UNESCO วอนทั่วโลกจัดสรรทุนเพื่อการศึกษาเพิ่ม
โดย : Charmaine Jacob - CNBC
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

UNESCO วอนทั่วโลกจัดสรรทุนเพื่อการศึกษาเพิ่ม

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ออกโรงเตือนรัฐบาลนานาประเทศทั่วโลกให้จัดสรรงบประมาณเพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา หลังผลการศึกษาพบว่า เม็ดเงินที่ใช้เพื่อการศึกษาไม่สอดคล้องและเพียงพอกับมุมมองของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าการศึกษามีความสำคัญจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานความเห็นของ Priyadarshani Joshi เจ้าหน้าที่วิจัยในทีม Global Education Monitoring Report ของ UNESCO ที่ออกมาระบุว่าจำนวนเงินที่ใช้ไปในการจัดหาเงินทุนเพื่อการศึกษาไม่ตรงกับมุมมองที่ว่าการศึกษามีความสำคัญ

Joshi  อธิบายเพิ่มเติมระหว่างการให้สัมภาษณ์กับรายการ Squawk Box Asia ของ CNBC เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเปิดเผยรายงานการเฝ้าระวังการศึกษาโลก (Global Education Monitoring Report – GEM) ว่า แม้จะไม่มีใครโต้แย้งถึงความสำคัญของการศึกษา แต่จนแล้วจนรอด การศึกษาก็มักจะเป็นถูกจัดลำดับความสำคัญให้อยู่ในลำดับรองลงมาจากเศรษฐกิจ และการลงทุนต่าง ๆ เสมอเมื่อถึงวาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในการบริหารประเทศ  

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ต่อให้ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยอย่างไร้ข้อโต้แย้งว่าการศึกษามีความจำเป็นต่อชีวิตของคน ๆ หนึ่ง แต่การลงทุนเพื่อการศึกษากลับมีน้อยนิดไม่สมความความสคัญที่การศึกษาได้รับแต่อย่างใด

ทั้งนี้ รายงาน GEM ฉบับปี 2019 ระบุว่า ในแต่ละปีทั่วโลกใช้เงินรวมกันประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปกับการศึกษา และเพียง 0.5% ของเงินจำนวนดังกล่าวถูกใช้ไปเพื่อการศึกษาในกลุ่มประเทศยากจน 

Joshi กล่าวว่าเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่รายงาน GEM จะแสดงให้เห็นว่าช่องว่างทางการเงินประจำปีที่จำเป็นสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน คิดเป็นสัดส่วนเพียงค่าใช้จ่ายทางทหารเฉลี่ย 3 วันเท่านั้น 

ในส่วนขยายของรายงาน GEM Reprort ที่ว่าด้วยเรื่องรายงานพิเศษเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางการศึกษา พบว่า เพื่อให้การศึกษาระดับมัธยมศึกษาบรรลุผลสำเร็จในระดับสากลภายในปี 2030 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางค่อนไปทางล่างจะต้องเพิ่มจำนวนเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการศึกษาในแต่ละปีจาก 149,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2012 เป็น 340,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2030

นอกจากการศึกษาจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้เรียนแล้ว การศึกษายังเป็นหนึ่งในวิธีที่คุ้มค่าที่สุดในการฝึกอบรมหรือให้อำนาจแก่ผู้หญิงเพื่อเสริมสร้างชุมชนให้มีความแข็งแกร่งและเท่าเทียม ซึ่งผู้หญิงในกลุ่มประเทศยากจนมักมีปัญหาทางการเงินที่ได้รับค่าจ้างผลตอบแทนต่ำแม้จะทำงานในตำแน่งเดียวกันกับคนอื่นๆ เพราะว่าผู้หญิงเหล่านี้เรียนหนังสือไม่สูง 

ประเด็นปัญหาข้างต้นยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากเด็กชายและเด็กหญิงในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ไมได้เผชิญหน้ากับความท้อแท้สิ้นหวังในระดับเดียวกับกลุ่มเด็กยากจนในช่วงที่ต้องปิดโรงเรียน

Joshi กว่าวว่า บรรดาเด็กผู้หญิงต้องเผชิญกับ “ผลที่ตามมาเพียงเพราะความเป็นหญิง” ยกตัวอย่างเช่น การเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เพียงพอ ที่ครอบครัวมักให้สิทธิ์เด็กผู้ชายมาก่อน การจำกัดเวลาและควบคุมพื้นที่ของเด็กหญิงอย่างเข้มงวด และความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ก่อนกำหนด

ขณะเดียวกัน ในขณะที่เหล่าผู้ปกครองในประเทศต่างๆ เช่น บังกลาเทศ จอร์แดน และปากีสถานไม่เต็มใจที่จะให้เด็กผู้หญิงเข้าถึงสมาร์ทโฟน ตรงข้ามกันกับเด็กผู้ชายที่สามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนได้ดี ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กผู้ชายดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง

“มีความจำเป็นสำหรับ “ปัจจัยพื้นฐาน” อย่างยิ่ง ในการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเรียน  การฝึกอบรมในเรื่องประเด็นอ่อนไหวทางเพศ และการสร้างแบบอย่างของความเป็นผู้นำ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าตั้งแต่ 2-3 ล้านไปจนถึงประมาณ 2,000-3,000 ล้าน จนในที่สุดก็เพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกโดยรวมได้กว่าล้านล้านดอลลาร์

ยิ่งไปกว่านั้น คนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดอีกคนหนึ่งก็คือครู ที่ยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเปิดโรงเรียน โดยมีรายงานว่าครูหลายคนถูกบังคับให้ออกจากงาน หรือถูกลดเงินเดือนจนต้องยอมลาออก

Joshi กล่าวว่า วิชาชีพครูส่วนใหญ่มักเป็นอาชีพที่ผู้หญิงเลือกทำเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในหลายประเทศ เมื่อต้องปิดโรงเรียนต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จึงมีรายงานครูผู้หญิงจำนวนไม่น้อนต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมาน โดยประเทศที่มีสัดส่วนของโรงเรียนเอกชนมากกว่าโรงเรียนรัฐ เช่น อินเดีย มีครูผู้หญิงตกงานหรือได้รับเงินเดือนน้อยลง 

ขณะเดียวกัน แม้ว่า ช่องว่างทางเพศในการลงทะเบียนและการเข้าเรียนในโรงเรียนจะปรับลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราการไม่รู้หนังสือ (อัตราการอ่านออกเขียนได้) ในหมู่สตรีในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ 

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ในปี 2020 มีผู้ใหญ่ประมาณ 771 ล้านคนขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงที่ไม่รู้หนังสือถึง 63% ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาช่องว่างทางเพศในการรู้หนังสือของผู้ใหญ่นั้นพบมากที่สุดในแถบเอเชียกลางและเอเชียใต้ กับแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา

ด้านยูเนสโกปิดท้ายเรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลก จัดสรรงบการศึกษาให้สมกับความสำคัญที่มีอยู่ พร้อมเตือนว่า ความล่าช้าในการเพิ่มอัตราการรู้หนังสือในหมู่ประชากรส่งผลให้จำนวนคนที่ไม่รู้หนังสือแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะส่งทำให้การพัฒนาประเทศโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงและขาดความยั่งยืน

ที่มา : Education is important, ‘but the money does not seem to add up,’ says UNESCO