เผยเหตุผลเดนมาร์กบรรจุวิชา “empathy” ในหลักสูตร เคล็ดลับสำคัญช่วยปั้นเด็กคุณภาพและมีความสุข
โดย : Jamie Orsini
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

เผยเหตุผลเดนมาร์กบรรจุวิชา “empathy” ในหลักสูตร เคล็ดลับสำคัญช่วยปั้นเด็กคุณภาพและมีความสุข

ผู้สื่อข่าวรางวัล Emmy Award จัดทำรายงานพิเศษเปิดเผยที่มาที่ไปและเหตุผลที่เดนมาร์กตัดสินใจบรรจุวิชา empathy หรือความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ที่หมายรวมถึงความสามารถในการเข้าใจความยากลำบากของคนอื่นๆ ไว้ในหลักสูตรการศึกษาที่โรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศต้องเปิดสอน เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่ไม่เพียงแต่จะช่วยจรรโลงสังคมให้น่าอยู่เท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยในการบ่มเพาะหลอมรวมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีความสุขในการอยู่ในสังคม

เจมี่ ออร์ซินี (Jamie Orsini) ระบุว่า ในฐานะคุณแม่ลูกสอง เมื่อเอ่ยถึงประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในคำถามที่ผุดขึ้นในใจเธอเสมอคือความสงสัยว่าเพราะอะไรประเทศแห่งนี้จึงไม่เคยหลุดโผลำดับต้นๆ จากการจัดอันดับประเทศที่ประชากรมีความสุขมากที่สุดในโลกหลายปีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งในยามที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ระบาดในห้วงเวลานี้ ที่ความสุขของชาวเดนมาร์กก็ดูจะไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งย่อมต้องยกให้เป็นความดีความชอบของระบบการบริหารจัดการเพื่อดูแลพลเรือนของรัฐบาลเดนมาร์ก ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่ง และอาจจะเป็นเหตุผลหลักในมุมมองของออร์ซินี ซึ่งทำให้เดนมาร์กเป็นประเทศที่ประชากรมีความสุขที่สุดในโลก ก็คือแนวทางที่พ่อแม่ผู้ปกครองและรัฐบาลเดนมาร์กเลี้ยงดูสั่งสอนเด็ก

ทั้งนี้ จากการศึกษาค้นคว้าของออร์ซินี พบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 เดนมาร์กได้บรรจุวิชา “empathy” ลงในหลักสูตรการศึกษาที่เด็กนักเรียนเดนมาร์กทุกคนต้องได้เรียน และเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ด้วยการทำความเข้าใจลักษณะอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ การเรียนรู้ที่จะสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกนั้นๆ อย่างตรงไปตรงมาและถูกกาลเทศะ โดยที่ต้องไม่ทำร้ายใคร และเรียนรู้ที่จะแสดงออกเพื่อให้กำลังใจหรือสนับสนุนเพื่อนร่วมห้องเรียนอย่างเหมาะสม 

ไอเบน แซนดาห์ล (Iben Sandahl) และเจสสิก้า อเล็กซานเดอร์ (Jessica Alexander) นักประพันธ์เจ้าของผลงานหนังสือเรื่อง The Danish Way of Parenting หรือ วิถีการเลี้ยงดูบุตรหลานแบบชาวเดนมาร์ก ยืนยันว่า การที่ชาวเดนมาร์กเลี้ยงดูเด็กโดยให้น้ำหนักความสำคัญกับทักษะในการเห็นอกเห็นใจคนอื่น ทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีทั้งความสามารถ ความมั่นใจและมีความสุข และการสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจตั้งแต่วัยเยาว์คือจุดเริ่มต้นของวงจรแห่งชัยชนะ (winning cycle) อย่างแท้จริง 

ข้อพิสูจน์คือ อย่างน้อยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 เป็นต้นมา เดนมาร์กก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกต่อเนื่องกัน 

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของหลักสูตร “empathy” คือโครงการ Step by Step (ทีละก้าว) ที่ซึ่งนักเรียนจะได้รับการ์ดที่แสดงภาพเด็กๆ ที่กำลังเผชิญกับสภาวะอารมณ์ต่างๆ เช่น ความเศร้า ความโกรธ และความสุข โดยครูผู้สอนจะขอให้นักเรียนไม่เพียงระบุชื่อนิยามของอารมณ์เท่านั้น แต่ยังให้เด็กอธิบายว่าอารมณ์ดังกล่าวมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร กระบวนการนี้จะทำให้เด็กได้เรียนรู้วิธีตีความอารมณ์ของผู้อื่นและวิธีที่ตนเองจะรับมือกับความรู้สึกของตนเอง ซึ่งออร์ซินีระบุว่า การพูดให้ชัดเจนช่วยให้นักเรียนไม่เกิดความคิดที่จะตัดสินอารมณ์ของตนหรือของใคร เพียงแต่รับรู้ว่านี่คืออารมณ์ที่เกิดขึ้น และเคารพรับรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ก่อนปล่อยวางหรือปล่อยผ่านไป 

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เด็กจะได้เริ่มเรียนรู้และเข้าใจว่า นี่คือความสุข นั่นคือความเศร้า และเป็นธรรมดาที่คนจะสุขและเศร้า และความสุขและความเศร้านั้นจะผ่านไป 

นอกจากนี้ นักเรียนในเดนมาร์กยังได้เข้าร่วมโปรแกรมชุดเครื่องมือ CAT ที่เน้นแนวทางการบ่งชี้ของสภาวะอารมณ์ต่างๆ และการแสดงออกของอารมณ์ โดยแต่เดิมชุดเครื่องมือดังกล่าวได้รับการออกแบบให้เป็นเครื่องมือสำหรับเด็กที่มีภาวะออทิสซึม กระนั้น ตั้งแต่ที่มีการนำมาใช้ บรรดานักการศึกษาและผู้ปกครองทั่วโลกต่างก็หยิบขึ้นมาประยุกต์ใช้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะใช้ภาพเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้วิธีตั้งชื่อความคิดและความรู้สึกของตน

อเล็กซานเดอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักประพันธ์หนังสือ The Danish Way of Parenting ได้เขียนบทความลงในนิตยสาร The Atlantic และอธิบายเพิ่มเติมว่า ครูเดนมาร์กได้ใช้การเรียนการสอน empathy ในการหลอมรวมเด็กๆ ที่มีข้อดีและข้อด้อยต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเห็นว่าทุกคนมีคุณสมบัติที่ดีและสนับสนุนซึ่งกันและกันในความพยายามไปสู่ระดับต่อไป 

ยกตัวอย่างเช่น เด็กเนิร์ดที่คลั่งไคล้ในวิชาคณิตศาสตร์อาจเล่นฟุตบอลได้แย่มาก ขณะที่เด็กที่ไม่ถนัดคณิตศาสตร์อาจมีทักษะความยืดหยุ่นของร่างกายที่ยอดเยี่ยม การสอนในเด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงเป็นการทำให้เด็กรู้จักจุดอ่อน จุดแข็งของกันและกัน ยอมรับกันและกัน ซึ่งท้ายที่สุดการเข้าใจและยอมรับจะส่งเสริมให้เด็กทำงานร่วมกัน รู้จักการทำงานเป็นทีม และให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งโครงการที่โรงเรียนเดนมาร์กนำมาใช้ในการเรียนการสอนวิชา Empathy ได้มาจากมูลนิธิเดอะแมรี่ฟาวเดชั่น (The Mary Foundation) ของเจ้าหญิงแมรี มกุฎราชกุมารีเดนมาร์ก ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2007 โดยเป็นโครงการต่อต้านการรังแกด้วยการสอนให้เด็กวัยประถมเห็นอกเห็นใจและเอาใจใส่ซึ่งกันและกันมากขึ้น ภายใต้ปรัชญาแนวคิดที่ว่า คนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ไม่มีใครสมควรถูกโดดเดี่ยว 

แน่นอนว่าหลักสูตรวิชา empathy นี้ไม่ใช่แค่บทเรียนคาบเดียว หรือเป็นประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาสนทนาเพียงครั้งคราว แต่วิชาดังกล่าวของเดนมาร์กเป็นการเรียนการสอนอย่างจริงจังที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเห็นอกเห็นใจ ความเมตตา และความเคารพนับตั้งแต่ก้าวแรกของการเข้าสู่ระบบโรงเรียน ที่ครูชาวเดนมาร์กจะให้ความสำคัญระหว่างการเรียนรู้ทักษะในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเท่าๆ กับทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการ

และที่สำคัญที่สุด การเรียนการสอนที่มีวิชา empathy ในหลักสูตรของเดนมาร์กไม่ได้มุ่งเน้นการให้คะแนนวัดระดับความรู้ของเด็กเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนแนวทางการเลี้ยงดูเด็กให้มีจิตใจที่ดี ใจดี และเข้าอกเข้าใจผู้อื่นควบคู่ไปด้วย 

ที่มา : The beautiful reason why Danish schools teach empathy to kids