“ราชบุรี Zero Dropout” เดินหน้าพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ ตอบโจทย์ชีวิต ชู 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แก้เด็กหลุดออกจากระบบ

“ราชบุรี Zero Dropout” เดินหน้าพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ ตอบโจทย์ชีวิต ชู 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ แก้เด็กหลุดออกจากระบบ

ความคืบหน้า “ราชบุรี Zero Dropout” ผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน “สมัชชาการศึกษาราชบุรี แสนสิริ กสศ.” เปลี่ยนโรงเรียนให้ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิตเด็กทุกคน เดินหน้าต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 ระบบ และศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส ลดอัตราการหลุดออกจากระบบอย่างได้ผล

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย งามสุขสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี ในฐานะสมัชชาการศึกษาราชบุรี  กล่าวว่า สมัชชาการศึกษา จังหวัดราชบุรี เดินหน้าโครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน สร้างพื้นที่ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่จัดการศึกษาทุกประเภท และทุกภาคส่วนในจังหวัดราชบุรี เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างยั่งยืน   สำหรับวาระพื้นที่เรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิตของจังหวัดราชบุรี มุ่งสนับสนุนให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ทางเลือกที่ยืดหยุ่น สามารถตอบสนองความต้องการและปัญหาที่แตกต่างกันของผู้เรียนรายบุคคล  โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ด้อยโอกาส และกลุ่มที่มีปัญหาเฉพาะ เช่น เด็กเร่ร่อน เด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กพิการ เด็กที่มีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เด็กชาติพันธุ์ ให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค 

ว่าที่ร้อยตรี สมชาย งามสุขสวัสดิ์ ศึกษาธิการจังหวัดราชบุรี

“ไม่ว่าเด็กๆ จะมีข้อจำกัดใดก็ตาม จากนี้ไม่จำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษา  เพราะระบบการศึกษาปรับตัวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เปิดประตูรั้ว ทลายกำแพงโรงเรียน เกิดพื้นที่การเรียนรู้ใหม่ ให้สามารถทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องการหรือปัญหาของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะเป็น 1 โรงเรียน 3 ระบบ และศูนย์การเรียนรู้ ” 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ไม่สามารถจัดการในมิติเดียวได้ ต้องทำในหลายมิติ ทั้งระบบครอบครัว และระบบการศึกษา 50:50   ในพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ฉบับใหม่ เน้นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีสิทธิ เสรีภาพในการออกแบบการเรียนรู้ ตามความถนัดความสนใจ  ตามศักยภาพของตนเอง ไม่ใช่ระบบการเรียนรู้ที่ยึดติดอยู่ในระบบโรงเรียน ดังนั้น พื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต ราชบุรีโมเดล จึงตอบโจทย์ทั้งชีวิตเด็ก และตอบโจทย์ประเทศ 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ.

สำหรับ 1 โรงเรียน 3 ระบบ สพป.ราชบุรี เขต 1 จะร่วมพัฒนา” ใน 12 โรงเรียน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา  ซึ่งมีแผนสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อขยายไปทุกเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดราชบุรี   1 โรงเรียน 3 ระบบ เป็นการจัดการศึกษาทั้งในระบบ เช่นเดียวกับหลักสูตรทั่วไปตามโรงเรียน  และการศึกษานอกระบบ สอดคล้องกับสภาพปัญหาความต้องการของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม  และการศึกษาตามอัธยาศัย เรียนรู้ตามศักยภาพและความสนใจ  

นอกจากนี้ยังริเริ่ม ศูนย์การเรียนรู้ สร้างโอกาส  พื้นที่การเรียนรู้ที่สร้างความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ ออกแบบการเรียนรู้เป็นรายคน มีความยืดหยุ่นทั้งเวลา รูปแบบ และเงื่อนไขการเข้าเรียน ไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุของผู้เรียน  สามารถเรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้ มีความร่วมมือกับสถานประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่หรือเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อไปฝึกงาน เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และจากประสบการณ์จริง เพื่อให้ค้นพบศักยภาพของตนเอง  รวมถึงเรียนผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์มได้ทุกที่ทุกเวลา ครูไม่ใช่ผู้สอนนักบรรยายแต่กลายเป็นนักจัดการศึกษา นักจัดการเรียนรู้

นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

นายสมัชชา พรหมศิริ Chief of Staff บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน เป็นแผนระยะยาว 3 ปี (เริ่มตั้งแต่ปี 2565 – 2567) นำร่องแห่งแรกที่จังหวัดราชบุรี ให้เป็นโมเดลต้นแบบในการสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงการศึกษาระดับประเทศ ช่วยเด็กหลุดจากการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ในปี 2567 ภายใต้การดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และสมัชชาการศึกษาราชบุรี ร่วมด้วยแสนสิริที่สนับสนุนเงินทุนในโครงการจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อจุดประกายให้ทุกคนมีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในการช่วยลงมือและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเดียวกัน คือ ให้เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุม ปัจจุบัน เราได้เห็นความคืบหน้าและความสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ อย่างเช่นการสร้างโมเดลการศึกษา 1 โรงเรียน 3 ระบบ เพื่อเป็นตัวเลือกทางการศึกษาแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบ ตลอดจนการเปิดพื้นที่นวัตกรรมการเรียนรู้ตอบโจทย์ชีวิต และการมอบทุนสนับสนุนเยาวชนการศึกษาทางเลือกให้กับน้องเยาวชนจำนวน 235 คน จาก 5 อำเภอในพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการศึกษาให้เยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนราชบุรีโมเดล ให้เป็นจังหวัดต้นแบบของประเทศ”  

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า การทำงานในปีแรก หลังผลกระทบจากโควิด-19 เราเน้นการทำงานสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะช่วงชั้นรอยต่อ  ต่อเนื่องมาในปีที่สอง ความยืดหยุ่นของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนจึงเป็นเป็นโจทย์สำคัญ  เพราะถ้าเส้นทางชีวิตกับเส้นทางการศึกษาเริ่มห่างกัน เด็กต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือมีภาวะปัญหาสุขภาพ  ทำให้เสี่ยงหลุดจากระบบเพิ่มขึ้น   สำหรับการผลักดัน 1 โรงเรียน 3 ระบบ ถือเป็นเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม เพื่อให้การศึกษา กับชีวิต เป็นโจทย์เดียวกัน วันนี้ทุกฝ่ายมาช่วยกัน สนับสนุนให้เรื่องนี้ดำเนินการได้อย่างยืดหยุ่น