จาก ‘โรงเรียนวัดใต้’ ถึง เพื่อนครู กทม. ‘ทุนเสมอภาค’ คือโอกาสเติมเต็มทางการศึกษา
มาช่วยกันค้นหาเด็กเสี่ยงหลุด ก่อนความฝันของนักเรียนจะมลายหายไป

จาก ‘โรงเรียนวัดใต้’ ถึง เพื่อนครู กทม. ‘ทุนเสมอภาค’ คือโอกาสเติมเต็มทางการศึกษา

“เด็กวัดไม่มีหรอกเด็กที่รวย ถ้ารวยเขาคงไม่มาเรียนที่นี่ ดังนั้น เด็กทุกคนต้องการทุนหรือความช่วยเหลือ พอเราบอกว่ามีทุนที่จะช่วยให้เรียนต่อได้ถึง ม.3 เด็กหลายคนอยากมาลงชื่อทันที เราก็บอกตามตรงว่าอาจจะไม่ได้ทุกกรณีนะ ต้องประเมินก่อน แต่เด็กก็มีความตื่นตัวขึ้น เราสัมผัสได้ว่า เด็ก ๆ เขาก็มีความฝันในการศึกษานะ ถ้ามีโอกาสเขาไปต่อแน่นอน”

ครูเจี๊ยบ หรือ สุวรัตน์ สนองโลก กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเล็กน้อย ในดวงตายังคล้ายมีหยาดน้ำใส ๆ ซึมประกาย ในวันนี้ เธอ กับ ครูบี (กัญชริส นามพร) และครูโต้ย (วันวิสา ชูการ) มากันที่ ‘ชุมชนโรงหวาย’ เขตสวนหลวง ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้ามาในซอยฝั่งตรงข้ามโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็ก ๆ แต่มีบ้านตั้งติดกันอยู่หลายหลังคาเรือน จนสามารถเรียกได้อย่างเต็มปากว่ามีสภาพแออัด และไม่ถูกสุขลักษณะใด ๆ ยิ่งทางเดินเพื่อเข้าสู่บ้านของนักเรียน ที่พวกเธอกำลังมาทำการสำรวจ เก็บข้อมูล เพื่อค้นหาคัดกรองเด็กยากจนพิเศษ ให้ได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ ด้วยแล้ว ก็เป็นเพียงทางแคบ ๆ ที่เอาแท่งปูนก่อสร้างแบน ๆ พาดไปบนทางน้ำครำให้พอไม่เลอะเท้าเวลาเดินเท่านั้น

“ตอนนี้ยังชี้วัดอะไรมากไม่ได้ เพราะโรงเรียนเรา เป็นโรงเรียนนำร่อง โรงเรียนแรกที่เริ่มต้นการสำรวจคัดกรอง การสำรวจไม่ต่างจากเดิม ที่เราใช้เยี่ยมบ้านนักเรียนตามปกติ แต่จะมีรายละเอียดต้องใส่เพิ่มขึ้นในแบบฟอร์มที่ต้องกรอก ก็มากกว่าเดิมเยอะเหมือนกัน ต้องมีภาพถ่ายให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ ทั้งนอกบ้านในบ้าน โดยเน้นไปที่เคสของเด็กยากจนพิเศษ ในการสำรวจ เราก็จะมุ่งมาที่เป้าหมายหลักตรงนี้ วันนี้ลงพื้นที่ ที่นี่ก็เจอทั้งหมด 5 เคส”

ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง คือพื้นที่ ที่กรุงเทพมหานคร ประสานความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เลือกเป็นพื้นที่นำร่องในการค้นหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา โดยมีโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจ เนื่องจากคุณครูที่นี่ต่างเข้าใจดีถึงสภาพปัญหาของเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่มีบ้านกระจายออกไปตามชุมชนแออัดหลายแห่ง ที่อยู่รายรอบโรงเรียน ใกล้บ้าง ไกลบ้าง ซึ่งที่ผ่านมา แม้จะพยายามสังเกตมองหาเด็ก ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุนทรัพย์ หรือกรณีเร่งด่วนอย่างการถูกทารุณและทำร้ายร่างกายในครอบครัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าความช่วยเหลือที่มีนั้น ไม่เพียงพอ จึงต้องทำอย่างจำกัด ตามที่พอจะระดมทรัพยากรจากเอกชน ที่เข้ามาบริจาคได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น

“คงไม่มีใครอยากอยู่ในสภาพแบบนี้ แต่บางทีเราก็ไม่มีเครื่องมือช่วย การเข้ามาของ กสศ. คือการมาพร้อมเครื่องมือ มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีความช่วยเหลือมาให้ ผมเชื่อว่าจะช่วยเด็กได้อีกมาก เราไม่รู้หรอกว่าโตขึ้นเขาจะเป็นอย่างไร แต่หากมีโอกาส บางที สักคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือในวันนี้ อาจเป็นหมอ เป็นพยาบาลที่จะมาช่วยชีวิตเราในอนาคตก็ได้”

ครูสมพงษ์ ธนะสินธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดใต้ (ราษฎรนิรมิต) กล่าวขึ้นอย่างมีความหวัง ภายหลังได้รับทราบถึงความช่วยเหลือทางการศึกษา ในรูปแบบที่เป็นระบบมากขึ้น ทั้งในส่วนของ กทม. และ ส.ก. ที่เข้ามารับรู้ปัญหาและมองเห็นความสำคัญของฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้สำหรับการออกแบบนโยบาย หรือการตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือในอนาคต เพราะที่ผ่านมา แม้ดูเหมือนว่ากรุงเทพมหานคร ที่เป็นทั้งเมืองหลวงและศูนย์กลางความเจริญของประเทศ แต่ขณะเดียวกันกลับเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด โดยเฉพาะด้านการศึกษา ที่แทบไม่มีกลไกช่วยเหลือ แม้กระทั่งการรับการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ก็ไม่มีในส่วนนี้ จึงเป็นภาพที่นึกออกโดยไม่ยากว่า ในขณะที่เด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเรียนสูงขึ้นไปได้เรื่อย ๆ อย่างไร้กังวลด้วยกำลังฐานะที่มากกว่า เด็กอีกกลุ่ม อีกจำนวนมาก หรือก็คือนักเรียนยากจนนั้น กลับแทบไม่มีโอกาสได้ไปถึงการศึกษาในระดับสูงเกิน ม.3 ได้เลย และที่เลวร้ายกว่านั้น คือการหลุดออกจากระบบการศึกษากลางคัน ไม่จบกระทั่งการศึกษาขั้นพื้นฐาน

“การที่ได้เห็นหลายหน่วยงานมาช่วยกันทำระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนฝันที่เป็นจริง แม้ว่าการติดตามสังเกตนักเรียน หรือการเยี่ยมบ้านเป็นสิ่งที่ทางโรงเรียนทำอยู่แล้วเป็นปกติ แต่ในช่วงโควิด – 19 ทำให้เกิดระยะห่างขึ้น และที่ผ่านมา ข้อมูลก็ไม่ได้มีการนำไปเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลใด เป็นการหาวิธีช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป ไม่มีกระบวนการส่งต่อ หรือสามารถสนับสนุนทางการศึกษา ในระดับที่สูงขึ้นไปได้” ครูสมพงษ์ กล่าว 

หลังการระบาดของโควิด-19 กว่าสองปีที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อชุมชนเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายรวมถึงเด็ก ๆ อีกจำนวนมากที่กำลังเสี่ยงหลุดการศึกษามากขึ้นอีกเป็นเท่าทวีคูณ นั่นจึงทำให้เกิดเป็นความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน

“เราทราบดีว่าการลงพื้นที่สำรวจชุมชนในกรุงเทพ ฯ มีความลำบาก ไม่ใช่เรื่องง่าย หลายพื้นที่มีความแออัด หรือเป็นพื้นที่ปิด เข้าไปได้ยาก การสำรวจของคุณครูหรือโรงเรียนเพื่อติดตามปัญหา จึงต้องการการสนับสนุนจากเขตหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อทำให้การเยี่ยมบ้านสามารถทำได้ ที่ผ่านมา กทม. อาจไม่เคยทำฐานข้อมูลแบบนี้ บวกเข้ากับสถานการณ์โควิด – 19 ทำให้โรงเรียนปิดมานาน การมาลงพื้นที่ชุมชนโรงหวายวันนี้ จึงมาจากความตั้งใจว่า แม้จะเป็นชุมชนที่มีความซับซ้อนเข้าถึงยาก ซึ่งมีชุมชนลักษณะนี้เต็มไปหมด แต่ที่เขตสวนหลวงสามารถทำได้ โรงเรียนวัดใต้ เริ่มแล้ว จึงอยากให้อีก 436 โรงเรียนที่เหลือ เริ่มขยับลงพื้นที่ทำข้อมูลให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ครูคือพลังสำคัญในการค้นหาเพื่อให้ กสศ. สามารถจัดสรรงบประมาณได้ ซึ่งตอนนี้เรามีแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถเยี่ยมบ้านแบบออนไลน์ได้ เพราะเข้าใจดีว่าบางพื้นที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึง แต่เราก็อยากให้มีการคัดกรองให้ได้มากที่สุด” ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุ

“ถามว่าหนักใจหรือไม่ สำหรับเรา ไม่ เพราะเราเป็นครูแอดมินที่บันทึกข้อมูลอยู่แล้ว เมื่อครูไปสำรวจมาเราก็บันทึกลงไป แต่ในอนาคตคงจะต้องสอนครูประจำชั้นให้สามารถบันทึกข้อมูลเองได้ด้วย ก็คาดหวังในวันข้างหน้าจะมีการช่วยเหลือได้อย่างยั่งยืน” ครูโต้ย ยืนยันในความพร้อมและอธิบายต่อว่า ความแตกต่างที่เรามองเห็นระหว่างการลงเยี่ยมบ้านปกติ กับภารกิจการเยี่ยมบ้านในครั้งนี้คือ การบูรณาการความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่ลงมาพร้อมกัน แต่หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จะช่วยเหลือเด็ก ๆ ได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน ก็เป็นอีกขั้นที่ต้องดูกันต่อไป ซึ่งถ้าข้อมูลชุดนี้ที่เราทำนี้จะนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กที่ยั่งยืนกว่าที่ผ่านมาได้ ครูก็ยินดีที่จะทำ 

ขณะที่ ครูเจี๊ยบ ได้กล่าวเสริมว่า เรื่องการเยี่ยมบ้านของนักเรียน เรื่องที่ครูทำกันเป็นปกติอยู่แล้วทุกเทอม แต่จะทำเป็นรายกรณี ซึ่งก่อนโควิด-19 สถานการณ์ไม่ได้รุนแรงขนาดนี้

“ครูจะมีแบบประเมินให้ครูประจำชั้นแต่ละห้องประเมิน จะมีเรื่องการช่วยเหลือเร่งด่วน หรือช่วยเหลือตามปกติก็ว่ากันไป ในเคสเร่งด่วน ครูประจำชั้นจะลงไปเยี่ยมบ้าน เวลาสังเกต เราจะดูจากสภาพแวดล้อมพื้นฐานของเด็กเป็นเบื้องต้น เช่น พ่อแม่แยกทาง หรือมีปัญหากันในครอบครัวหรือไม่ บางทีก็มีร่องรอยการถูกทำร้าย เราเป็นครูชั้นอนุบาล เด็กเล็กเขาช่างพูดช่างคุย ก็จะเล่าให้ฟังทุกอย่างเราก็จะรู้จากตรงนี้ แล้วเฝ้าดูเพื่อนำไปสู่การหาช่องทางช่วยเหลือ เช่น องค์กรเอกชน ที่มีความร่วมมือกับโรงเรียนก็จะมีทุนลงมาให้เป็นครั้ง ๆ”

สถานการณ์หลังโควิด ครูโต้ย บอกว่า ปัญหารุนแรงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่เขาตกงาน อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเรื่องของภาวะสังคมที่เปลี่ยนไป จากการสังเกตมาระยะหนึ่งทำให้พอจะเห็นแนวโน้มว่า พ่อแม่ของเด็กมีอายุน้อยลง จะเรียกว่าเป็นคุณแม่วัยใสก็ได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ วุฒิภาวะเขาจะน้อยลงด้วย ทำให้เกิดการทางแยกกันของพ่อแม่ง่ายขึ้นด้วยการเปลี่ยนคู่ไปเรื่อย ๆ เด็กที่เป็นลูกอาจต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย จากฐานะที่ไม่ดีอยู่แล้วก็กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ความยากจนกับการขาดโอกาสทางการศึกษาก็เกิดขึ้นเป็นวงจร และแนวโน้มของเด็กที่หลุดจากการศึกษา ก็จะมีลูกเร็วขึ้น แล้วเข้าสู่วงจรนี้ต่อเนื่องกันไป

“เราเป็นครูมาหลายปี สิ่งที่เห็นส่วนใหญ่คือมองเห็นเขาเดินไปได้แค่ครึ่งทาง ไม่สามารถไปสุดทางได้ ถ้ามีก็น้อยคนมาก คงด้วยฐานะที่ทำให้เขาต้องรีบตัดสินใจออกมาทำงาน สมัยก่อนเราอาจเห็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ที่ตอนเป็นเด็กยากจน แต่ต่อยอดได้จนจบปริญญามากกว่านี้ เดี๋ยวนี้เท่าที่สังเกตคือ ส่วนใหญ่ไม่เกิน ม.3 ก็ต้องออกไปทำงาน ราวกับว่า โอกาสในการศึกษาของเขามันน้อยลง สวนทางกับเทคโนโลยีหรือสังคมที่ดูทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ อาจด้วยต้นทุนทางการศึกษาและค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เขาต้องรีบออกมาคิดเรื่องปากท้องก่อน ตรงนี้จะต่างจากในอดีต ก็มีบ้างที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ ถ้ารัฐสนับสนุนการศึกษามากกว่านี้ จะเป็นอีกแนวทางให้เขาได้”

“ดีใจนะ ที่มีทุนเรียนสำหรับเด็กเข้ามา อย่างวันนี้ สอบถามนักเรียนว่า ถ้ามีโอกาสเรียนต่อไปถึง ม.3 เขารู้สึกอย่างไร เด็กรีบบอกว่าให้ลงชื่อหนูให้ด้วย เพราะเขาก็อยากเรียนต่อ” ครูเจี๊ยบ กล่าวเสริม

“เด็ก ๆ ส่วนใหญ่เขายังมีความฝันในการศึกษา เด็กบางคนใฝ่เรียนมาก แต่ด้วยฐานะ ที่ทางบ้านไม่รู้จะส่งต่อได้แค่ไหน การตัดสินใจไม่เรียนต่อเดี๋ยวนี้ เกิดขึ้นได้ง่ายมาก ดังนั้น การเข้ามาของทุนเสมอภาค ที่จะสนับสนุนไปได้จนถึง ม.3 จึงเป็นเรื่องที่ดีมาก จนเรารู้สึกดีใจกับเด็กไปด้วย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากจะทำเต็มที่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรายินดีทำเป็นที่แรก เป็นพื้นที่นำร่อง”

“โรงเรียนแบบเดียวกับโรงเรียนวัดใต้ มีทั่วกรุงเทพ เราเชื่อว่าเพื่อนครูในโรงเรียนต่าง ๆ ต้องเข้าถึงเด็กอยู่แล้ว จึงอยากให้มุ่งเน้นไปที่เด็ก เพราะบางคนเขามีความคิดจริงจัง ที่อยากเรียนต่อจริง ๆ แต่เขาไม่พร้อม ไม่ว่าการเงินหรือปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากฝากเพื่อนครูทั่วกรุงเทพ ว่า มาช่วยกันดันเด็ก ๆ กลุ่มนี้ต่อไป เพราะเรารู้สึกว่า เราเห็นอนาคตของเขา อยากให้เขาไปในที่สูง ๆ ถ้าเด็ก ๆ ได้รับการชี้นำในทางที่ดี เขาก็จะไปได้ถูกทาง จึงอยากให้ช่วยกันค่ะ” ครูเจี๊ยบกล่าวทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปทำงานค้นหาเด็ก ๆ ต่อ ในค่ำวันนั้น

กระบวนการคัดกรอง ‘ทุนเสมอภาค’

การคัดกรองนักเรียนยากจนพิเศษของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ใช้วิธีการจากการวัดรายได้ทางอ้อม หรือ Proxy Means Test : PMT โดยดูจากรายได้สมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อปี และสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ 1. ครอบครัวมีภาวะพึ่งพิง 2. การอยู่อาศัย 3. ลักษณะที่อยู่อาศัย 4. ที่ดินทำการเกษตรได้ 5. แหล่งน้ำดื่ม 6. แหล่งไฟฟ้า 7. ยานพาหนะ และ 8. ของใช้ในครัวเรือน นักเรียนที่ผ่านการคัดกรองจะรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีการศึกษา ระดับอนุบาล รับทุนการศึกษา 4,000 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1 – ม.3) รับทุนการศึกษา 3,000 บาทต่อคนต่อปี

ปีงบประมาณ 2565 กสศ. จัดเตรียมงบประมาณสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนสังกัด กทม.จำนวน 5,000 ทุน อย่างไรก็ตาม หากข้อมูลที่มีการจัดเก็บในครั้งนี้ พบว่า มีเด็กที่ผ่านการคัดกรองและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกิน 5,000 คน จะมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจากงบประมาณปี 2566 ที่จะมอบให้ในภาคเรียนที่ 2 ต่อไป