ห่วงหยุดเรียนกลางคัน มหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐขยายโครงการ Bridge เพื่อช่วยปรับพื้นฐาน หลังพบผลกระทบจาก โควิด-19 ทำเด็กจบ ม.ปลายไม่พร้อมด้านวิชาการเพิ่มขึ้น

ห่วงหยุดเรียนกลางคัน มหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐขยายโครงการ Bridge เพื่อช่วยปรับพื้นฐาน หลังพบผลกระทบจาก โควิด-19 ทำเด็กจบ ม.ปลายไม่พร้อมด้านวิชาการเพิ่มขึ้น

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในสหรัฐ ฯ เปิดเผยผลการศึกษาสำรวจเบื้องต้นที่พบว่า เด็กนักเรียนอเมริกันที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายในปีการศึกษาล่าสุดมีระดับความรู้ด้านวิชาการที่ไม่เพียงพอต่อการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวลต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศ และน่าจะกระทบต่อศักยภาพของแรงงานสหรัฐ ฯ ในอนาคต พร้อมเร่งทุกฝ่ายหามาตรการเสริมความรู้เด็กให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาชี้ว่า การที่เด็กมีความพร้อมด้านวิชาการไม่เพียงพอแล้วไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย จะกลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหยุดเรียนกลางคัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเสียหายต่อโอกาสของเด็กคนนั้น ๆ ในเรื่องของการหารายได้เลี้ยงชีพในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทักษะความสามารถในการแข่งขันของแรงงานในอนาคตอีกด้วย

 

ทั้งนี้ สำนักข่าวเอพีได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาจัดทำเป็นสกู๊ปพิเศษ และทางสำนักข่าว VOA ก็หยิบเรื่องราวดังกล่าวมาถ่ายทอดอีกต่อหนึ่ง โดยสำนักข่าวเอพี ระบุว่า ประเด็นความไม่พร้อมเริ่มต้นมาจากการที่นักการศึกษาได้พบกลุ่มนักเรียนจำนวนหนึ่งที่แม้จะสอบในระดับมัธยมปลายได้คะแนนดี แต่กลับไม่สามารถทำข้อสอบเอนทรานซ์ของมหาวิทยาลัยได้เลย 

รายงานได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของนักเรียนคนหนึ่งที่ชื่อว่า Angel Hope ซึ่งเจ้าตัวสามารถจบการศึกษาระดับชั้นมัธยมปลายโดยได้คะแนนอยู่ในระดับต้น ๆ ของชั้นเรียน แต่ในการทดสอบของ University of Wisconsin เพื่อประเมินสิ่งที่นักศึกษาใหม่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนมัธยม เขาทำได้แค่เพียงการเดาคำตอบเท่านั้น และที่สำคัญ คือนักศึกษาหน้าใหม่จำนวนมากก็กำลังประสบปัญหาเดียวกันกับ Angel Hope

ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา อธิบายว่า สาเหตุของปัญหาทั้งหมดมาจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด – 19 ทำให้นักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษาระดับมัธยมปลายหลายแสนคนและกำลังจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหมดไปกับการรับมือกับโควิด – 19 ต้องเรียนออนไลน์ ต้องพบกับปัญหาการขาดแคลนครู และต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการใช้ชีวิตในบ้าน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เด็กหลายคนเรียนไม่ทันเพื่อน ขณะที่คนสถานะทางบ้านพร้อมไม่มีปัญหาเรียนก็เรียนได้ไม่เต็มที่ครบตามหลักสูตร 

Allison Wagner หัวหน้าและผู้บริหารโครงการ  All – In Milwaukee ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ แก่นักเรียนยากจน กล่าวว่า กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือกลุ่มเด็กยากจนที่ทั้งเรียนไม่ทันเพื่อนและเรียนได้ไม่เต็มที่ 

Wagner เปิดเผยว่า เห็นเด็กนักเรียนที่ทั้งรู้จักและไม่รู้จักมากมายต้องทำงานนอกเวลาในขณะที่เรียนชั้นมัธยมปลายเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา อีกทั้งนักเรียนที่ไม่ได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เพราะการขาดแคลนครูยังมีจำนวนมากขึ้นกว่าที่เคย ดังนั้น จึงไม่มีทางเลยที่นักเรียนเหล่านี้จะมีความพร้อมด้านวิชาการสำหรับการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ในส่วนของ Wagner ที่พอจะให้ความช่วยเหลือได้ก็คือการเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยให้นักเรียนในชั้นเรียนภาคฤดูร้อนได้เรียนเสริมพิเศษในวิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ แต่ถึงกระนั้น เจ้าตัวก็ยังรู้สึกว่าความถดถอยทางด้านวิชาการนี้จะบีบบังคับให้นักเรียนบางคนต้องใช้เวลามากกว่าสี่ปีในการสำเร็จการศึกษา หรือที่แย่กว่านั้นก็คืออาจจะต้องหยุดเรียนกลางคัน

ด้านบรรดานักวิจัยกล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาสำคัญในการเรียนของเด็กนักเรียนในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา คือการเรียนออนไลน์ โดยการเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ยากสำหรับนักเรียน แม้ว่าระบบการเรียนออนไลน์ จะมีส่วนช่วยอุดช่องว่างด้านการศึกษาสำหรับนักเรียนที่อายุน้อยกว่า แต่สำหรับผู้ที่จบการศึกษาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเรียนออนไลน์ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าจะมีนักเรียนหลาย ๆ คนที่ต้องตกที่นั่งลำบาก

ความกังวลดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐ ฯ ตั้งแต่ รัฐนิวเจอร์ซีย์ไปจนถึงแคลิฟอร์เนียตัดสินใจขยายโครงการ “Bridge” ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เปิดชั้นเรียนภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนจากครอบครัวที่ยากจนหรือนักเรียนที่เป็นสมาชิกคนแรกในครอบครัวที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับพื้นฐานความรู้ด้านวิชาการและเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนที่จะเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยอย่างจริงจังในช่วงเปิดภาคการศึกษา 

รายงานระบุว่าในเมือง Hanceville รัฐ Alabama ปีนี้ ทางวิทยาลัยชุมชน Wallace State Community College ได้ใช้งบประมาณของรัฐบาลในการสร้างโปรแกรม Bridge ในภาคฤดูร้อนเป็นครั้งแรก เปิดทางให้นักเรียนสามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียนซ่อมเสริม

ทั้งนี้ โดยปกติแล้ว ชั้นเรียนสำหรับการเรียนซ่อมนั้นมีไว้สำหรับนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในการพัฒนาตัวเองในวิชานั้น ๆ ซึ่งทางวิทยาลัยชุมชน Wallace State Community College หวังว่าจะสามารถรับนักเรียนได้มากถึง 140 คน  อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะที่เขียนรายงาน กลับมีเพียงนักเรียน 10 คนเท่านั้นที่มาลงทะเบียนในโปรแกรมนี้

ขณะที่ทางรัฐอื่น ๆ รัฐบาลท้องถิ่นส่วนหนึ่งตัดสินใจปันงบประมาณช่วยเหลือสำหรับการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่รัฐบาลกลางส่งมาให้ นำไปช่วยบรรดามหาวิทยาลัยในการสร้างโครงการพิเศษภาคฤดูร้อน เช่น รัฐ Kentucky ได้มอบเงินจำนวน 3.5 ล้านดอลลาร์ให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สำหรับความพยายามโครงการเรียนภาคฤดูร้อนนี้ 

Amanda Ellis รองประธานสภารัฐ Kentucky ด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษา กล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นจำเป็นต้องให้การสนับสนุนนักเรียนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่เพราะเด็กนักเรียนเหล่านี้ คือแรงงานในอนาคต และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคอยประคับประคองให้เด็กเหล่านี้ประสบความสำเร็จตามเส้นทางที่ตั้งใจไว้ 

ทั้งนี้ หลายเดือนหลังจากที่ประสบปัญหาในการทดสอบวิชาคณิตศาสตร์ Hope ได้ตัดสินใจเข้าเรียนในโครงการ Bridge ภาคฤดูร้อนเป็นเวลา 6 สัปดาห์  ที่มหาวิทยาลัย University of Wisconsin วิทยาเขตแมดิสัน โดยลงเรียนในวิชาคณิตศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงสิ่งที่ตนเองพลาดไปในการเรียนระดับมัธยมปลาย และยังสมัครเรียนวิชาแคลคูลัสในฤดูใบไม้ร่วงเพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนี้ Hope ยังนำทักษะการเรียนในโรงเรียนมัธยมกลับมาใช้ใหม่ เริ่มต้นด้วยการเข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุด และทำให้ตัวเองมีความสุขในการเรียนหนังสืออีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม Hope กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ตนเองได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ Bridge ก็คือประสบการณ์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง โดยตอนนี้ เจ้าตัวรู้สึกว่าตนเองอยากมาโรงเรียนเพื่อที่จะได้เรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อเป็นทางผ่านเท่านั้น ซึ่งหลังจากนี้ Hope เชื่อมั่นว่าตัวเองจะมีความพร้อมสำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน

ที่มา : US Colleges Could See Increase in Students Unprepared for School