การเรียนซ้ำไม่ใช่คำตอบของการศึกษาที่สูญหายในยุค COVID-19
โดย : เรื่อง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ภาพประกอบ: ภาพิมล หล่อตระกูล

การเรียนซ้ำไม่ใช่คำตอบของการศึกษาที่สูญหายในยุค COVID-19

สถานการณ์โรคระบาดสร้างความสามารถในการปรับตัวให้กับนักเรียนอย่างชัดเจน ภาพของเด็กหลายคนหันมาเรียนผ่านช่องทางออนไลน์กลายเป็นภาพที่เห็นได้จนชินตา สำหรับเด็กเล็ก แม้จะมีบางโรงเรียนในหลายประเทศออกแบบหลักสูตรลูกผสม ยืดหยุ่นให้เด็กเข้ามาเรียนกับคุณครูในโรงเรียนเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาแบบตัวต่อตัวและพัฒนาการเด็กปฐมวัย แต่ก็ยังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบ โดยมีครูและครอบครัวพยายามสนับสนุน ติดตามผลลัพธ์ทางการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด

จริงอยู่ที่การศึกษาในช่วงที่ผ่านมาพยายามดำเนินไปด้วยความรัดกุมรอบคอบ แต่ต่อให้จัดการรัดกุมอย่างไร เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่โควิด-19 ปิดประตูโรงเรียนยาวนานหลายเดือนส่งผลกระทบต่อชีวิต พัฒนาการ ทักษะการเข้าสังคมของเด็กๆ พร้อมทั้งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มองไม่เห็น

ที่สำคัญที่สุด คือการปิดโรงเรียนเท่ากับปิดโอกาสทางการศึกษาของเด็กหลายคน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเปราะบางที่ขาดทุนทรัพย์เข้าถึงการศึกษารูปแบบออนไลน์ ทรัพยากรทางการศึกษาไม่เพียงพอ รวมถึงขาดแรงบันดาลใจที่จะเรียนต่อเอง

เดิมทีเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ประสบปัญหาเรื้อรังเรื่องโอกาสทางการศึกษาอยู่แล้ว เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 ช่องว่างทางการศึกษาจึงยิ่งถ่างออกไปอีก ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กลดน้อยถอยลงมากขึ้นไปอีก

ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในทางออกยอดนิยมที่หลายประเทศพยายามผลักดันนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการขาดเรียนและเติมเต็มความสามารถด้านการเรียนรู้ คือการเรียนชดเชยปีการศึกษาที่ขาดหายไปในช่วงวิกฤตโรคระบาด

ฟังเผินๆ อาจเป็นวิธีแก้ไขที่ตรงจุด แต่การศึกษาจาก OECD กลับระบุว่าการเรียนซ้ำปีการศึกษาเพื่อทดแทนคาบเรียนที่หายไป ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาหรือทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้น เพราะนักเรียนในครอบครัวฐานะดี มีทางเลือกและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในช่วงวิกฤตโควิด-19 ไปก่อนแล้ว

นอกจากนี้ ทางเลือกดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ราว 25,000-35,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อนักเรียนหนึ่งคนหากพิจารณารวมถึงภาษีที่หายไป เพราะเข้าตลาดแรงงานช้าลง ดังนั้นการเลือกลงทุนเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มนักเรียนที่ประสบปัญหาเข้าถึงการศึกษาในภาวะวิกฤต เพราะขาดต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเรียนซ้ำทุกคน และ ท่ามกลางนักเรียนจำนวนมาก เราควรจัดลำดับความสำคัญให้แก่กลุ่มเด็กเล็กและนักเรียนกลุ่มเปราะบางก่อน โดยพยายามออกแบบการศึกษาแบบตัวต่อตัวให้แก่พวกเขา เพราะการจัดบริบททางสังคม บรรยากาศในการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำคัญต่อเด็กเหล่านี้ยิ่งกว่าการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือดิจิทัลเสียอีก

อย่างไรก็ตาม การศึกษาจาก OECD พบว่าหลายประเทศพยายามปรับนโยบายเพื่อเข้าไปเยียวยานักเรียนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษแล้ว ข้อมูลจาก Special Survey รายงานว่า 86% ของประเทศทั่วโลกบังคับใช้นโยบายบรรเทาความเหลื่อมล้ำในระดับประถมศึกษา 75% ใช้ในระดับมัธยมต้น และอีก 73% ใช้ในระดับมัธยมปลาย ขณะเดียวกัน ประเทศอีกกว่า 60% สร้างมาตรการเจาะจงเด็กที่ขาดโอกาสทางศึกษา และมี 40% ที่มีมาตรการช่วยเหลือ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย ชาติพันธุ์ หรือชนพื้นเมืองโดยเฉพาะ

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่บังคับให้ปิดโรงเรียนและใช้การเรียนการสอนแบบลูกผสม การเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวในปีการศึกษาหนึ่งย่อมลดลงตามธรรรมชาติ หลายโรงเรียนจึงพยายามจัดสรรช่วงเวลาเรียนเสริมให้กับนักเรียนนอกเหนือไปชั่วโมงเรียนปกติ เช่น ประเทศเยอรมนี ญี่ปุ่น และเนเธอแลนด์เพิ่มตารางเรียนในช่วงวันหยุด แต่ในบางประเทศ เช่น สโลวีเนีย สวิตเซอร์แลนด์ ยังคงเพิ่มคาบเรียนในวันที่มีการเรียนการสอนปกติ

ความท้าทายของการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องอาศัยการตรวจสอบทบทวน เพราะเมื่อคาบเรียนลดลงในช่วงโควิด-19 โรงเรียนจึงควรโฟกัสไปที่เนื้อหาใหม่มากกว่าการทบทวนบทเรียน และค้นหากลยุทธ์ทางการสอนใหม่ๆ สำหรับการศึกษาทางไกล เพื่อให้นักเรียนมีแรงบันดาลใจในการเรียนและมีพัฒนาการด้านทักษะทางสังคมควบคู่กันไปด้วย

ในกรณีนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดโรงเรียน จึงไม่ใช่แค่นักเรียนที่เสี่ยงต่อการเรียนซ้ำปีการศึกษาและนักเรียนกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ยังมีโรงเรียน ครู นักการศึกษา และครอบครัวซึ่งต้องต่อสู้กับภาระการจัดการ เปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้าถึงการศึกษาที่ดีด้วยเช่นกัน หลายประเทศจึงพยายามเชื่อมร้อยรอยต่อระหว่างโรงเรียน ครอบครัว นักเรียน ไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง 

ตัวแปรสำคัญในสมการเชื่อมร้อยและประคับประคองระบบการศึกษาให้เคลื่อนต่อไปได้อย่างติดขัดน้อยที่สุด คือหน่วยงานในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นหน้าด่าน มีบทบาทด้านการปรับกฎเกณฑ์ความปลอดภัยและความมั่นคงทางสุขภาวะให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ มีอำนาจในการตัดสินใจว่าการเปิด-ปิด โรงเรียนสำคัญอย่างไร ควรปรับใช้มาตรการเว้นระยะห่างยาวนานแค่ไหน โดยต้องทำงานอย่างโปร่งใสและสื่อสารชัดเจนกับคนในพื้นที่

กล่าวได้ว่าภายใต้สถานการณ์โรคระบาดเช่นนี้ แม้เราจะเห็นความมืดมนทอดยาวทาบทับสภาพเศรษฐกิจทั้งระดับบุคคลและระดับชาติ ผลกระทบจากภาวะโรคระบาดส่งผลให้เกิดมาตรการรัดเข็มขัดทางการเงิน (financial austerity) เพิ่มขึ้นเพราะต้องจัดการต้นทุนด้านสาธารณสุขและต้นทุนทางเศรษฐกิจ แต่เราก็ไม่ควรเพิกเฉยต่อการลงทุนเพื่ออนาคตทางการศึกษาของนักเรียน เพราะในระยะยาว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพอาจกลายเป็นแรงงานที่มีศักยภาพการทำงานต่ำ มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้น้อยลง ซึ่งจะเป็นปัญหารุนแรงถาวรต่อสภาพเศรษฐกิจในอนาคต หากไม่ยับยั้งและช่วยเหลืออนาคตของชาติเสียตั้งแต่วันนี้

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world