วิถีชีวิตที่เปลี่ยนกลายเป็นอุปสรรคให้เด็กกลับมาเข้าห้องเรียน​

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนกลายเป็นอุปสรรคให้เด็กกลับมาเข้าห้องเรียน​

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาที่เริ่มคลี่คลายไปในทางบวกมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นทั่วสหรัฐฯ ทยอยเปิดประตูรั้วเพื่อต้อนรับบรรดานักเรียนนักศึกษาให้กลับเข้ามาเรียนในห้องเรียนแล้วนับตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ต่อให้ความกลัวไวรัสโคโรน่า ที่ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น กระนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองและตัวเด็กนักเรียนเองกลับลังเลไม่แน่ใจที่จะกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียนอีกครั้ง เดือดร้อนถึงเหล่าครู อาจารย์ และผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทั้งหลายที่ต้องเร่งค้นหาสาเหตุ รวมถึงหาแนวทางผลักดันให้เด็กเหล่านี้กลับมาเรียนในห้องเรียน

เกิดอะไรขึ้นในระหว่างเวลาเรียนที่หายไป?

Dana Goldstein ผู้สื่อข่าวสายการศึกษาแห่งหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์และรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย และเรียบเรียงออกมาเป็นรายงานพิเศษระบุชัดว่า เวลาเรียนที่ขาดหายไป หรือก็คือเวลากว่า 1 ปีที่เด็กถูกพรากไปจากห้องเรียนนี้ เป็นช่วงว่างเว้นที่ทำให้เด็กนักเรียน โดยเฉพาะจากครอบครัวฐานะปานกลางไปจนถึงยากจนส่วนใหญ่ ตัดสินใจหางานทำเพื่อช่วยเหลือสถานการณ์เงินของทางบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ โรงเรียนมัธยมที่ Pauline Rojas วัย 18 ปี ศึกษาอยู่ในซานอันโตนิโอได้เปิดเรียนไปนานหลายสัปดาห์แล้ว แต่ก็เหมือนกับเพื่อนร่วมห้องคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ Rojas ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เดินทางไปเรียนหนังสือ และที่น่าหวั่นใจยิ่งกว่าก็คือเจ้าตัวไม่มีทีท่ากระตือรือร้นหรืออยากที่จะกลับไปเรียนแม้แต่น้อย เหตุผลเพราะมีอย่างอื่นที่ Rojas มองว่าสำคัญกว่าการศึกษาเล่าเรียน นั่นคือการทำงาน

โดยในช่วงระหว่างโรคโควิด-19 ระบาด Rojas เริ่มทำงานสัปดาห์ละ 20-40 ชั่วโมงที่เครือร้านอารหารฟาสต์ฟู๊ดส์ และนำรายได้ที่ได้มาช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของครอบครัว ซึ่ง Rojas ยอมรับว่าการทำงานดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเรียนออนไลน์ของตนอย่างมาก แต่ในฐานะลูก Rojas กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ไม่เสียใจ เพราะต้องการร่วมแบ่งเบาภาระของพ่อแม่

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีโรงเรียนในสหรัฐฯ เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ปิดให้บริการ โดยส่วนใหญ่เปิดให้บริการแบบไม่เต็มเวลา ทั้งโรงเรียนในระดับประถม มัธยม และวิทยาลัย ซึ่งจากการสำรวจของรัฐบาลกลางพบว่า โรงเรียนที่เปิดให้นักเรียนกลับมาเรียนได้นี้มีนักเรียนกลับมาเรียนเฉลี่ยเพียง 12% เท่านั้น ขณะที่ นักเรียนส่วนใหญ่หรือราว 3 ใน 4 ของเด็กนักเรียนยังคงเลือกที่จะเรียนออนไลน์ ส่วนนักเรียนอเมริกันผิวสี นักเรียนกลุ่มเชื้อสายละตินอเมริกา และนักเรียนกลุ่มเชื้อสายเอเชียส่วนใหญ่ นอกจากจะเรียนออนไลน์เป็นจำนวนมากแล้ว ส่วนหนึ่งยังไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้

วิถีชีวิตเปลี่ยนจนยากจะกลับมาเรียน

รายงานระบุว่า บรรดาครูและอาจารย์ทั่วสหรัฐฯ ในขณะนี้กำลังปวดหัวอย่างหนักที่เด็กนักเรียนไม่ยอมกลับเข้ามาเรียนในห้องเรียน และข้ออ้างที่เด็กไม่เข้าเรียนไม่ใช่เพราะความกลัวที่มีต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือเพราะเด็กคุ้นเคยชื่นชอบที่จะเรียนออนไลน์ แต่เป็นเพราะเด็กกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนในช่วงที่ไม่ได้เข้าเรียนไปอย่างมากจนกลายเป็นเรื่องยากหรือเป็นอุปสรรคที่เด็กเหล่านี้จะกลับเข้ามาเรียนที่ห้องเรียน

สถานการณ์ข้างต้นทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาหวั่นเกรงว่าจะส่งผลกระทบเสียหายต่อระบบการศึกษาของสหรัฐฯ ในอนาคตนับจากนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากบางรัฐตัดสินใจอนุญาตให้นักเรียนเลือกที่จะเข้าเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้

ผลการสำรวจในเบื้องต้นพบว่า เหล่าวัยรุ่นจากครอบครัวยากจนส่วนใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ต่างรับจ้างหางานทำถ้วนหน้า เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองตกงาน ขณะที่บางครอบครัว ยังเผชิญปัญหาที่ซับซ้อนอย่างอุปสรรคด้านภาษาและการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารทำให้ไม่รู้ว่าโรงเรียนได้เปิดเรียนเรียบร้อยแล้ว

เหล่าผู้เชี่ยวชาญจากหลายสำนักเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า  “school hesitancy” (ความลังเลที่จะไปโรงเรียน) เพื่ออธิบายถึงข้ออ้างหรืออาการต่อต้านที่จะกลับเข้าเรียนตามธรรมเนียมปฏิบัติ ขณะที่นักการศึกษาอีกส่วนหนึ่งชี้ว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้พลิกเปลี่ยนวิถีชีวิต และตัดทางเลือกของเด็กส่วนหนึ่ง ที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงกลายเป็นวิกฤตสังคมและการศึกษาที่เด็กรุ่นนี้ต้องเผชิญกับความลังเลที่ตนเองไม่ต้องการนี้

Pedro Martinez ผู้อำนวยการโรงเรียนในเขตการศึกษาซานอันโตนิโอยอมรับว่า ทุกวันนี้ต้องรับฟังเรื่องราวชีวิตของเยาวชนมากมาย และแต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องที่บีบหัวใจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายของตนเองที่จะต้องหาทางทำให้เยาวชนกลุ่มนี้กลับเข้ามาเรียนในห้องเรียนให้ได้ โดยนักเรียนส่วนใหญ่ในเขตการศึกษาซานอันโตนิโอ ล้วนเป็นเด็กยากจนจากครอบครัวชาวละตินอเมริกา ซึ่งปัจจุบันมีเด็กเพียง 30% เท่านั้นที่เลือกกลับเข้ามาเรียน

ด้วยความวิตกว่าผลการเรียนของเด็กจะแย่ลง จนกระทั่งเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา Martinez ได้วางแผนที่จะยกระดับความเข้มงวดในการเรียนออนไลน์ในภาคปีการศึกษาหน้าให้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กผิวสีและละตินอเมริกาครึ่งหนึ่ง กับเด็กอเมริกันเชื้อสายเอเชียอีก 2 ใน 3 ต่างเลือกที่จะเรียนลงทะเบียนเรียนออนไลน์ เมื่อเทียบกับเด็กอเมริกันผิวขาวที่ลงทะเบียนเรียนออนไลน์เพียง 20% เท่านั้น

แน่นอนว่า ผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษาทั้งหลายยังคงเชื่อมั่นว่า ห้องเรียนคือสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนรู้ แต่ก็เข้าใจดีว่าไม่อาจใช้มาตรการบังคับหรือกดดันให้เด็กนักเรียนและครอบครัวกลุ่มนี้ที่ต้องประสบกับภาวะยากลำบากอยู่แล้วต้องมาเผชิญกับปัญหาที่ยากตัดสินใจในเรื่องการศึกษาของบุตรหลายอีก

เรียนออนไลน์คือทางเลือกแต่ไม่ใช่ทางแก้

แน่นอนว่า การเรียนออนไลน์ในขณะนี้ถือเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำให้เด็กยากจนทั่วสหรัฐฯ ได้รับการศึกษาตามหลักสูตร ภายใต้ความช่วยเหลือร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการมอบอุปกรณ์และสัญญาณอินเทอร์เน็ต รวมถึงอำนวยความสะดวกในเรื่องสถานที่เรียน กระนั้น หลายฝ่ายย้ำว่า การเรียนออนไลน์ขณะนี้เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ โซลูชั่น หรือทางออกสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาที่เกิดขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาต่างเห็นตรงกันว่า ต่อให้มีระบบการเรียนออนไลน์ที่รับกุมแค่ไหน แต่สุดท้าย เด็กนักเรียนจำเป็นต้องมีปฎิสัมพันธ์กับผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งหมายความว่า ครูทั่วสหรัฐฯ ในขณะนี้ ต้องรับหน้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยการเป็นครูสอนออนไลน์และครูสอนตามบ้านไปโดยปริยาย ทว่า เวลาและจำนวนครูในบางพื้นที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้ครูและทางโรงเรียนสามารถดำเนินการเรียนการสอนแบบไฮบริด (ผสม)

ทั้งนี้ ถ้าเพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจพอถูไถไปได้ แต่ถ้ารูปแบบการสอนดังกล่าวกินระยะเวลายาวนานหลายเดือน นักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของเด็กต่างออกโรงเตือนว่า การเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ในเชิงสังคมของตัวเด็กแต่ละคน

“เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้เด็ดขาดที่เราจะมีระบบการศึกษาสองแบบ ที่เด็กผิวขาวได้ไปโรงเรียน แต่เด็กผิวสีเรียนออนไลน์” Vladimir Kogan นักวิทยาศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยโอไฮโอกล่าว โดยผลการศึกษาของศาสตราจารย์ Kogan พบว่า พ่อแม่มักจะลังเลที่จะส่งลูกกลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง หากว่าโรงเรียนปิดเรียนยาวเกินไป และความลังเลดังกล่าวจะลดลงก็ต่อเมื่อพ่อแม่รู้สึกว่า การเรียนที่โรงเรียนเป็นเรื่องที่ปลอดภัยและเหมาะสมสมควร

ทั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่น นายกเทศมนตรี คณะกรรมการโรงเรียน และผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งยังคงถกเถียงเรื่องที่โรงเรียนควรมีห้องเรียนเสมือนจริงเป็นทางเลือกในภาคการศึกษาหน้าหรือไม่ ผลสำรวจนักการศึกษาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่า 68% ต่างคาดหวังให้ทางโรงเรียนมีระบบการเรียนออนไลน์เป็นทางเลือกแม้ว่าการระบาดจะยุติไปแล้วก็ตาม ดังนั้น ตราบใดที่ยังคงมีการเรียนออนไลน์ ตราบนั้น การจัดทีมบุคลกรลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงเด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกลจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เด็กกลับมาเรียนในห้องเรียนได้ในท้ายที่สุด

ระบบ “ไฮบริด” ไม่ใช่เรื่องง่าย

ระบบการเรียนแบบไฮบริด ที่ผสมระหว่างการเรียนในห้องเรียนกับการเรียนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยที่โรงเรียนรัฐในอินเดียนาโพลิส ระบุว่า ครูต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 วันเต็มเพื่อไปเคาะประตูบ้านนักเรียน 1,000 หลัง เพื่อตรวจสอบว่าทำไมนักเรียนถึงขาดเรียนออนไลน์ และใช้โอกาสนี้ให้กำลังใจให้เด็กกลับไปเรียนที่ห้องเรียนกับครูและเพื่อนร่วมชั้นคนอื่นอีกครั้ง

รายงานระบุว่า สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการเรียนแบบไฮบริดก็คือการบริหารจัดสรรเวลา ที่บางครั้งและบ่อยครั้งการเรียนออนไลน์ของเด็กจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ หรือมีคนคอยประกบดูแล ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำให้ไม่ได้ อีกทั้งระบบไฮบริด ไม่ใช่ระบบที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการสำหรับเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กพิการ หรือเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้

นอกจากนี้ ไม่ใช้ว่านักเรียนทุกคนจะประสบความสำเร็จกับการเรียนแบบไฮบริด โดยเฉพาะที่เน้นไปเรียนออนไลน์ส่วนใหญ่ และเข้าเรียนที่ห้องเรียนเป็นส่วนน้อย ซึ่งสุดท้าย ครูและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันและยอมรับว่า การเรียนในห้องเรียน ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว

ดังนั้น หน้าที่หลักของครูและโรงเรียนในขณะนี้ก็คือการวางแผนงาน แนวทาง และมาตรการที่จะพูดคุยกับเด็กและพ่อแม่ผู้ปกครองให้ “เลือก” ที่จะกลับไปเรียนในห้องเรียนให้จงได้ ให้พ่อแม่และเด็กเห็นว่าการเรียนที่ห้องเรียนดีที่สุด และพ่อแม่ต้องคำนึงถึง “อนาคต” ของเด็กให้มากที่สุด

ที่มา : Schools Are Open, but Many Families Remain Hesitant to Return