท่านั้น  

ดร.กฤษณพงศ์ ระบุว่า อีกโจทย์หนึ่งก็คือ ทำไมไม่สอนการศึกษาขั้นพื้นฐาน แบบระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ซึ่งสามารถทำได้ให้กศน. สอนการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยการแก้ไขกฎหมายให้สอนคนที่อยู่ในวัยเรียนก็ได้ โดยให้ครูของทุกสังกัดเป็นครูของกระทรวงศึกษา หรือ มีการแชร์ครูได้ ไม่ใช่แบ่งครูเป็นแท่ง เป็นครูของโรงเรียน ครูของสพฐ. หรือครูอาชีวะ ซึ่งแนวคิดแบบนี้ไม่ได้ใช้เงินงบประมาณอีกเช่นกัน แต่ต้องใช้ความกล้าพอสมควร

 

เด็กกำลังเปราะบางต้องนำการศึกษากลับไปหาครอบครัว

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาไทยสภาพการและการดำเนินการว่า ระบบนิเวศวิทยาการเรียนรู้ การจัดสรรทรัพยากร ทั้งครูและเทคโนโลยี ไม่เอื้อต่อการพัฒนาโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กก็เล็กต่อไป โรงเรียนที่เข้มแข็งก็เข้มแข็งมากขึ้น ดังนั้นปัญหานี้จะต้องแก้ไขให้ได้ ซึ่งจะต้องแก้ด้วยการบริหารจัดการเพื่อให้โรงเรียนดีขึ้น นอกจากนี้ควรทบทวนรูปแบบให้คนในระบบการศึกษาสามารถออกข้างนอกได้และสามารถกลับมาได้  

อย่างการศึกษาอาชีวะ ก็มีค่านิยม คนไม่เรียนอาชีวะ คนไปเรียนสายสามัญ แนวคิดนี้ต้องได้รับการทบทวนว่าอาชีวะเป็นสิ่งที่ให้ไว้สำหรับการศึกษา ควรจัดการศึกษาเพื่อความพร้อมของชีวิต  ความพร้อมสำหรับงานอย่างเหมาะกัน ให้ลูกทำงานเป็น เราต้องอย่าตำหนิเด็กไทย ต้องตำหนิพ่อแม่ วันนี้เด็กมีความเปราะบางมาก ดังนั้นต้องเอาการศึกษากลับไปหาครอบครัวด้วย

 

ยุคนี้ รร.ต้องสอนศีลธรรมจริยธรรมในโลกดิจิทัล

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า สถานการณ์ในวันนี้ความเหลื่อมล้ำมีสูงขึ้น คนยากจนมีมากขึ้น การที่ไม่ได้เรียนหนังสือเป็นภัยกว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19  เพราะทำให้คนด้อยทางปัญญา ทั้งวิชาการและพฤติกรรม แต่การมาของ  COVID-19 ทำให้โลกออนไลน์มากขึ้น แต่คนไทยทั้งหมด ยังเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต หรือเข้าถึงแต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพ ความเร็วไม่เสถียร ไม่สามารถมีการเรียนการสอนทางอินเตอร์เน็ตได้

ในอนาคตเราจะอยู่ในบรรยากาศดิจิทัล มนุษย์จะห่างกันมากขึ้น สัมผัสของมนุษย์ความเห็นอกเห็นใจน้อยลง ความเห็นแก่ตัวมากขึ้น เราเห็นความน่าเกลียดความมืดมนของมนุษย์ ผ่านถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังในโซเชียลมีเดีย ด้านมืดของมนุษย์จะโผล่ขึ้น เพราะเขียนได้เต็มที่ ไม่รู้ว่าตัวจริงเป็นใคร ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดในยุคนี้นอกจากการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นแล้ว จะต้องฉลาดรู้ คือใช้ให้เป็น รู้เท่าทันมัน ซึ่งโรงเรียนจะต้องสอนศีลธรรมและจริยธรรมในโลกดิจิทัล ว่าคืออะไร โลกเปลี่ยนอยู่กับมัน อย่าไปกลัวมัน ปัญหาเดิมก็มี ปัญหาใหม่ก็ดี มันท้าทาย ทำอย่างไรให้การศึกษาออกไปหาเด็กให้ได้ที่ปรึกษากสศ. กล่าว

 

ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค