ยูซาฟไซ เชื่อ แก้ปัญหาโลกร้อนช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กหญิง
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ยูซาฟไซ เชื่อ แก้ปัญหาโลกร้อนช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของเด็กหญิง

มาลาลา ยูซาฟไซ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลกแสดงความเห็นระหว่างการเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องการแก้ปัญหาสภาวะภูมิอากาศ ว่า การให้ความรู้แก่เด็กผู้หญิง เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นกุญแจสำคัญคือการแก้ปัญหาดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยูซาฟไซก็เชื่อว่าการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิในการศึกษาของเด็กผู้หญิงอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนได้เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ

ความเห็นดังกล่าวของยูซาฟไซ ในวัย 24 ปีมีขึ้นขณะร่วมการชุมนุมกับ เกรต้า ธันเบิร์ก เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดนวัย 19 ปี และวาเนสซา นาคาเต้ นักกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศชาวอูกันดา บริเวณด้านนอกอาคารรัฐสภาในสวีเดน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของ Friday climate protest หรือการประท้วงประจำวันศุกร์ทุกสัปดาห์ที่ธันเบิร์กริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2018 และจุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไปทั่วโลก

ยูซาฟไซ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในปี 2012 หลังจากที่เจ้าตัวเป็นเด็กหญิงที่รอดชีวิตจากการถูกมือปืนของกลุ่มตาลีบันยิงที่ศีรษะ เนื่องจากยูซาฟไซเป็นแกนนำในการรณรงค์ต่อต้านความพยายามของกลุ่มตอลิบานในการปฏิเสธการศึกษาของเด็กผู้หญิงและสตรี

หลังจากรอดชีวิต ยูซาฟไซ ทุ่มเทเดินหน้าทำงานด้านการศึกษาของเด็กหญิงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดในโลก 

 ยูซาฟไซ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ อย่างเช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อโรงเรียนโดยตรง ทำให้เด็กผู้หญิงหลายล้านคนไม่สามารถเข้าถึงโรงเรียนได้ อีกทั้งเรื่องของการพลัดถิ่นหรืออพยพโยกย้ายส่วนหนึ่งก็เกิดจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ

“ด้วยเหตุนี้ เด็กผู้หญิงจึงได้รับผลกระทบมากที่สุด: พวกเขาเป็นคนแรกที่ออกจากโรงเรียนและคนสุดท้ายที่กลับมา” ยูซาฟไซกล่าว 

ในระหว่างการเข้าร่วมการชุมนุม ยูซาฟไซได้เล่าถึงเรื่องราวที่การศึกษาของตนเองถูกขัดจังหวะด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะโรงเรียนที่ตนและคนอื่นๆ อีกจำนวนมากในพื้นที่ถูกน้ำท่วมหนัก

ขณะเดียวกัน ทั้งยูซาฟไซ นาคาเต้ และธันเบิร์ก ต่างก็เน้นย้ำว่าผู้หญิงโดยเฉพาะผู้หญิงในประเทศกำลังพัฒนาได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้หากผู้หญิงเหล่านี้ได้รับการศึกษาอยางเหมาะสม

นาคาเต้ นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศวัย 25 ปีจากอูกันดา กล่าวว่า เมื่อเด็กหญิงและสตรีได้รับการศึกษา จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยสร้างความยืดหยุ่น และยังช่วยลดความไม่เท่าเทียมกันที่มีอยู่ซึ่งผู้หญิงและเด็กหญิงจำนวนมากเผชิญในส่วนต่างๆ ของโลก

ด้าน เกรต้า ธันเบิร์ก เสริมว่า ไม่ว่าผู้หญิงคนไหนก็มีพลังที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ถ้ามีเครื่องมือที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือนั้นก็คือการศึกษา