ต้นแบบหลักสูตรแนวใหม่จาก OECD พัฒนานร.คิดนอกกรอบ ฝึกแก้ปัญหา

ต้นแบบหลักสูตรแนวใหม่จาก OECD พัฒนานร.คิดนอกกรอบ ฝึกแก้ปัญหา

โรงเรียนบ้านสามขา ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง นับเป็นอีกหนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิด วิเคราะห์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นนำไปสู่การการพัฒนาการเรียนการสอนด้วยการอบรมครูโดยผู้เชี่ยวชาญจาก OECD ร่วมกับการใช้เครื่องมือส่งเสริมและประเมินทักษะความคิดสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ โดยครูจะใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ High Functioning Classroom จากกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ในการพัฒนาทักษะผู้เรียนผ่านการฝึกปฎิบัติและสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง

น้องทิว-ธีรศักดิ์ มะโนคำ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านสามขา เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมการเรียนการสอน ที่ถูกออกแบบมาในรูปของกิจกรรมแผนภูมิความคิด (Mind Mapping) เริ่มจากการตั้งโจทย์อะไรขึ้นมาสักอย่างเช่นการทำขนมในแผนภูมินั้นก็จะแตกออกไปเป็นรายละเอียดแต่ละหัวข้อ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาใช้วิธีการทำ ประโยชน์คุณค่าทางโภชนาการที่จะได้รับ

น้องทิว-ธีรศักดิ์ มะโนคำ นักเรียนชั้น ม.1
โรงเรียนบ้านสามขา

“แต่ละหัวข้อที่แตกย่อยออกมาก็จะเขียนกันด้วยคนละสี มีรูปประกอบเพื่อให้เกิดการแยกแยะ จดจำ เข้าใจง่าย วิธีนี้จะช่วยให้เราฝึกคิดหาคำตอบ ว่าจะต้องทำอะไรอย่างเป็นขั้นตอน ไม่ใช่อ่านจากตำราเพียงอย่างเดียว​ครูก็จะมาคอยให้คำแนะนำสอบถามว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ดีไหม ทำอย่างนี้ดีกว่าไหม​โดยรวมก็จะสนุกกว่าการเรียนหนังสือแบบปกติ ที่สำคัญยังจำได้ง่ายกว่าและเอาไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า” น้องธีรศักดิ์กล่าวอย่างมั่นใจ

ไม่ต่างจาก น้องโอ๊ต-จิรายุ จันทร์นา นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนบ้านสามขา ได้เล่าถึงกิจกรรมการทำฝายกั้นน้ำเมื่อสองปีก่อนที่ครูพาไปลงมือปฏิบัตินอกสถานที่ ขั้นตอนแรกก็เริ่มจากการทำ Mind Mapping ที่ครูให้เราเริ่มต้นคิดว่าจะต้องทำยังไง เริ่มศึกษาว่าฝายมีกี่ชนิด แต่ละชนิดทำจากอะไร เราควรจะเลือกทำจากวัสดุอะไร ด้วยวิธีอะไร ทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไร โดยที่แต่ละคนก็จะคิดไม่เหมือนกันครูก็จะคอยมาแนะนำให้คำปรึกษาและพาไปลงมือปฏิบัติจริง

น้องโอ๊ต-จิรายุ จันทร์นา นักเรียนชั้น ม.1
โรงเรียนบ้านสามขา

ในฐานะครูผู้ดูแลอย่าง ครูตู่ -อุทิศ จ๊ะปิน อาจารย์ประจำชั้น ป.6 เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นไปอบรมการสอนรูปแบบใหม่ของ OECD เมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว โดยเขาจะสอนให้เราทำอย่างไรให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ สามารถสะท้อนออกมาผ่านโปรเจ็คท์ที่ช่วยพัฒนาเติมเต็มศักยภาพ ให้เด็กสามารถคิดนอกกรอบ ไม่ใช่คิดแบบเดิมๆ แต่ต้องรู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดอะไร ต่อไปจะเกิดอะไรบ้าง ต้องสอนให้เขารู้จักคิดเป็นขั้นตอน

“แนวการสอนรูปแบบจาก OECD ถือว่าเป็นวิธีการการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จ เพราะจากเดิมยกตัวอย่าง​Mind Mapping แรกๆ เราก็จะเห็นเด็กเขียนมาแต่ละหัวข้อคนละสั้นๆ ซ้ำๆกัน แต่พอเรียนไปนานๆ เราสอนให้เขารู้จักคิด ไม่ใช่สอนว่าต้องไปทำอย่างนี้ แต่สอนว่าทำอย่างนี้ได้ไหม ลองให้เขาคิดเพิ่มหลังๆ เด็กจะเขียนแยกออกมาได้ยาวขึ้นละเอียดขึ้นกว้างขึ้น ซึ่งความสำคัญอยู่ที่การสอนให้เขารู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่ใช่แค่ท่องจำในชั้นเรียนเท่านั้น” ครูอุทิศยกประโยชน์จากการอบรม

อุทิศ จ๊ะปิน อาจารย์ประจำชั้น ป.6

อย่างไรก็ตาม ครูตู่ อธิบายเพิ่มว่า ในสังคมปัจจุบันการสอนให้เด็กรู้จักหาทางออก รู้จักแก้ปัญหาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีคิด การสอนของเราก็จะสอดแทรกไปในทุกวิชาเรียนเพราะเป็นครูประจำชั้นสอนหลายวิชา มีการแทรก STEM ศึกษาเข้าไปด้วย เช่น สอนเรื่องทำขนมก็จะสอนเชื่อมไปถึงการสีข้าวว่าถ้าข้าวเปลือกจำนวนนี้มาสีแล้วจะได้ข้าวสารเท่าไหร่ ทุกอย่างต้องสอดแทรกการเรียนให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์ให้ได้