แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ สร้างเมือง(อาหาร)ปลอดภัยรองรับอนาคต

แนวคิดพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ สร้างเมือง(อาหาร)ปลอดภัยรองรับอนาคต

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับคนทุกกลุ่ม ‘วิสาหกิจชุมชนแม่ทา SE’ ที่ประกอบไปด้วย 5 ตำบลในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ทาตอนกลางและตอนปลาย อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบความสำเร็จจากการใช้โมเดลการทำงานด้วยรูปแบบ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ ในการรับมือ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้คนในพื้นที่ยังสามารถมีงานมีรายได้ต่อไปเท่านั้น หากพื้นที่แห่งนี้ยังมีศักยภาพในการรองรับกลุ่มคนที่ที่เข้ามาเริ่มต้นชีวิต อาชีพ หรือธุรกิจใหม่ๆ ทั้งยังวางแผนพัฒนาสู่อนาคตในฐานะ ‘เมืองปลอดภัย’ ด้วยวิถีอินทรีย์ 100%

คนแม่ทาพบว่าหัวใจของการพัฒนาเมืองคือ ทำอย่างไรให้ทุกคนได้อยู่ในสภาพแวดล้อมดีๆ ได้ประกอบอาชีพที่ยั่งยืนและปลอดภัย ซึ่งทุกคนเชื่อร่วมกันว่าพื้นฐานของชีวิตคือเรื่องสุขภาพ และส่วนหนึ่งของการรักษาสุขภาพที่ดีคือ ‘การกิน’ ทำให้จุดเริ่มต้นของการพัฒนามุ่งไปที่การสร้างวิถีเกษตรอินทรีย์ที่สมบูรณ์ และต้องส่งผลสะท้อนไปถึงคนทุกกลุ่มในชุมชนอย่างถ้วนทั่ว

คุณสราวุธ วงค์กาวิน ผู้ประสานงานเกษตรอินทรีย์แม่ทาออร์แกนิค 1 เล่าว่าตนเป็นเกษตรกรที่เข้ามาสานต่อการทำเกษตรอินทรีย์จากคนรุ่นพ่อ ผ่านการทดลองเรียนรู้ ลองผิดลองถูก จนเข้าใจว่าการทำเกษตรที่ยั่งยืนจะต้องมีความปลอดภัยและช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว ที่สำคัญคือต้องมีแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบ และสร้างระบบการจัดการให้ได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สิ่งที่คนในรุ่นของคุณสราวุธค้นพบคือ การทำให้ผลผลิตมีมูลค่าเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือต้องลดการจัดการโดยพ่อค้าคนกลาง จึงได้ร่วมกันจัดตั้งทีมแม่ทาออร์แกนิค และสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทาขึ้น เพื่อเก็บข้อมูลต้นทุนการผลิต คำนวณผลผลิตว่ามีต้นทุนจริงเท่าไหร่ ต้องได้กำไรเท่าไหร่ ผู้ผลิตถึงจะอยู่ได้จริงๆ หมายถึงคนปลูกต้องคุ้มค่า และผู้บริโภคก็ต้องได้รับของดีในราคายุติธรรม

“เราต้องไม่ลืมว่าต้นทุนไม่ใช่แค่เก็บเกี่ยวแล้วนำไปขาย แต่มันมีค่าจัดการไปจนถึงปลายทางด้วยที่ต้องคิด ทีมของเราจึงทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตทั้งผักและผลไม้อินทรีย์ของชุมชนทั้งหมด แล้วนำไปจำหน่ายในตลาดที่ไม่ไกลมากก่อน

“เมื่อจัดการเรื่องราคาได้สมเหตุสมผล สินค้าของเราก็เข้าถึงคนได้หลายกลุ่มยิ่งขึ้น เราอยากเปลี่ยนมุมมองให้คนเข้าใจว่าผักอินทรีย์ไม่ได้แพงเสมอไป นี่คือจุดเริ่ม ก่อนจะมองไปยังตลาดที่ไกลขึ้น ใหญ่ขึ้น สำหรับคนแม่ทาเรามีกลุ่มที่ทำผักผลไม้อินทรีย์กันมาจนชำนาญแล้ว สิ่งที่ระบบจะช่วยเสริมเข้าไปคือการวางแผนจัดการก่อนลงมือปลูก วันนี้ปลูกอะไร สัปดาห์หน้าปลูกอะไร จำนวนกี่ต้นๆ เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เพียงพอสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

“นี่คือเศรษฐกิจใหม่ที่เราวางระบบจัดการตั้งแต่การผลิตไปจนถึงตลาดปลายทาง ทุกคนในชุมชนต่างมีส่วนร่วม มีหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่าย ไม่ใช่แยกกันทำแยกกันขายแข่งกันเอง แต่เราใช้พลังชุมชนที่มองร่วมกันไปยังตลาดที่ใหญ่กว่า ที่ที่ผลผลิตจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าและยั่งยืนกว่า”

ในทุกวิกฤตมีโอกาส ‘ตลาดออนไลน์’ ทำยอดขายโตขึ้น 300% ช่วง COVID-19

ความร่วมแรงร่วมใจและระบบจัดการที่ดี ทำให้พืชผักอินทรีย์ของชาวแม่ทาได้เข้าร่วมโครงการกับ ‘ท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต’ จนเป็นที่นิยมของคนในวงกว้างมากขึ้น และมียอดขายที่เติบโตเป็นลำดับ ทว่า การมาถึงของ COVID-19 ที่สั่นสะเทือนระบบเศรษฐกิจไปทั่วโลก ก็เกือบทำให้สิ่งที่ชาวเกษตรอินทรีย์แม่ทาพยายามกันมาเกือบต้องจบลง

อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวอีกครั้ง โดยหันไปจับตลาดออนไลน์ และพบว่า ในยุคที่ผู้คนมีอำนาจสั่งการที่ปลายนิ้ว ‘โซเชียลมีเดีย’ ได้กลายมาเป็นตัวแปรสำคัญของโลกในวันนี้ไปแล้วอย่างถาวร

“จากช่วงที่ได้เข้าไปขายในท็อปส์ ยอดขายเรากำลังขึ้นไม่หยุด แต่พอ COVID-19 มา ไม่มีคนออกจากบ้าน ไม่มีใครเข้าห้าง ยอดเราดิ่งไปมากกว่า 70-80% ขายไม่ออก ผักเน่า แต่ข้อดีของคนแม่ทาคือบทเรียนที่สั่งสมมาสอนให้เราปรับตัวตลอดเวลา เราจึงหันมาคิดถึงการปรับตัวอีกครั้งแล้วมุ่งไปยังตลาดออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นว่าแค่ไม่นานยอดขายออนไลน์กระโดดแซงหน้าท็อปส์ไป 300% อย่างน่าตกใจ คนสั่งกันที 5-10 กิโลฯ เราก็ขายได้เต็มที่ เปอร์เซ็นต์สูญเสียจากผักที่เหลือเน่าเสียแทบไม่มี

“ผมมองว่านี่คือวิถีการเปลี่ยนผ่านของโลก และคือสิ่งที่คนทำเกษตรกรรมต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยระบบการจัดการ การวางระบบ การปรับเปลี่ยนผสมผสานวิถีดั้งเดิมให้เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เหล่านี้ไม่ใช่เพียงจะทำให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสที่จะทำให้ผลผลิตเดินทางไปได้ทั่วประเทศ หรือเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต” ผู้ประสานงานเกษตรอินทรีย์แม่ทาออร์แกนิค 1 กล่าว

เมืองปลอดภัยที่ประกอบด้วยคนทุกรุ่น และพร้อมรองรับคนทุกที่

นายกองค์การบริหารส่วนตำบล แม่ทา 3 กนกศักดิ์ ดวงแก้วเรือน กล่าวว่า ความหมายของ ‘เศรษฐกิจใหม่’ ที่แม่ทา ไม่ได้มีแค่เกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว แต่มีอาชีพอื่นๆ ที่หลากหลาย เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหล่อเลี้ยงชุมชนด้วยหลักการเดียวกัน คือสร้างผลผลิตให้มูลค่าสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งในฐานะองค์กรปกครองท้องถิ่น เรามีหน้าที่วางเป้าหมายภาพใหญ่ให้ทุกคนมองไปในทางเดียวกัน

“อนาคตของเกษตรอินทรีย์คือระบบที่จะหนุนให้คนแม่ทาอยู่ได้ แล้วเชื่อมโยงไปถึงคนที่จะเข้ามาเรียนรู้ ท่องเที่ยว หรือค้าขาย นี่คือสิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต สำคัญคือเราต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จได้ในพื้นที่ ในเมื่อเรามีจุดเด่นที่อาหารสุขภาพ และมีต้นทุนสิ่งแวดล้อมที่ดี แม่ทาจึงมองเป้าหมายที่การสร้างเมืองสุขภาพครบวงจร ที่คนสามารถเข้ามาอยู่เพื่อดูแลสุขภาพ พักฟื้น พักผ่อน เรามีพื้นที่ปลอดภัย ทั้งอาหาร สิ่งแวดล้อม เป็นเมืองปลอดภัยด้วยวิถีอินทรีย์ 100%

“เป้าหมายการพัฒนาของเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกกลุ่มต้องได้รับประโยชน์ เข้าใจเป้าหมายของเมืองร่วมกัน ทั้งกลุ่มเกษตรกรวัย 60 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นแหล่งภูมิปัญญาดั้งเดิม ไปจนถึงคนวัยกลางคนที่มีหน้าที่เชื่อมโยงคนทุกรุ่น และคนรุ่นใหม่ที่ชำนาญเทคโนโลยีซึ่งต้องเข้ามาหนุน มาทดแทนกลุ่มที่โรยราไป ที่แม่ทาเรามีคนกลุ่มนี้กลับมาอยู่บ้านมากขึ้นทุกปี การจะให้เขาเริ่มต้นกับการพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นเป็นเรื่องลำบากอยู่ แต่ถ้าให้เขาเข้ามาร่วมมือกับคนรุ่นก่อนโดยใช้สิ่งที่เขามี ที่เขาถนัด คือเรื่องระบบหรือเทคโนโลยี แผนการสร้างงานสร้างอาชีพที่รวมคนทุกรุ่นไว้ด้วยกันก็เป็นไปได้มากขึ้น” นายก อบต. แม่ทา 3 กล่าวสรุป

ที่มาภาพ : เพจ กิจการเพื่อสังคม แม่ทา SE, เครือข่ายนิเวศน์ลุ่มน้ำแม่ทา, ผักออร์แกนิคแม่ทา

ร่วมสร้างโอกาสไปกับ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
www.eef.or.th/donate/
ธนาคารกรุงไทย สาขาซอยอารีย์
เลขที่ : 172-0-30021-6
บัญชี : กสศ.มาตรา 6(6) – เงินบริจาค