ปลดล็อกสกินทองให้โลกการเรียนรู้: คุยกับ ครูนัท-สิทธิชัย จูอี้ ครูที่พัฒนาเกมและใช้เกมสอนหนังสือ
โดย : ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
ภาพประกอบ : ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล

ปลดล็อกสกินทองให้โลกการเรียนรู้: คุยกับ ครูนัท-สิทธิชัย จูอี้ ครูที่พัฒนาเกมและใช้เกมสอนหนังสือ

หากต้องเลือกว่าระหว่าง ‘เรียนหนังสือ’ กับ ‘เล่นเกม’ กิจกรรมใดสนุกกว่ากัน เชื่อว่าหลายท่านคงเลือกกิจกรรมอย่างหลังได้ไม่ยาก

แต่จะเป็นอย่างไร หากเราไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากว่าการเรียนหนังสือกับการเล่นเกมเกิดขึ้นไปพร้อมกันได้ หากว่าความรู้กับความสนุกไม่จำเป็นต้องแยกทางเป็นเส้นขนาน

อาจฟังดูเหมือนเป็นไปได้ยาก แต่ครูนัท-สิทธิชัย จูอี้ คุณครูประจำชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากโรงเรียนสุรวิวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดโคราช คือผู้ที่ทำให้มันเกิดขึ้นแล้ว

ครูนัทเลือกใช้ ‘เกม’ ในการสอนวิชาสังคมศึกษา และภายหลังยังพัฒนาเกมของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้เกมตอบโจทย์กับการศึกษามากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าการศึกษาไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และการเรียนรู้คือพื้นที่ให้เล่นสนุก

101 สนทนากับครูนัท สำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ และกลเม็ดเคล็ดลับของการใช้เกมเป็นตัวละครสำคัญในห้องเรียน

Level: 1
Game Changer แปลงกายการเรียนรู้ให้เป็นเรื่องสนุก

ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่อยู่ในทุกๆ อิริยาบถของชีวิต ทุกการกระทำ ทุกกิจกรรม เราต้องการให้ทุกอย่างในชีวิตของนักเรียนเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ได้” นี่คือสโลแกนเรียบง่ายที่ ‘ครูนัท’ ใช้อธิบายความหมายของ ‘การเรียนรู้’

ความหมายอันเรียบง่ายดังกล่าวทำให้เขานำกิจกรรมที่วัยรุ่นฮิตกันอย่างการเล่น ‘เกม’ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในห้องเรียน

ครูนัทมักจะใช้เวลากับนักเรียนและสังเกตกิจกรรมที่พวกเขาชอบทำเสมอ เขาตอบรับที่จะเล่นเกมหรือดูการ์ตูนกับเหล่านักเรียนเมื่อถูกชักชวน นั่นทำให้เขาได้เห็นว่า เวลานักเรียนของเขาถูกใจอะไรขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือเกม พวกเขาจะจดจำรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรมชาติ โดยที่ไม่มีใครบังคับ เขาจึงเริ่มหยิบสิ่งที่นักเรียนชอบมาผนึกกำลังกับเนื้อหาในตำรา

“เวลาเด็กเล่นเกม เขาจะจำได้เลยว่าฮีโร่ตัวนี้ ตัวละครตัวนี้เป็นอย่างไร สกิลและด่านต่างๆ ต้องเล่นอย่างไร เขาจำได้หมด แต่ถ้าเราลองไปถามว่าลักษณะพื้นที่แบบนี้ ภูมิอากาศเป็นอย่างไร ป่าฝนเขตร้อนเป็นอย่างไร คิดว่ามีใครตอบได้ไหม (หัวเราะ)”

“เมื่อเห็นนักเรียนจำรายละเอียดของเกมได้เพราะเขาสนุก ผมเลยคิดว่าถ้าเอาเกมมาใช้ในห้องเรียน เขาก็จะสนุกและจดจำเนื้อหาที่เรียนได้เหมือนกัน ซึ่งพอใช้แล้วมันได้ผล นักเรียนส่วนใหญ่มีปฏิกิริยาตอบสนองที่ดีมาก” ครูนัทกล่าว

ครั้งแรกที่ใช้เกมสอนนักเรียน เขาเริ่มจากนำสไตล์การเล่นของเกมประเภท MOBA (multiplayer online battle arena) เกมแอคชันและวางแผนแบบเรียลไทม์ที่หลายคนเรียกกันว่าเกม ‘ตีป้อม’ มาประยุกต์เป็นกิจกรรมแข่งกันในห้องเรียน เขาแบ่งห้องเรียนออกเป็นสามเลนเหมือนแผนที่ในเกมประเภท MOBA แต่ละเลนจะมีป้อมที่นักเรียนต้องพิชิต โดยนักเรียนจะตีป้อมได้ก็ต่อเมื่อตอบคำถามเกี่ยวกับบทเรียนได้ในเวลาที่จำกัด พร้อมทั้งถกเถียงกันว่าคำตอบของใครเป็นอย่างไร เหตุผลและข้อมูลของทีมไหนหนักแน่นกว่า

แผนที่เกม MOBA
(ที่มาภาพ: Original PNG version by Raizin, SVG rework by Sameboat., via Wikimedia Commons)

จากการประยุกต์ใช้เกมครั้งนั้น นักเรียนในคลาสของครูนัทต่างรู้สึกสนุกสนานและได้มีส่วนร่วมในห้องเรียนมากขึ้น เขาจึงเริ่มสรรหาเกมและกติกาใหม่ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นเกมง่ายๆ อย่าง เป่ายิ้งฉุบหรือหมากฮอส ที่ผู้ชนะจะได้สิทธิตอบคำถามเกี่ยวกับบทเรียน เปลี่ยนบรรยากาศที่ไม่มีใครอยากยกมือตอบคุณครูให้กลายเป็นแย่งกันตอบ

กระทั่งเกมที่เล่นในคอมพิวเตอร์ก็ถูกหยิบมาใช้เช่นกัน ครูนัทเล่าว่าหลายๆ ครั้งเขาก็ขอให้นักเรียนแนะนำเกมที่ชอบมาให้ จากนั้นเขาก็จะไปลองเล่นเพื่อหาว่าเกมไหนที่สนุก โดนใจนักเรียน แถมยังนำมาใช้กับบทเรียนได้ด้วย ตัวอย่างเกมคอมพิวเตอร์ที่เขาใช้สอนมีทั้งเกมสร้างและบริหารสวนสนุก-สวนสัตว์ อย่างเกม Planet Coaster และ Planet Zoo, เกมวางแผนสร้างเมืองอย่าง SimCity, เกมบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดอย่าง Dead In Bermuda, และเกมจำลองการใช้ชีวิตที่หลายๆ เคยเล่นอย่างเกม The Sims — ทุกเกมที่เขาพานักเรียนเล่นจะถูกโยงเข้าสู่บทเรียนในตอนท้าย โดยเขาย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นเกม การ์ตูน กระทั่งสิ่งที่ดูไม่เกี่ยวข้องกับบทเรียนที่สุด เขาก็จะหาแง่มุมในการดึงนักเรียนกลับไปที่การเรียนรู้จนได้

“อย่างเกม Planet Coaster และ Planet Zoo เด็กก็เป็นคนเสนอ เขาคงจะดู Heartrocker (นักแคสต์เกม) เล่นมา (หัวเราะ) มันเป็นเกมวางแผนและบริหารสวนสนุก-สวนสัตว์ ผมก็ซื้อมาให้เขาเล่น โดยที่ต้องถอดบทเรียนในเกมออกมาเพื่อโยงเข้ากับเนื้อหา เช่น ก่อนหน้านี้คุณขายของในสวนสนุกอย่างไร ลงทุนกับเครื่องเล่นชิ้นไหน คุณจัดการลูกค้าอย่างไร จากนั้นก็จะเริ่มอธิบายบทเรียนเรื่องอุปสงค์-อุปทาน เด็กๆ ก็จะบอกว่าสุดยอดไปเลยที่นำบทเรียนมาอธิบายได้จริงๆ

“หรือเกมจำลองการใช้ชีวิตอย่าง The Sims ผมก็ให้เด็กจำลองเล่นเป็นครอบครัว เลี้ยงลูกขึ้นมาจนโต ส่งลูกไปเรียน แล้วสุดท้ายก็จะมาเล่าให้เขาฟังเรื่องกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่มีสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาเป็นส่วนสำคัญ อธิบายว่าการเป็นพ่อเป็นแม่อย่างในเกม การเลี้ยงดู การตัดสินใจ และการสั่งสอนต่างๆ ย่อมมีผลกับการเติบโตของลูก สถาบันครอบครัวมีอิทธิพลอย่างไรต่อคนหนึ่งคน”

นักเรียนคนหนึ่งถึงกับเคยบอกกับครูนัทว่า “แทบไม่รู้ว่าครูสอนบทไหนอยู่ แต่ได้ความรู้ทั้งหมดในบทนั้นโดยไม่ต้องย้ำว่าเราเรียนกันอยู่ที่บทไหน หน้าไหนของหนังสือ” ราวกับเป็นหลักฐานที่ย้ำว่าการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปจากการเรียนตามตำรา แต่ได้ผลลัพธ์เป็นความรู้ความเข้าใจที่ไม่แพ้กัน ครูนัทเล่าว่านักเรียนจะมีปฏิกิริยาตอบรับที่กระตือรือร้นมากกว่าเมื่อใช้เกมสอน ยิ่งไปกว่านั้น เกมยังช่วยให้นักเรียนหลายคนที่ไม่ชอบการเรียนหรือไม่ชอบการท่องจำ หันมาสนใจและสนุกไปกับการเรียนได้

“เดิมทีวิชาสังคมจะเป็นวิชาที่มีภาพจำว่าเน้นท่องจำ เนื้อหาเยอะ แต่นักเรียนที่เรียนกับผม ถามว่าเขาท่องจำเลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้น แต่ถ้าถามอะไรปุ๊บเขาจะตอบได้ คือเขาเข้าใจเนื้อหาโดยที่ไม่จำเป็นต้องท่อง เน้นความเข้าใจมากกว่า นักเรียนบางคนจากที่เรียนในห้องไม่เข้าใจ เวลาสอบอาจทำคะแนนได้ไม่ดีนัก ผมเริ่มเห็นว่าพวกเขามีแรงจูงใจมากขึ้น

“ผมว่าเดี๋ยวนี้ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือ บางทีหนังสือก็สอนผิด ไม่ได้ถูกไปเสียหมด ขณะที่โลกเปลี่ยนไป แต่เราก็ใช้หนังสือเล่มเดิมที่อาจยังไม่อัปเดต วันหนึ่งเด็กอาจจะไปเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมาแย้งเราก็ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อการเรียนรู้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นักเรียนมีอินเทอร์เน็ตอยู่ในมือ ผมมองว่าครูต้องเป็นคนสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนมากกว่า ใครจะอยากเสิร์ชหาว่าเขตอากาศแต่ละแบบเป็นอย่างไร ภัยธรรมชาติเกิดจากอะไรได้บ้าง กระทั่งวิชาเลข จะมีใครไหมที่อยู่ๆ ไปเสิร์ชโจทย์เลขทำเอง คงมีน้อยมาก ดังนั้น ครูนี่แหละต้องเป็นคนสร้างแรงจูงใจ ต้องทำให้เขารักที่จะเรียนรู้ แม้ว่าสุดท้ายเขาอาจจะเรียนจบชั้นปีไป เขาอาจจะลืมเนื้อหาบางอย่าง เขาจะจำเราได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่สิ่งที่จะติดตัวไปกับเขาคือความรักที่จะหาความรู้ต่อ ซึ่งเกมช่วยเรื่องนี้ได้”

นอกจากความสนุกและน่าตื่นเต้นของเกมที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนแล้ว เกมยังมีลักษณะเฉพาะที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้อีกด้วย ครูนัทเล่าว่าการเรียนรู้ที่ดีต้องมี ‘KPA’ หรือพฤติกรรมการเรียนรู้ที่ประกอบไปด้วยความรู้ (Knowledge), ทักษะและการปฏิบัติ (Practice), และทัศนคติ (Attitude) ซึ่งสำหรับครูนัทแล้ว องค์ประกอบทั้งสามนี้สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนได้จริง ผ่านเกม บทเรียน และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของคนเป็นครู

ครูนัทยกตัวอย่างผ่านเกม Tropico หรือเกมวางแผนปกครองบ้านเมืองที่ปกติจะมีผู้เล่นเพียงคนเดียว แต่ครูนัทได้เพิ่มกติกาพิเศษที่ช่วยให้นักเรียนทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม พร้อมๆ กับสอนทัศนคติบางอย่างให้พวกเขาไปด้วย เช่น ให้นักเรียนเลือกตั้งว่าใครจะได้เป็น ‘นายกฯ’ หรือตัวแทนนักเรียนที่จะได้เป็นผู้เล่น เป็นคนตัดสินใจว่าจะปกครองเมืองในเกมเกมนี้อย่างไร

“ในเมื่อผู้เล่นมีคนเดียว แต่ห้องเรียนนี้มีนักเรียนหลายคน นักเรียนก็จะต้องหาเสียงและเลือกกันว่าใครเหมาะจะเป็นคนเล่นที่สุด เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ให้คนที่เหลือเป็น ส.ส. ที่สามารถโต้แย้งหรือค้านนายกฯ ได้ ผมคิดว่านักเรียนจะได้เรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย เข้าใจเรื่องการทำงานกันเป็นทีม การรับฟังและเคารพความเห็นผู้อื่น เป็นทัศนคติที่เกมอาจไม่ได้กำหนดมาตรงๆ แต่เราเพิ่มมันเข้าไปได้ผ่านการสอน”

Level: 2
เก็บค่าประสบการณ์ ฝ่าอุปสรรคของความไม่เข้าใจ

ไม่มีเกมไหนๆ ที่เอาชนะได้โดยปราศจากอุปสรรค – หนทางการใช้เกมสอนหนังสือของครูนัทก็เช่นกัน

เขาเล่าว่าไม่ใช่เด็กนักเรียนทุกคนที่จะชอบหรือถนัดการเล่นเกม และเกมบางเกมก็อาจไม่ได้เหมาะกับบทเรียนหรือสร้างความสนุกให้นักเรียนได้เสมอไป เขาจึงต้องทำการบ้านในการสอนแต่ละครั้งและรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนอย่างตั้งใจ

“ผมจะทำโพลสำรวจตลอดว่านักเรียนพอใจในเกมอะไร มีบางเกมที่คะแนนความนิยมน้อยหน่อย ผมก็จะลองพิจารณาใหม่ว่าปีหน้าอาจไม่ใช้เกมนี้แล้ว แต่อันไหนที่นักเรียนชอบเยอะก็เก็บไปใช้ต่อ ส่วนใหญ่เกมที่นักเรียนไม่ค่อยชอบจะเป็นเกมที่เขาไม่ได้ออกความเห็นเองตั้งแต่แรก หรือเราเลือกมาโดยที่นักเรียนอาจไม่ได้โอเคกับมันนัก ก็มีบ้าง แต่เบื้องต้นผมจะเลือกเกมที่ช่วยเรื่องการเรียนรู้ได้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว”

“เด็กบางคนที่ไม่ถนัดการเล่นเกม เราก็จะสอนเขาเล่น หรือบางทีก็ชักชวนให้เขามีส่วนร่วมด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อาจไม่ได้เล่นเกมโดยตรง แต่เป็นคนช่วยหาความรู้มาซัปพอร์ตเพื่อนในการใช้ทฤษฎีต่างๆ ถามว่ามีเด็กที่ไม่โอเคไหม ก็มีบ้าง ผมก็จะพยายามดูว่าต้องปรับปรุงยังไง เพราะอยากให้ทุกคนเรียนรู้ไปด้วยกัน บางครั้งผมก็ต้องหากิจกรรมอื่นๆ มาแทน ไม่เล่นเกมใช่ไหม โอเค งั้นดูซีรีส์ ดูการ์ตูนกัน หรือไม่ชอบเกมนี้ก็ไม่เป็นไร คราวหน้าเดี๋ยวครูเอาเกมอื่นมาสอนนะ” ครูนัทเล่า

สำหรับครูนัท หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นครูคือ ‘ครูต้องอยู่กับนักเรียน’ กล่าวคือต้องใกล้ชิด สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียน อีกทั้งยังต้องพร้อมเติบโตไปด้วยกัน – ครูนัทย้ำว่าในทุกชั่วโมงการสอน ไม่ใช่แค่นักเรียนที่กำลังเรียนรู้ คนเป็นครูเองก็ได้บทเรียนกลับไปเสมอ

“การเป็นครูในยุคนี้ต้องอย่าถือว่าเราสำคัญ หรือถือว่าเราเหนือกว่า นักเรียนก็คือมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน ให้ถือว่าเราเป็นผู้ที่มาสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ แล้วก็พร้อมที่จะเติบโต ก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ไปด้วยกันกับนักเรียน

“ก่อนที่จะใช้เกมในการเรียนรู้ เราต้องมี mindset ว่านักเรียนไม่ได้ด้อยกว่าเราทุกๆ เรื่อง เขาแค่ยังขาดความรู้ในบางเรื่อง เขาจึงมาแสวงหามัน แต่บางเรื่องเราก็ต้องเรียนรู้จากเขาเหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องแลกเปลี่ยนกัน อย่างเรื่องเกมเรื่องการ์ตูนผมก็ตามนักเรียนไม่ทันหรอก ต้องให้นักเรียนช่วยแนะนำว่าเล่นยังไง แต่โชคดีที่ส่วนใหญ่เล่นเกมกับนักเรียนแล้วมักจะชนะ (หัวเราะ)”

อีกด่านความท้าทายที่ครูนัทต้องเจอในช่วงแรกเริ่มใช้เกมสอนหนังสือคือ ‘ความไม่เข้าใจ’ จากครูท่านอื่นๆ และผู้ปกครองของนักเรียน เขาถูกตั้งคำถามจากครูบางท่านว่าวิธีที่เขาใช้นั้นนับเป็นการเรียนการสอนได้จริงหรือ บางคนก็ตัดสินไปว่าเกมไม่มีทางสอนนักเรียนได้ผล และเขายังเคยถูกผู้ปกครองตั้งคำถามผ่านครูคนอื่นๆ อีกด้วย

ครูนัทเองรู้ดีว่าภาพจำต่อการเล่นเกมในสายตาของใครหลายคนเป็นอย่างไร เพราะหลายครั้งหลายคราที่เกมถูกนำเสนอผ่านข่าวและทีวีว่าเป็นศัตรูตัวร้าย ชักจูงเยาวชนไปในทางที่ผิด เขาจึงทำความเข้าใจได้ว่าคุณครูและผู้ปกครองหลายท่านย่อมเป็นห่วงลูกหลาน นักเรียนบางคนยังเล่าให้เขาฟังว่าถูกพ่อแม่ห้ามเล่นเกมด้วยซ้ำ

ทว่า ท่ามกลางความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น สิ่งที่ครูนัททำได้มีเพียงการพยายามอธิบายและยืนยันในวิธีการของตัวเอง เพื่อให้ผลลัพธ์พิสูจน์ต่อความกังขาในที่สุด

“ผมเคยมอบหมายให้นักเรียนกลับไปเล่นเกมเกมหนึ่งเป็นการบ้าน แล้วสัปดาห์ถัดไปค่อยให้มาสรุปว่าทฤษฎีในบทเรียนใช้กับเกมได้อย่างไรบ้าง ตอนแรกๆ ผู้ปกครองบางคนก็สงสัยว่าทำไมลูกฉันกลับไปแล้วไปนั่งเล่นเกม ทำไมลูกไม่อ่านหนังสือ ผมก็ต้องคุยกับผู้ปกครอง เช่น คุณพ่อคุณแม่ครับ วันนี้เราเรียนเรื่องภัยธรรมชาติกันนะครับ ผมจะให้เด็กใช้เกม Natural Disaster Survival เป็นเกมวิ่งหนีภัยธรรมชาติ เราจะเรียนรู้ลักษณะของภัยพิบัติผ่านเกม เล่นเสร็จแล้วครูจะสอนอย่างนี้นะครับ

“ส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็เข้าใจแต่จะขอให้ช่วยจำกัดเวลาให้ด้วย มีผู้ปกครองบางคนเสนอว่าเรากลับไปอ่านหนังสือแทนเล่นเกมได้ไหม ผมก็จะบอกกับเขาว่า การเรียนรู้ไม่ได้มีวิธีเดียวครับ ถ้านักเรียนพอใจเล่นเกมแล้วสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ในบทเรียนให้ผู้ปกครองได้ ก็เป็นการทบทวนบทเรียนอีกแบบ แต่ถ้านักเรียนและผู้ปกครองพอใจจะอ่านหนังสือมากกว่า ก็สามารถทำได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็ค่อยๆ เปิดรับมากขึ้น ถือเป็นอีกเรื่องที่เรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วงหลังๆ ผมทำเป็นงานวิจัยเลย คือเขียนสรุปและรายงานผลของการใช้เกมสอนหนังสือ มีการเผยแพร่งานวิจัยในการประชุมวิชาการระดับชาติ และเร็วๆ นี้จะมีในระดับนานาชาติด้วย”

เมื่อเวลาผ่านไป – ราวกับการเก็บเลเวลในเกม — ฟีดแบคด้านลบที่ครูนัทต้องเผชิญก็ค่อยๆ ซาลง อีกทั้งยังมีกระแสเสียงสนับสนุนที่ครูนัทใช้เกมในการสอนมากขึ้นด้วย คุณครูทั้งในและนอกโรงเรียนเริ่มมาพูดคุยแลกเปลี่ยนและขอคำปรึกษา หลายคนอยากเริ่มใช้เกมในการสอนดูบ้าง และไม่ได้มีแต่ครูรุ่นใหม่เท่านั้นที่สนใจ ครูนัทเล่าว่าครูที่มีอายุและสอนหนังสือมานานก็ติดต่อมาพูดคุยกับเขาด้วยเหมือนกัน

ยิ่งในยุคการระบาดของโควิด-19 ที่การดึงความสนใจของนักเรียนผ่านหน้าจอนั้นเป็นโจทย์หินสำหรับคุณครูหลายคน ครูนัทเล่าว่าการใช้เกมเข้ามาผสมกับการเรียนการสอน แม้เพียงเล็กน้อยแต่ก็สามารถเปลี่ยนบรรยากาศ และช่วยให้นักเรียนจดจ่อกับการเรียนมากขึ้นได้ ทั้งยังสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในโมงยามแห่งการเว้นระยะห่างนี้ด้วย

“ถ้าเป็นช่วงที่สอนแบบบรรยายอาจจะมีเด็กหายบ้างอะไรบ้าง ก็พอเข้าใจเนอะ การเรียนออนไลน์ทำให้ความสนใจของนักเรียนต่ำลง บางทีแม่ก็ใช้ไปกรอกน้ำ (หัวเราะ) แต่ผมสังเกตว่าถ้าตอนไหนใช้เกม เด็กจะยังอยู่กับผม บางทีผมก็ได้ยินผู้ปกครองมาช่วยตอบด้วยซ้ำ ผมคิดว่าครูหลายๆ คนก็เริ่มหันมาสนใจการใช้เกมเล็กๆ น้อยๆ ดูบ้าง”

เล่ามาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วจะใช้เกมสอนทุกครั้ง ทุกชั่วโมงเรียนไปเลยได้ไหม ครูนัทยิ้มพร้อมตอบว่า “พูดตรงๆ ว่าใช้เกมไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ แต่อย่างไรก็ดีกว่าสอนแบบบรรยายเพียงอย่างเดียว จริงไหม”

Level : 3
พัฒนาเกม ตีบวกอาวุธการเรียนรู้

การเดินทางและต่อสู้เพื่อใช้เกมสอนหนังสือของครูนัท มาถึงจุดที่เกมเมอร์บางคนอาจนิยามว่าเขากำลัง ‘ปลดล็อกสกินทอง’ หรือการที่ผู้เล่นคนหนึ่งได้ไอเทมเจ๋งๆ ทั้งยังมีค่าพลังและความสามารถอันน่าตื่นเต้น – ที่นิยามเช่นนั้น เพราะนอกจากการนำเกมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้แล้ว ปัจจุบันครูนัทยังกำลังพัฒนาเกมของตัวเองเพื่อใช้สอนหนังสืออีกด้วย!

เกมดังกล่าวมีชื่อว่า ‘SWS social study’ เป็นเกมภาพ 2 มิติสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่จะพานักเรียนตะลุยด่านต่างๆ ไปพร้อมกับบทเรียนและแบบฝึกหัดแสนสนุก นักเรียนจะมีตัวละครเป็นของตัวเอง และมีตัวละคร ‘ครูนัท’ ที่จะช่วยเหลือนักเรียนในการฝึกฝนและ ‘อัปสกิล’ เพื่อจับมือกันช่วยโลกใบนี้ไว้

ตัวเกมมีกิจกรรมมากมายให้นักเรียนได้ทำ โดยวิธีการเก็บเลเวลของนักเรียนคือการเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด (ในเกม) ที่จะมีตัวละครครูนัทยืนเฝ้าอยู่ เนื้อหาทุกอย่างในบทเรียนจะอยู่ในห้องสมุดนี้ พร้อมภาพประกอบเพื่อความเข้าใจง่าย

เมื่ออ่านบทเรียนเรียบร้อยแล้วตัวละครนักเรียนจะถูกส่งไปยังด่านจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น ในบทเรียนเรื่องภัยพิบัติและภูมิศาสตร์ นักเรียนจะถูกส่งไปยังหมู่บ้านที่ประสบภัยพิบัติ และมีการจำลองตะลุยเขตอากาศแบบต่างๆ เมื่อเข้าไปแล้วนักเรียนก็จะพบกับภารกิจ หรือ ‘เควส’ ที่ต้องทำเพื่อสะสมเงินรางวัลหรือไอเทมเจ๋งๆ อีก เช่น นักเรียนจะได้รับภารกิจไปจับสัตว์ป่าแต่ละชนิด เพื่อส่งคืนตามถิ่นอาศัยที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของมัน นักเรียนจะทำภารกิจนี้สำเร็จได้ ก็จะต้องเข้าใจภูมิประเทศแต่ละแบบ และรู้ว่าสัตว์ตัวไหนอยู่อาศัยในอากาศแบบใดเสียก่อน


ห้องสมุดในเกม SWS social study

เกม SWS social study

เมื่อเรียน (หรือเล่น) ไปถึงจุดหนึ่งแล้ว นักเรียนจะได้รับจดหมายจากเทพเจ้าเพื่อไปรับบททดสอบ ซึ่งคุณครูก็จะสามารถเก็บข้อมูลหรือผลการประเมินขนาดย่อมนี้ไปใช้เป็นคะแนนได้ด้วย โดยเมื่อได้รับจดหมายจากเทพเจ้า นักเรียนก็จะต้องต่อสู้กับศัตรูไปพร้อมๆ กับการตอบคำถามเกี่ยวกับบทเรียน ยิ่งนักเรียนตอบคำถามได้มากเท่าไหร่ พลังการต่อสู้ของนักเรียนก็จะถูก ‘บัฟ’ หรือได้รับการเสริมพลังให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จนสามารถต่อสู้กับศัตรูตามด่านต่างๆ ได้

การต่อสู้ในเกม SWS social study

คะแนนการทดสอบในเกม SWS social study

นอกจากคะแนนต่างๆ ในเกมจะสามารถนำมาสรุปเป็นคะแนนสำหรับการเรียนในชีวิตจริงแล้ว ยังสามารถนำคะแนนไปแลกเป็นกล่องสุ่มไอเทม ซึ่งนักเรียนอาจสุ่มได้สัตว์เลี้ยงในเกมชนิดต่างๆ มาครอบครอง เป็นกิมมิคน่ารักๆ ที่สามารถนำไปอวดกันภายในหมู่เพื่อนได้

ครูนัทเล่าให้เราฟังว่าเขาใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนาเกมแต่ละด่านกับทีม โดยได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากโรงเรียนและผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย เมื่อทำการทดสอบและวิจัยศักยภาพของเกมเรียบร้อยแล้ว ครูนัทและทีมยังวางแผนว่าจะนำตัวอย่างเกมไปให้โรงเรียนอื่นๆ ทดสอบ และสร้างกลุ่มแนวร่วมในการใช้เกมสอนหนังสือขึ้นมาอีกด้วย

ในระหว่างการพัฒนาเกมครูนัทก็ได้นำเกมไปให้นักเรียนของเขาทดลองเล่นจริงๆ ซึ่งเสียงตอบรับจากนักเรียนก็เป็นไปด้วยดี เขากล่าวว่านักเรียนส่วนใหญ่ต่าง ‘แฮปปี้’ และยังช่วยออกความเห็นในเรื่องต่างๆ และผลพลอยได้อีกอย่างที่เขาได้จากการพัฒนาเกมคือการส่งต่อแรงบันดาลใจให้นักเรียน เพราะปัจจุบันมีนักเรียนบางกลุ่มที่หันมาสนใจการพัฒนาเกมแบบที่ครูนัททำ

“เด็กบางกลุ่มเขาก็อยากทำเกมเองบ้าง บางคนเลยเริ่มไปฝึกเขียนเกม โดยที่ผมก็เป็นที่ปรึกษาให้เขา ตอนนี้มีรายวิชาภาษาอังกฤษที่เด็กเริ่มจะเอาเนื้อหาไปทำเกมเองแล้ว แต่กราฟิกก็อาจจะยังไม่ได้หรูหรานัก ถือเป็นโครงงานของเขาไป ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตผมก็อยากของบให้เขาได้พัฒนาไอเดียต่อ” ครูนัทเล่าด้วยความภูมิใจ

เมื่อมองไปยังอนาคตของเกมที่เขาพัฒนา ครูนัทมองว่าเกมจะเป็นการเปิดประตูไปพบกับอีกมิติของการศึกษา สามารถลดการใช้หนังสือและกระดาษ ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำแบบฝึกหัดหรือเก็บคะแนนระหว่างภาคการศึกษา ทั้งยังเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียน

ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังอนาคตการศึกษาไทย เขาฝันอยากเห็นคนในสิ่งแวดล้อมการศึกษาเปลี่ยนทัศนคติ เปิดใจให้กับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ และที่สำคัญคือต้องเพิ่มการรับฟังและความเคารพในตัวนักเรียนให้มากขึ้น

“เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้เนอะ จะรู้ว่าเด็กเขาต้องการอะไร และจะสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กได้อย่างไร ก็ต้องรับฟังเขาก่อน จริงๆ มันเป็นนโยบายมานานแล้วละ แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นกันต่อไป”

“ผมคาดหวังว่าการทำเกมของผมจะทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเริ่มเข้าใจว่า บางครั้งเด็กไม่ได้ไม่ชอบวิชาที่เรียน แต่เด็กไม่ชอบกระบวนการการเรียนรู้ หากลองเปลี่ยนวิธีการสอน จากที่ไม่ชอบอาจเปลี่ยนเป็นชอบมากๆ ได้เลย ขณะเดียวกันเด็กบางคนอาจเคยชอบบางวิชามาก แต่กลับเกลียดไปเลยก็ได้ หากเจอคนสอนที่ดุด่าเขา หรือสอนแบบไม่ทำความเข้าใจเขา

“อีกสิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ดูถูกในความคิดและสิ่งที่เขาพยายาม สมัยก่อนผมเคยสอนเด็กประถม นักเรียนคนหนึ่งบอกผมว่าโตขึ้นอยากเป็นหุ่นยนต์ เป็นความฝันที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะมองว่าไร้สาระ แต่ผมคิดว่าหากเราเปลี่ยนมาผลักดันเขา ถามเขาว่าหุ่นยนต์ดีอย่างไร ทำอย่างไรถึงจะเป็นหุ่นยนต์ได้ ชวนให้เขาหาคำตอบและเรียนรู้ต่อจากสิ่งที่เขาคิด น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เขาได้มากกว่าการบอกว่าเขาไร้สาระ ความชอบของเขาอาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกับบทเรียนเลยก็ได้ แต่หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการทำให้เด็กเห็นว่า สิ่งที่เขาชอบมันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราอยากจะสอนเขาอย่างไร”

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world