ครูและอาจารย์ทั่วสหรัฐฯ ตบเท้าเข้าฝึกอบรมสุขภาพจิต
โดย : JOCELYN GECKER - AP NEWS
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ครูและอาจารย์ทั่วสหรัฐฯ ตบเท้าเข้าฝึกอบรมสุขภาพจิต

บรรดาครูและอาจารย์ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วสหรัฐฯ พร้อมใจเข้าร่วการฝึกอบรมด้านจิตวิทยา โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจิตใจนักเรียนที่ได้รับผลกระทบหรือตกเป็นเหยื่อของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ท่ามกลางคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาเด็กที่ออกมากล่าวว่า เด็กนักเรียนชาวอเมริกันตอนนี้กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งมาในรูปแบบของภาวะซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลที่มากผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมต่างๆ เช่น พฤติกรรมการกิน ปฎิสัมพันธ์ที่ก้าวราวใช้กำลัง และความคิดที่อยากจะทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น

สำนักข่าวเอพีรายงานว่าความกังวลของนักจิตวิทยาเด็กเกี่ยวกับผลกระทบทางลบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อสุขภาพจิตเด็กเริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัด เมื่อมีรายงานพบนักเรียนที่มีสัญญาณปัญหาน่ากังวลเกี่ยวกับสภาพภายในจิตใจมากขึ้นเรื่อย

รายงานระบุว่า หลังจากที่โรงเรียนกลับมาสอนที่ห้องเรียนตามปกติ คุณครูส่วนใหญ่สังเกตเห็นว่านักเรียนของตนเองส่วนหนึ่งมีพฤติกรรมที่แตกต่างออกไปจากเดิม โดยจากเด็กที่เคยร่าเริง และมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง กลายเป็นเด็กที่เงียบขรึม และมีพฤติกรรมปลีกตัวออกจากสังคม 

ยกตัวอย่างเช่นนักเรียนหญิงวัย 12 ปีของ Benito Luna-Herrera  ครูสอนวิชาสังคมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในแคลิฟอร์เนียใต้ สหรัฐฯ ที่เปิดใจกับ Benito ว่า รู้สึกเครียดกับสถานการณ์ของที่บ้านจนไม่อยากอยู่ต่อ ขณะที่นักเรียนอีกคนหนึ่งในห้องกล่าวว่า มีแผนที่จะฆ่าตัวตาย 

ทั้งนี้ เรื่องราวของเด็กนักเรียนอเมริกันที่เผชิญกับความเศร้า ทุกข์ตรมและตึงเครียดเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนน่ากังวล กระนั้น ข่าวดีก็คือ อย่างน้อยที่สุด หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกันจัดคอร์สอบรมพิเศษเพื่อฝึกทักษะทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเด็กให้กับครูสหรัฐฯทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ครูมีเทคนิกและวิธีการที่ถูกต้องในการตอบโต้กับสัญญาณปัญหาฉุกเฉินด้านจิตใจที่ต้องได้รับความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด

นับตั้้งแต่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนถึงวิกฤตสุขภาพจิตที่เด็กอเมริกันต้องเผชิญ โดยจากการสัมภาษณ์ครู ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่การศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตนี้กำลังเกิดขึ้นที่โรงเรียนในรูปแบบของภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล การตื่นตระหนก ความผิดปกติของการกิน การต่อสู้ และความคิดฆ่าตัวตายในหมู่เด็กนักเรียนซึ่งเพิ่มขึ้นจนแตะระดับที่น่าตกใจ 

ยิ่งไปกว่านั้น ในพื้นที่ที่ผู้คนยากจน และครอบครัวมีรายได้น้อย ซึ่งมีประสบการณ์ในวัยเด็กที่ไม่พึงประสงค์ในระดับที่มากอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนเกิดไวรัสโควิดระบาด ผลการศึกษาพบว่า วิกฤตดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งสถานการณ์ยังมีแนวโน้มบานปลายเมื่อมีปัจจัยด้านการขาดแคลนเจ้าหน้าที่โรงเรียนและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตร่วมด้วย

Benito ครูผู้สอนในพื้นที่ที่มีความยากจนสูงในทะเลทรายโมฮาวี เป็นหนึ่งในครูในแคลิฟอร์เนียจำนวนน้อยแต่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ที่เรียนหลักสูตรที่เรียกว่า Youth Mental Health First Aid โดยจะสอนผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือพ่อแม่ผู้ปกครองรู้ถึงวิธีสังเกตสัญญาณเตือนความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดในเด็ก และวิธีป้องกันโศกนาฏกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา 

โครงการดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการในรัฐแคลิฟอร์เนีย ตามที่โรงเรียนในแต่ละเขตการศึกษาร้องขอ ซึ่งโครงการฝีกอบรมครั้งนี้ได้รับการดำเนินการจัดการโดย National Council for Mental Wellbeing และมีให้บริการในทุกรัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกา 

Anthony Portantino วุฒิสมาชิกรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลักการผลักดันร่างกฎหมายให้โรงเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายทุกแห่งในสหรัฐฯ ต้องจัดคอร์สฝึกอบรมครูและเจ้าหน้าที่โรงเรียนอย่างน้อย 75% เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรม โดย 

Anthony กล่าวว่า การฝึกอบรมครูและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งจำเป็นเพราะคนกลุ่มนี้คือคนที่อยู่ในแนวหน้ากับการเผชิญหน้ากับปัญหา การมีความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้โรงเรียนสามารถสังเกตเห็นสัญญาณความทรมานและให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ก่อนหน้าวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลในวัยเด็กเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี ดังนั้นการระบาดของไวรัสโควิด จึงยิ่งทำให้ความเครียดและความเศร้าโศกขยายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตอยู่แล้วซึ่งถูกตัดขาดจากที่ปรึกษาและแหล่งช่วยอื่นๆ ของโรงเรียนระหว่างการเรียนทางไกล

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นายแพทย์ วิเวก เมอร์ธี (Vivek Murthy) อดีตแพทย์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาวิกฤตสุขภาพจิตของเยาวชนในสหรัฐอเมริกา พร้อมยกผลการศึกษาที่พบว่า ในช่วงต้นปี 2021 การพยายามฆ่าตัวตายในหมู่วัยรุ่นหญิงเพิ่มขึ้น 51% และวัยรุ่นชายเพิ่ม 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 

ด้าน แชรอน ฮูเวอร์ (Sharon Hoover) ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการร่วมของศูนย์สุขภาพจิตในโรงเรียน ที่มหาวิทยาลัยแห่งแมริแลนด์ (University of Maryland) กล่าวว่า สำหรับเด็กและเยาวชน การเรียนทางไกลไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ปัญหาเชิงลบในด้านวิชาการเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงปัญหาด้านจิตใจ เพราะสำหรับเด็กบางราย การเรียนทางไกล หมายรวมถึงการที่เด็กตกเป็นเหยื่อของการถูกทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิดสิทธิ หรือถูกปล่อยปละละเลย 

ฮูเวอร์ กล่าวว่า ในช่วงการระบาดใหญ่ มีการล่วงละเมิดและการละเลยเด็กเพิ่มขึ้น ก่อนเน้นย้ำว่า สำหรับเด็กในบ้านที่มีปัญหา เช่น พ่อแม่ที่ติดเหล้าหรือทุบตีลูก การเรียนทางไกลหมายความว่าเด็กเหล่านี้ไม่มีทางให้หลบหนีได้เลย

ขณะเดียวกัน ฮูเวอร์ยังพบอีกว่า บรรดาเด็กที่ขาดเทคโนโลยีหรือมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ไม่แน่นอนจะรู้สึกแปลกแยก และโดดเดี่ยวจากเพื่อนมากกว่าคนอื่น ทำให้เด็กกลุ่มนี้ ล้าหลังทั้งในด้านการศึกษาและสังคม และการกลับไปเรียนที่โรงเรียนก็ทำให้เด็กบางคนมีความกังวลมากขึ้น

“เราไม่สามารถคิดได้แค่ว่า การที่เด็กสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้แล้ว จะเป็นเรื่องที่โอเค เพราะปัญหาที่แท้จริงยังไม่ได้รับการแก้ไข เด็กบางคนอาจใช้เวลาฟื้นกลับมาจากความโดดเดี่ยวที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น แต่สำหรับบางคน ผลกระทบอาจกินระยะเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้” ฮูเวอร์กล่าว

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญจะเห็นชอบกับการที่เหล่าครูอาจารย์อย่าง Benito จะได้รับการเข้ารับการฝึกอบรมในเรื่องสุขภาพจิต จากสภาสุขภาพจิตแห่งชาติสหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้สัญญาณเตือนความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตและการใช้สารเสพติดในเด็ก ตลอดจนวิธีป้องกันโศกนาฏกรรม

ครูส่วนหนึ่งที่เข้ารับการอบรมระบุว่า การฝึกอบรมดังล่าว ช่วยให้พวกตนรู้จักวิธีจัดการกับสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการสังเกตสัญญาณขอความช่วยเหลือ และส่งต่อความช่วยเหลือในกรณีที่เกินกำลังความสามารถของตน ตลอดจนการแจ้งเตือนผู้ปกครอง การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ และไม่ปล่อยให้คนที่มีความคิดหรือมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายมีโอกาสอยู่คนเดียวตามลำพัง

ขณะเดียวกัน การกลับไปเรียนที่โรงเรียนหลังจากเว้นระยะห่างทางสังคมไปนานร่วมหลายเดือน ทำให้ครูบางคนพบว่า เด็กส่วนหนึ่งมีความวิตกกังวลมากขึ้น ขณะที่เด็กนักเรียนบางรายมีปัญหาในการจดจ่อ มีสมาธิ นั่งนิ่ง และหลายคนต้องเรียนรู้วิธีเข้าสังคมและแก้ไขข้อขัดแย้งแบบเห็นหน้ากันใหม่อีกครั้งหลังจากหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน

นักการศึกษาพบว่า เด็กบางคนมีความสามารถในการรับมือกับความเครียดและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเปลี่ยนไป และเด็กส่วนหนึ่งกลายเป็นเพิกเฉย ไม่แยแสในสิ่งใดๆ ปฎฺิบัติต่อกันออย่างเฉยชา และมีความเห็นอกเห็นใจน้อยลง 

Terrin Musbach ผู้ฝึกอบรมครูในด้านจิตสำนึกด้านสุขภาพจิตและโครงการด้านอารมณ์และสังคมอื่นๆ ที่โรงเรียน Del Norte Unified School District ซึ่งตั้งอยู่ในเขตการศึกษาที่มีระดับความยากจนสูงในชนบททางตอนเหนือของแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ไม่เคยเห็นเด็กๆ แสดงความใจร้ายต่อกันขนาดนี้มาก่อนในชีวิต และยอมรับว่า มีความรุนแรงในโรงเรียนมากขึ้น มีการสูบบุหรี่ฃมากขึ้น มีการใช้สารเสพติดมากขึ้น มีกิจกรรมทางเพศมากขึ้น มีความคิดฆ่าตัวตายมากขึ้น มีพฤติกรรมทุกอย่างที่ชวนให้ผู้ใหญ่ต้องกังวลในมากขึ้น

ดังนั้น การฝึกอบรมนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ครูอาจารย์ได้ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างวิธีจัดการกับภาวะกดดันแบบปกติและสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง เพราะสัญญาณเตือนเหล่านั้นอาจปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนหรืออาจถูกซ่อนไว้ภายใน โดยตัวอย่างของสัญญาณเตือนก็เช่น มีการพูดเกี่ยวกับความตายหรือการฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง หรือ มีการใช้คำว่า “ทนไม่ไหว” หรือ “พอกันที” มากขึ้น เป็นต้น 

ยิ่งไปกว่านั้น การที่เด็กๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กเหล่านั้นมีปัญหาทางด้านสุภาพจิต เช่น การหยุดทำกิจกรรมที่ชื่นชอบโดยที่ไม่ได้หากิจกรรมอื่นทดแทน การกลายมาเป็นคนที่ไม่มีระเบียบ เกรดตก ไม่ส่งการบ้าน ทานอาหารกลางวันตามลำพัง และไม่เล่นกับเพื่อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องดีที่ให้ครูอาจารย์เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายมานานแล้ว ก่อนขยายกว้างให้ครอบคลุมเพื่อการตระหนักรู้ด้านสุขภาพจิตและปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากปัญหาภายในจิตใจ หลังเกิดวิกฤตการรระบาด แต่ทว่า โรงเรียนหลายแห่งทั่วสหรัฐฐ กล่าวว่า ทางโรงเรียนยังจำเป็นต้องการให้มีนักจิตวิทยาเด็กและที่ปรึกษาประจำโรงเรียนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทาง Hopeful Futures Campaign กลุ่มพันธมิตรองค์กรสุขภาพจิตแห่งชาติได้ตีพิมพ์รายงานที่พบว่ารัฐส่วนใหญ่กำลังดิ้นรนกับการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน มีเพียงไอดาโฮและดิสตริกต์ออฟโคลัมเบียเท่านั้นที่เกินอัตราส่วนที่แนะนำในระดับประเทศของนักจิตวิทยาหนึ่งคนต่อนักเรียน 500 คน

ขณะที่รายงานอีกส่วนหนึ่งพบว่า ในบางรัฐ รวมทั้งเวสต์เวอร์จิเนีย มิสซูรี เท็กซัส และจอร์เจีย มีนักจิตวิทยาโรงเรียนเพียงคนเดียวสำหรับนักเรียนมากกว่า 4,000 คน และมีเพียงไม่กี่รัฐที่บรรลุเป้าหมายของที่ปรึกษาหนึ่งคนต่อนักเรียน 250 คน

ปัญหาข้างต้น ส่งผลให้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอเงิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการจัดหาเงินทุนใหม่ของรัฐบาลกลาง เพื่อช่วยให้โรงเรียนจ้างที่ปรึกษาและนักจิตวิทยาเพิ่มขึ้น และสนับสนุนโครงการป้องกันการฆ่าตัวตาย ภายใต้เสียงสนับสนุนจากนายแพทย์ Vivek Murthy ที่เตือนว่าปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับชาติ

ขณะเดียวกัน การพูดคุยและรับฟังปัญหาของเด็กอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการให้ความช่วยเหลือเด็ก รวมถึงการถามเด็กเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กโดยที่ไม่กดดันหรือตัดสิน แต่แสดงความห่วงใย และแสดงให้เด็กรู้ว่าครูต้องการที่จะช่วย พร้อมเลี่ยงการพูดว่า “เป็นไรหรอก”, “ก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น” หรือ “ครูเองก็เคยผ่านเรื่องนี้มาก่อน” จะช่วยให้เด็กเปิดใจและได้รับการเยียวยาด้านจิตใจได้ดีขึ้น

ที่มา : With students in turmoil, US teachers train in mental health