รองเท้าคู่ใหม่…น้ำใจจากโลกออนไลน์

รองเท้าคู่ใหม่…น้ำใจจากโลกออนไลน์

แม้วันนี้ จะไม่ได้สอนหนังสือที่โรงเรียนบ้านปลักคล้า อีกแล้วก็ตาม แต่ครูปาล์ม น.ส.มณฑิรา สังขวิเชียร แห่งโรงเรียนวัดโคกสมานคุณ จ.สงขลา ก็ยังมีความทรงจำดีๆ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่มีฐานะทางครอบครัวค่อนข้างลำบาก มาเล่าให้ฟัง

ย้อนเวลากลับไปไม่นาน สมัยที่ครูปาล์มยังสอนหนังสือที่โรงเรียนบ้านปลักคล้า ตั้งอยู่นอกเมือง จังหวัดสงขลา เด็กนักเรียนชายคนหนึ่ง ที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.2 ใส่รองเท้านักเรียนเก่าและขาดมาโรงเรียนทุกวัน ภาพที่เห็นทำให้สัญชาตญาณความรักลูกศิษย์ตื่นตัวทันที ครูปาล์มไม่รอช้าปรี่เดินเข้าไปถามไถนักเรียนคนนั้นว่า ทำไมไม่ซื้อรองเท้าใหม่ ?

แล้วครูปาล์ม ก็ได้รับคำตอบที่ได้ยินแล้วรู้สึกสะเทือนใจว่า ‘ผมไม่มีเงินครับ ที่บ้านไม่มีเงิน แม่ต้องหาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่เพียงพอซื้อใหม่ครับ’

จากนั้นครูปาล์มขอถ่ายภาพเด็กคนนั้นไว้ จนเด็กคนอื่น ๆ ถามว่า ‘แล้วครูจะเอารูปไปไหนครับ’

ครูปาล์มได้เริ่มโครงการ ‘สะพานบุญ’ โดยนำภาพเด็ก ๆ ที่ใส่รองเท้าขาดไปโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊คส่วนตัว ขอรับบริจาครองเท้านักเรียน

น่าเหลือเชื่อว่า ผ่านไปไม่นานโพสต์ดังกล่าวที่กระจายไปถึงกลุ่มเพื่อนในเครือข่ายออนไลน์ กลายเป็นแรงจูงใจให้หลายคนร่วมบริจาคเงิน ซื้อรองเท้าให้เด็กกลุ่มนี้ ไปหยุดที่ตัวเลขเกือบ 2,000 บาท

“ในใจคิดว่าถ้าซื้อเพียงคู่เดียวก็ดูน้อยไป น่าจะมีเด็กนักเรียนคนอื่นที่จะใช้ประโยชน์จากเงินก้อนนี้และต้องการรองเท้านักเรียนกับถุงเท้าเช่นกัน เลยไปสำรวจนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนเพียง 88 คน เพราะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ก็พบเด็กประมาณ 10 คน ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ” ครูปาล์ม เล่า

ดูเหมือนเริ่มเกิดปัญหา เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็ก 10 คนนั้น กระบวนการจัดลำดับความสำคัญจึงเกิดขึ้น ครูปาล์มใช้ทฤษฎีลำดับความสำคัญโดยช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่มีปัญหาเป็นพิเศษก่อน 6 คน เนื่องจากต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

เงินเกือบ 2,000 บาท ได้สร้างชีวิตใหม่ทำให้เด็กๆนักเรียน 6 คน ได้รองเท้านักเรียนใหม่ 6 คู่ พร้อมถุงเท้าอีกคนละ 2 คู่ ใช้สำหรับใส่ไปโรงเรียน หลังรับรองเท้าและถุงเท้าเสร็จ เด็กๆเดินออกจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน

เสียงกรี๊ด! ดังสนั่นมาจากนักเรียนกลุ่มนี้ ครูปาล์มรีบวิ่งไปถามนักเรียนเป็นอะไรกันลูก? ก่อนที่เด็กๆ จะตอบมาว่า

‘ไม่เคยได้ของแบบนี้มาเลย’ คำพูดสั้นๆ กลับกินใจอย่างมาก ภารกิจมอบอุปกรณ์การเรียนเล็กๆจบลงอย่างอบอุ่น ภาพถ่ายเด็กๆ ถูกส่งไปแทนคำขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่ช่วยบริจาคเงิน

รองเท้ากลายเป็นของขวัญชิ้นวิเศษ จึงมีเด็กบางคนไม่ยอมนำมาใส่ เขาให้เหตุผลว่า ‘กลัวเก่า กลัวขาด เพราะมันเป็นของขวัญสำหรับผม’ จนต้องเดือดร้อนครูปาล์มอีกครั้ง ขอร้องให้นักเรียนใส่รองเท้าคู่ใหม่มาโรงเรียน พร้อมยกคำอธิบายต้องการให้ใช้ประโยชน์จริงๆ จากนั้นมาเด็กทุกคนใส่รองเท้าคู่ใหม่มาโรงเรียนอย่างภาคภูมิใจ เรียกว่าทุกคนยิ้มหน้าบานเห่อกับของขวัญชิ้นใหม่

“อย่างน้อยเราเป็นสะพานบุญ อยากช่วยเหลือเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ถ้าเราไม่บอกความต้องการเขาก็จะไม่สามารถช่วยเด็กในโรงเรียนได้ว่าต้องการอะไร”

การหยิบยื่นเล็กๆครั้งนี้ยังเข้ามาช่วยสร้างความงอกงามบางอย่าง ผู้ปกครอง ชุมชน และครูในโรงเรียน เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นกว่าเดิม นักเรียนยากจนพิเศษสำหรับประเทศไทย ยังมีความต้องการอีกมาก

แม้สิ่งที่เด็กแต่ละคนได้รับ จะเป็นเพียงสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ แต่ แววตา รอยยิ้มอันเปี่ยมความสุข ของพวกเขา กลับกลายเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้