“ถุงปันยิ้ม” พร้อมสู้วิกฤตโควิด-19 นำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กๆ ในทุกสถานการณ์

“ถุงปันยิ้ม” พร้อมสู้วิกฤตโควิด-19 นำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กๆ ในทุกสถานการณ์

ผลการศึกษาของธนาคารโลกที่เก็บข้อมูลตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2563 ถึงปัจจุบันพบว่ามีเด็กที่เสี่ยงต่อ ‘ภาวะความรู้ถดถอย’ (Learning Loss) จากการปิดเรียนมีราว 369 ล้านคน ขณะที่ข้อมูลจาก PISA ระบุว่าก่อนวิกฤตโควิด-19 ประเทศไทยมีเด็กนักเรียนในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสเข้าถึงคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเพียง 20% ขณะที่กลุ่มเด็กจากครอบครัวที่พร้อมสามารถเข้าถึงได้ 90% และคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2564 ค่าเฉลี่ยของภาวะความรู้ถดถอยในเด็กไทยจะอยู่ที่ราว 1.27 ปี 

การเรียนผ่านระบบออนไลน์ยังเป็นสื่อการเรียนหลักของเด็กทั่วประเทศ ทว่ามีเด็กด้อยโอกาสจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์เครื่องมือ อินเทอร์เน็ต หรือถึง ‘มี’ ก็ ‘ไม่เพียงพอ’ สำหรับเด็กทุกคนในบ้าน

‘ถุงปันยิ้ม’ นำการเรียนรู้ไปให้ถึงเด็กๆ ในทุกสถานการณ์

ถุงปันยิ้มบรรจุด้วยสื่อและอุปกรณ์จำเป็นในการเรียนรู้ อาทิ สมุดภาพระบายสี หนังสือนิทาน สีไม้ เครื่องเขียน ของเล่น ขนม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ วิตามินที่จำเป็นต่อเด็ก ฯลฯ โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงชั้น ได้แก่ ปฐมวัยและอนุบาล 0-4 ปี ประถมศึกษาตอนต้น 5-9 ปี และประถมศึกษาตอนปลาย 10-12 ปี

เบื้องต้น กสศ.ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคีที่ทำงานกับเด็กด้อยโอกาสและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น  Little Bird, Café can do, The Hub, มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ช่วยกันกระจายส่งมอบถุงปันยิ้มให้กับเด็กๆ ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ชุมชนโรงหมู, ศูนย์เมอร์ซี่คลองเตย, ชุมชนกองขยะหนองแขม, ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่, ชุมชนสหกรณ์เคหสถานชุมชนบัวหลวงจำกัด, ชุมชนโรงหวาย, ชุมชนเปรมฤทัย, ชุมชนอ่อนนุช 40 ไร่

“เด็กต้องไม่ขาดช่วงการเรียนรู้นานเกินไป”

คุณลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความร่วมมือกับ กสศ.ว่าจากผลกระทบของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ได้ทราบข้อมูลจาก กสศ. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลการศึกษาเด็กและเยาวชนว่า การปิดโรงเรียนส่งผลในระยะยาวต่อการศึกษาและพัฒนาการเด็กอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงการเรียนรู้ในช่วงวิกฤต

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญและสนใจทำงานร่วมกับ กสศ. ในฐานะผู้สนับสนุนทุนทรัพย์จนเกิดการสร้างสรรค์ถุงปันยิ้มขึ้น

คุณลดาวัลย์ กันทวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“เรามองว่าเด็กต้องไม่ขาดช่วงการเรียนรู้นานเกินไป ก่อนเกิดโควิด-19 ไม่มีใครรู้ว่าโรงเรียนต้องปิดยาวนานขนาดนี้ การจัดทำชุดการเรียนรู้จึงจำเป็นและต้องจัดทำอย่างเร่งด่วน อาศัยทั้งงบประมาณ องค์ความรู้ เครือข่าย เรามองไปที่เด็กที่เข้าไม่ถึงอุปกรณ์การเรียนออนไลน์หรืออินเทอร์เน็ตเป็นหลัก เพราะเหมือนเขาถูกตัดขาดออกไป ทั้งการเรียนหรือพัฒนาการไม่ถูกกระตุ้นอย่างเหมาะสม ความรู้เก่าที่เคยเรียนก็หดหาย เราจึงต้องมีเครื่องมือที่ทำขึ้นเพื่อช่วยในส่วนนี้ให้ได้ นี่คือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ กสศ.มองเห็นร่วมกัน และสามารถนำจุดแข็งของหน่วยงานมาผสานให้เกิดผลสำเร็จ คือถุงการเรียนรู้ปันยิ้มชุดนี้”

การสนับสนุนในลักษณะฉุกเฉินเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ เพราะหลังจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมองถึงการทำงานต่อเนื่องในระยะถัดไป โดยหากโรงเรียนยังเปิดไม่ได้ในเร็ววัน หรือเปิดได้แต่ยังจัดการเรียนการสอนไม่ได้เต็มรูปแบบ จำเป็นต้องมีการนำกลยุทธ์อื่นๆ เข้ามาเสริม อาทิ สร้างกลไกการเรียนรู้ในชุมชน หรือพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ช่วยเด็กให้เรียนจากที่บ้านได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการออกแบบสื่อการสอนที่ยั่งยืน เหมาะสมกับสถานการณ์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน

“การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กเล็กๆ แต่เรามีจำนวนเด็กปฐมวัยหรือชั้นอนุบาลจำนวนมาก ดังนั้นประเด็นสำคัญคือนอกจาก ‘สื่อการเรียน’ เราต้องมีครูหรืออาสาสมัคร ผู้นำสารไปสื่อกับเด็ก แนะนำวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เพื่อให้เครื่องมือสร้างประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ในภาพใหญ่กว่านั้น สังคมเรากำลังต้องการความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร ที่จะมาประสานงานกัน นำความถนัดและทรัพยากรที่แตกต่าง เพื่อมุ่งความช่วยเหลือไปยังฐานข้อมูลและงานวิจัยที่ กสศ. เป็นผู้ชี้เป้า เมื่อแผนงานที่เราช่วยกันทำส่งผลให้การศึกษาสามารถเดินต่อ ก็จะยิ่งส่งต่อไปถึงเด็กในหลากหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น”

พัฒนา ‘ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่’
เพื่อรับมือกับการศึกษาในภาวะโรคระบาด

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม หนึ่งในเครือข่ายโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (TSQP) ของ กสศ. กล่าวว่า มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮมมีประสบการณ์การปรับรูปแบบการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ที่คำนึงถึงความพร้อมของเด็กในเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่เรียน และผู้ปกครอง เพื่อออกแบบวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้น และแต่ละความพร้อมของเด็กแต่ละกลุ่ม 

โดยหนึ่งในนั้นคือการออกแบบสื่อการเรียนรู้ ‘Learning Box’ ที่แบ่งตามระดับชั้น ประกอบด้วยชุดบทเรียน อุปกรณ์การเรียน และเครื่องมือช่วยผู้ปกครองให้สามารถพาเด็กๆ ทำกิจกรรม

ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร
ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม

“ตัวอย่างของบทเรียนใน Learning Box เช่น ในชั้นอนุบาลเราเน้นเสริมพัฒนาการ ทักษะชีวิต โภชนาการ ดึงผู้ปกครองเข้ามาช่วยประเมินผลตามสภาพจริง จากชุดเกม บัตรคำ ออกแบบให้เรียนรู้บทเรียนได้เป็นรายสัปดาห์ นอกจากนี้ยังทำงานร่วมกับชุมชน ผ่านครูในพื้นที่ ผู้ปกครอง หรือนักเรียนรุ่นพี่ ให้เป็นผู้ช่วยแนะนำการเรียนรู้

“หัวใจของสื่อการเรียนรู้ที่เราส่งถึงมือเด็ก คือการสร้างการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้เด็กตั้งคำถามกับสภาพแวดล้อมรอบตัว เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างพื้นฐานเรียนรู้ด้วยตนเอง เพราะประโยชน์ที่ตามมาจะไม่ใช่แค่เพียงการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤต แต่ยังหมายถึงช่วงเวลาสำคัญในการวางระบบการศึกษายุคใหม่ ที่เด็กจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ โดยครูทำหน้าที่ออกแบบวิธีการและให้คำปรึกษา”

ดร.นรรธพรกล่าวว่า นับจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาต้องมองไปที่อนาคต โดยแม้ถึงวันโรงเรียนเปิดได้แต่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่กับทุกคนต่อไป การจัดการเรียนการสอนต้องคำนึงถึง ‘ความยืดหยุ่น’ และ ‘ความแตกต่าง’ ในแต่ละบริบทพื้นที่ 

การส่งมอบเครื่องมือการเรียนรู้ให้เด็ก สามารถนำมาพัฒนาต่อได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน บทเรียนจากช่วงเวลานี้จะทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน สามารถร่วมกันวางกรอบความคิด มองหาสิ่งจำเป็นที่จะบรรจุลงในชุดการเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมการศึกษาซึ่งสามารถใช้ซ้ำในระยะยาวได้

“ชุดการเรียนรู้เคลื่อนที่คือการเปิดโอกาสให้การศึกษาเดินทางออกไปพ้นจากห้องเรียน ทำให้เด็กเรียนรู้ได้จากที่บ้านหรือที่ใดๆ ก็ตามที่เขาพร้อม สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเพิ่มสมรรถนะครูและโรงเรียนให้ออกแบบชุดการเรียนรู้ที่เด็กนำไปต่อยอดกับสภาพแวดล้อมรอบตัวของเขาได้ นี่คือสิ่งที่วิกฤตเข้ามากระตุ้นเราให้ตระหนัก และพร้อมขยับไปตามทิศทางของระบบการศึกษาในโลกปัจจุบัน”

“เครื่องมือที่ไปถึงเด็กๆ ได้ถูกที่ ถูกเวลา”

‘ครูจิ๋ว’ ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่าสถานการณ์ของเด็กในชุมชนและไซต์งานก่อสร้างแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เด็กที่เผชิญกับความขาดแคลนจากภาวะที่ผู้ปกครองไม่มีงานทำ 2. เด็กที่ผู้ปกครองหรือตนเองถูกกักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม และ 3. เด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดติดเชื้อ ทำให้ต้องกักตัวสังเกตอาการที่บ้าน 

‘ครูจิ๋ว’ ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการครูข้างถนน
มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

น้องๆ เหล่านี้ไม่เพียงเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ แต่ยังถูกตัดขาดจากโอกาสเรียนรู้และการกระตุ้นพัฒนาการ เนื่องจากช่องทางที่จำกัดในการเข้าถึงเครื่องมือเรียนออนไลน์ การที่ กสศ.และตลาดหลักทรัพย์ฯ มอบถุงยังชีพควบคู่กับถุงปันยิ้ม จึงเท่ากับว่าได้นำช่วงเวลาที่เด็กๆ จะได้เรียน ได้เล่น ได้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์มาสู่พวกเขาอีกครั้ง

“สิ่งที่เราส่งมอบให้เด็กต้องแยกออกเป็นสองเรื่อง อย่างแรกคือถุงยังชีพ จำเป็นมากๆ เพราะหมายถึงเด็กและครอบครัวเขาจะได้มีอาหารกินในแต่ละวัน สองคือ ถุงการเรียนรู้ปันยิ้ม ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่เด็กหลายคนไม่ได้จับ ไม่ได้อ่านเลยตั้งแต่โรงเรียนปิด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เรียนออนไลน์ไม่ได้ พอได้รับไป พ่อแม่ผู้ปกครองเขาก็บอกว่าเด็กตื่นเต้นดีใจ เพราะจะได้อ่านนิทาน ได้ระบายสี มีขนมกิน เรามองว่ามาได้ถูกที่ถูกเวลา อย่างน้อยที่สุดเด็กหยุดเรียนมานาน เขาต้องได้รับการเสริมทักษะ ได้หยิบ ได้จับลากเส้นขีดเขียน พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็ก แล้วต้องบอกว่าเด็กๆ ในชุมชนเหล่านี้ แค่ลำพังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็กระทบกับเขาหนักมากแล้ว เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ การได้รับความเอาใจใส่ ความห่วงใยด้านการศึกษาที่มาในรูปแบบของถุงการเรียนรู้ถือว่าช่วยให้พวกเขาไม่ห่างหายจากบรรยากาศการศึกษาเล่าเรียนไกลเกินไป เพราะถ้าวันหนึ่งที่เขาต้องกลับไปโรงเรียนเรียนแล้วความรู้ถดถอยจากเพื่อนไปมาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาอย่างถาวร”

‘กำลังใจ’ ให้น้องมีแรงสู้ต่อไป

กานตา มาตฤเนตร คุณแม่ของน้องมาตา ชั้น ป.6 กับน้องเนรมิต ชั้น ป.3 หนึ่งในครอบครัวที่เพิ่งผ่านสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งบ้าน ก่อนรับคำปรึกษาจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ซึ่งร่วมกับ กสศ. ในฐานะศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จนหายเป็นปกติ ทั้งยังเป็นเด็กกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับถุงปันยิ้ม

“เด็กๆ เรียนออนไลน์มาหลายเดือนแล้ว เราเห็นเลยว่าเขาเครียด กังวล ไม่มีสมาธิ ยิ่งนับจากวันที่รู้ผลตรวจว่าติดเชื้อ สภาพจิตใจเขายิ่งแย่ลง ตกใจ ร้องไห้ กลัวว่าต้องไปโรงพยาบาลแล้วไม่ได้กลับ แล้วพอมีเรื่องกระเทือนจิตใจหนักๆ เขาก็ยิ่งเบื่อการเรียน ทั้งที่ปกติน้องสองคนเขาตั้งใจและมีผลการเรียนดีทั้งคู่ ส่วนเราเองเป็นแม่ มองว่าการเรียนออนไลน์แทบจะไม่ตอบโจทย์เลย คือสภาพแวดล้อมมันไม่ได้ บางทีเขาเรียนไปด้วยนอนไปด้วย แอบเล่นเกมบ้าง เราก็ไม่มีเวลาที่จะดูแลเขาได้ตลอด

“จนวันที่เขาหายป่วยแล้วได้ถุงปันยิ้มจากพี่ๆ อาสา กสศ. เด็กๆ ดีใจกันมาก เขาเปิดออกมาดูก็ยิ้ม หัวเราะกัน เอาของที่ได้มานั่งเรียง ถ่ายรูปกันทีละชิ้น มีหนังสือนิทาน หนังสือภาพสารคดี มีของเล่น พี่น้องเขาก็ได้เล่น ได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ไม่เห็นลูกสดใสร่าเริงแบบนี้มานานแล้ว

“นอกจากการเรียนรู้ คิดว่าเป็นเรื่องของกำลังใจ สิ่งนี้สำคัญมากๆ สิ่งที่อยู่ในถุงอาจจะเป็นแค่นม ขนมกล่องเล็กๆ สีไม้หนึ่งกล่อง แต่ในสถานการณ์อย่างนี้นี่คือพลังที่จะช่วยให้เด็กๆ มีแรงต่อสู้กับโควิด-19 ได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นก็ลูกของเราเอง ตอนเขารู้ว่าตัวเองติด เขากลัวมาก เหมือนโลกล่มสลาย ถึงหายป่วยแล้วจิตใจก็ไม่เหมือนเดิม แต่วันที่ถุงการเรียนรู้มาส่ง ตรงกับวันเกิดเขาพอดี เชื่อไหมว่าเขาลุกขึ้นมาตั้งใจกินข้าว กินยา สนใจการเรียนมากขึ้น พอมีเวลาเขาก็จะชวนน้องมาอ่านหนังสือนิทาน มาระบายสีกัน นี่คือสิ่งที่เราเห็นด้วยตาตัวเองว่าถุงปันยิ้ม ได้ช่วยเอารอยยิ้มกลับคืนมาให้ลูกเราได้จริงๆ”