UN จับตาภัยคุกคามรอบด้านต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หลังพบเด็ก 263 ล้านคนทั่วโลก ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
โดย : UN
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

UN จับตาภัยคุกคามรอบด้านต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หลังพบเด็ก 263 ล้านคนทั่วโลก ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

คณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนา หรือ Commission on Population and Development (CPD) จัดประชุมขึ้นที่สำนักงานใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) นครนิวยอร์ก จับตาภัยคุกคามต่อเป้าหมายการศึกษาทั่วโลก หลังพบว่าเด็กและเยาวชนราว 263 ล้านคน ยังคงขาดเรียนและไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

อมินา โมฮัมเหม็ด (Amina Mohammed) รองเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า แม้จะมีคำมั่นสัญญาและความคืบหน้าในการจัดการปัญหาการเข้าถึงการศึกษาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่กลับยังคงมีเด็กและเยาวชนราว 263 ล้านคน ต้องขาดโรงเรียนและไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ซึ่งเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคนภายในปี 2030 นั้น “ผิดแผนอย่างร้ายแรง” โดยประเด็นปัญหาดังกล่าวถือเป็นไฮไลต์สำคัญในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

โมฮัมเหม็ด ได้กล่าวเปิดการประชุมโดยเน้นย้ำถึงสถานการณ์ของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ซึ่งถูกห้ามไม่ให้เรียนต่อชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัย โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “หนึ่งในความท้าทายด้านการศึกษาที่ร้ายแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน” 

รองเลขาธิการสหประชาชาติยังเน้นอีกว่า การศึกษาคือการลงทุนระยะยาวที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของผู้คนและโลกใบนี้

เธอกล่าวว่า ประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับ “วิกฤตการศึกษา 3 ประการ หนึ่งคือความเสมอภาค สองคือคุณภาพ และสามคือความเกี่ยวข้อง เพื่อให้คนรุ่นปัจจุบันและอนาคตมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

ปัญหาที่เด็กหลายล้านคนทั่วโลกไม่ได้เข้าโรงเรียน นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ประชาคมโลกต้องช่วยกันจับตามอง ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลพอ ๆ กันคือ ข้อเท็จจริงที่ว่านักเรียนจำนวนมากไม่เกิดการเรียนรู้ โดยเด็กอายุ 10 ขวบ เกือบร้อยละ 70 ในประเทศยากจนไม่สามารถเข้าใจข้อความพื้นฐานได้ สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื้อรัง เช่น ความยากจนและภาวะทุพโภชนาการ

“ท้ายที่สุด เราจำเป็นต้องอาศัยจินตนาการใหม่เพื่อจะเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเรา หากระบบเหล่านั้นเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติและอยู่กับธรรมชาติ” โมฮัมเหม็ด กล่าว 

เธอย้ำว่า การจะบรรลุเป้าหมายได้นั้นจะต้องตรวจสอบถึงความเชื่อมโยงระหว่างการศึกษา เทคโนโลยี และแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ จากนั้นจึงดำเนินการตามโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้น พร้อมเรียกร้องให้เริ่มต้นลงมือทำ รวมถึงเตรียมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการเชื่อมโลกอินเทอร์เน็ตกับโลกแห่งนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงจากซีกโลกใต้ที่ถูกกีดกันมากที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น นานาชาติยังต้องพิจารณาว่าจะได้รับประโยชน์จากความหลากหลายทางประชากรโลกอย่างไร โดยบางประเทศมีประชากรอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี และบางประเทศมีประชากรอายุเฉลี่ยเพียง 15 ปี นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงผู้สูงอายุซึ่งกำลังจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของโลกภายในปี 2050 อีกทั้งต้องให้ความสำคัญต่อผู้พิการ

ขณะเดียวกัน โมฮัมเหม็ดยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการจัดการศึกษาที่ครอบคลุมถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิง และสนับสนุนให้พวกเขาศึกษาต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า STEM

ด้าน นาตาเลีย คาเนม (Natalia Kanem) ผู้อำนวยการบริหารกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านสุขภาวะทางเพศและการเจริญพันธุ์ ได้หยิบยกประเด็นเรื่องเพศขึ้นมา โดยกล่าวว่าการศึกษาจะเป็นเหมือนการ ‘เปิดประตู’ และ ‘จุดเปลี่ยนชีวิต’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงกลุ่มเปราะบาง

คาเนมกล่าวว่า ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเหล่านั้นควรได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็น และสามารถเรียกร้องสิทธิของตนได้ ซึ่งผู้หญิงที่ได้รับการศึกษาดีกว่าก็มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีขึ้น แต่งงานช้ากว่าและวางแผนการมีบุตรได้ดีกว่า 

“หากได้รับการศึกษาที่ดี พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะใช้บริการฝากครรภ์ ฉีดวัคซีนให้ลูก และพาลูกไปรับบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสม พวกเขามีแนวโน้มที่จะเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบและมีรายได้สูงขึ้น” เธอกล่าว พร้อมชี้ว่าการศึกษายังช่วยลดโอกาสในการแต่งงานก่อนวัยอันควร การขลิบอวัยวะเพศหญิง (FGM) การปฏิบัติที่เป็นอันตรายต่างๆ และลดความเสี่ยงของความรุนแรงทางเพศ

ยิ่งไปกว่านั้น คาเนมยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องคุ้มครองระบบการศึกษาสำหรับทุกคน รวมถึงเพศวิถีศึกษาแบบรอบด้าน (Comprehensive Sexuality Education: CSE) ซึ่งช่วยให้วัยรุ่นมีข้อมูลและทักษะในการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกที่ดี เพราะเพศวิถีศึกษาช่วยให้เด็กผู้หญิงหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายอยู่ในโรงเรียนตามสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ

“เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล หากให้ข้อมูลและอำนาจตัดสินใจแก่ผู้คนในการใช้สิทธิและมีทางเลือกในวัยเจริญพันธุ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนามากขึ้น” คาเนมระบุ 

ขณะที่ หลี่ จุนหัว (Li Junhua) หัวหน้าแผนกเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (DESA) กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของประชากรที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา โดยอ้างอิงถึงคนนับล้านที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ตลอดจนความสามารถทางคณิตศาสตร์และการอ่านที่ต่ำเป็นตัวอย่างสำคัญ

จุนหัว กล่าวว่า ในบางซีกโลกซึ่งมีข้อจำกัดในการจัดหาเงินกองทุนสาธารณะ ประกอบกับประชากรวัยเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การบรรลุเป้าหมายด้านการศึกษาทำได้ยากขึ้น

ในขณะเดียวกัน บางพื้นที่ก็ประสบปัญหาการลดลงของประชากรวัยเรียน ส่งผลให้แรงกดดันด้านงบประมาณการศึกษาลดน้อยลง ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการส่งเสริมการลงทุนที่มุ่งเน้นไปที่คนหนุ่มสาวและผู้ใหญ่มากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ยังเผยให้เห็นข้อบกพร่องในระบบการศึกษาอีกด้วย

“เด็กและเยาวชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำมักถูกกีดกันการเข้าถึงการเรียนรู้ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ตัดงบประมาณด้านการศึกษาออกไปเป็นจำนวนมาก” จุนหัวกล่าว โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาลเหล่านี้

“การดำเนินการนี้จะต้องมีการลงทุนในความรู้ด้านดิจิทัลและปิดช่องว่างทางดิจิทัล โดยดึงบทเรียนที่ได้รับจากการระบาดของโควิด-19 และต้องขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาต่อไป” จุนหัวระบุ 

ซิง ฉู่ (Xing Qu) รองผู้อำนวยการองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เสริมว่า การระบาดใหญ่ยังคงเกิดขึ้นพร้อมกับความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความไม่มั่นคงด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์นี้นำไปสู่วิกฤตซ้ำซ้อนที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และความเป็นอยู่ที่ดี โดยอ้างถึงตัวเลขและปัจจัยนอกโรงเรียนที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ เช่น การตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ

ซิง ฉู่ ชี้ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเกิดภาวะซึมเศร้าและความเครียดในหมู่คนหนุ่มสาวในหลายบริบท ซึ่งมาจากความกังวลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตท่ามกลางปัจจัยต่างๆ ความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี นำไปสู่การออกกลางคันของนักเรียนและการขาดแคลนครูมากขึ้น 

ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงการศึกษา (Transforming Education Summit) ของ UN เมื่อเดือนกันยายน 2022 ที่ผ่านมา เกือบ 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ที่ดีของครูและนักเรียน ซึ่งทาง UNESCO ได้สรุปแนวทางดำเนินการที่เข้มแข็งในประเด็นสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การปิดช่องว่างระหว่างเพศในการลงทะเบียนเรียนและการมีส่วนร่วม สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของวัยแรกรุ่น ความสัมพันธ์ และสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และเสริมสร้างการปลูกฝังเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโรงเรียน รวมถึงการจัดหาอาหารในโรงเรียนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ

ยิ่งไปกว่านั้น เพราะการเรียนรู้ไม่ได้หยุดลงเมื่อเด็กออกจากห้องเรียน UNESCO และสมาชิก ตลอดจนหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจึงมีเหตุผลที่ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อคนทุกคน สำหรับการเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น เกิดการจ้างงาน มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเกิดความสามัคคีในหมู่ชน

ที่มา : UN commission examines threats to global education goal