อังกฤษออกคู่มือแนะแนวฉบับปรับปรุงสังเกตสัญญาณทำร้ายตนเอง
โดย : Philippa Roxby - BBC
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

อังกฤษออกคู่มือแนะแนวฉบับปรับปรุงสังเกตสัญญาณทำร้ายตนเอง

อังกฤษออกคู่มือแนะแนวฉบับปรับปรุงใหม่สำหรับเจ้าหน้าที่และนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อสังเกตสัญญาณพฤติกรรมของคนที่เสี่ยงทำร้ายตนเอง โดยคู่มือฉบับใหม่นี้ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รวมเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนและเรือนจำทั่วอังกฤษและเวลส์ ให้ร่วมทำหน้าที่ช่วยระบุตัวบุคคลที่เสี่ยงทำร้ายตนเอง หลังมีรายงานว่านักเรียนและนักโทษมีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง ซึ่งหมายรวมถึงการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ทีมผู้เชี่ยวชาญที่อยู่เบื้องหลังการจัดทำคู่มือในครั้งนี้กล่าวว่า คนทุกคนล้วนมีส่วนร่วมในการช่วยจัดการปัญหาการทำร้ายตนเองที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ได้เป็นแค่หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเท่านั้น

ขณะที่องค์กรการกุศลด้านสุขภาพจิตกล่าวสนับสนุนคู่มือฉบับใหม่ เพราะจะช่วยให้คุณครูสามารถช่วยเหลือเยาวชนได้ พร้อมเตือนว่า โรงเรียนทั่วอังกฤษในขณะนี้ต้องการแรงสนับสนุนทางด้านสุขภาพจิตมากขึ้นเรื่อยๆ

เว็บไซต์สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า คู่มือฉบับนี้เป็นแนวทางปฏิบัติใหม่ฉบับแรกที่จัดทำโดย National Institute for Health and Care Excellence (NICE) ในรอบ 11 ปี และจะมีการสอบถามความเห็นกับสาธารณะเกี่ยวกับคู่มือแนวทางดังกล่าวจนถึงวันที่ 1 มีนาคม

สำหรับการทำร้ายตัวเองคือพฤติกรรมที่ใครสักคนจงใจสร้างความเสียหายหรือทำร้ายร่างกายของตนเพื่อพยายามรับมือกับความทุกข์ทางอารมณ์ หรือรู้สึกว่าการทำร้ายตนเองทำให้ตนเองสงบควบคุมได้ และมีอีกหลายกรณีหลายเหตุผลที่ตัดสินใจทำร้ายตนเอง

โดยจากการสำรวจในปี 2017 พบว่า วัยรุ่นหญิง 1 ใน 5 และวัยรุ่นชาย 1 ใน 10 อายุระหว่าง 17-19 ปี เคยทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย และในกลุ่มเด็กอายุ 11-16 ปี แบ่งเป็นเด็กหญิง 7% และเด็กชายมากกว่า 3% ซึ่งจัดเป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตจะมีแนวโน้มที่จะทำร้ายตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตัวเลขผลการศึกษาดังกล่าวอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น หมายความว่าตัวเลขจริงอาจมีมากกว่า เนื่องจากมีเพียงไม่กี่คนที่ไปโรงพยาบาลและปัญหามักถูกซ่อนไว้

เอลซ่า อาร์โนลด์ (Elsa Arnold) วัย 20 ปี จากอีสต์ ลอนดอน ยอมรับว่า เริ่มต้นทำร้ายตนเองครั้งแรกเมื่ออายุ 15 ปี เนื่องจากถูกกลั่นแกล้งรังแกที่โรงเรียน โดยเจ้าตัวรู้สึกว่าไม่สามารถปรับตัวกับชีวิตวัยรุ่นที่โรงเรียนได้ บวกกับแรงกดดันในเรื่องการเรียน ทำให้การทำร้ายตนเองยิ่งหนักข้อขึ้น

อาร์โนลด์เล่าว่า แรกเริ่มทางโรงเรียนแนะนำให้เข้าร่วมคอร์สบำบัด แต่เจ้าตัวปฏิเสธ เพราะรู้สึกว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และทำให้มีอาการหนักขึ้น จนเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า โชคดีที่สุดท้ายเธอตัดสินใจเข้ารับการบำบัดกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ อาร์โนลด์กล่าวว่า หนุ่มสาววัยรุ่นมักรอให้ตนเองไปจนถึงจุดวิกฤตก่อนจึงจะตัดสินใจขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ โดยในกรณีของตนเองหากได้รับการสนับสนุนที่ดีในช่วงวัยรุ่น ช่วงชีวิตในวัยนั้นย่อมเป็นความทรงจำที่ดีของตน

ปัจจุบันอาร์โนลด์กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยเจ้าตัวกล่าวว่า ไม่รู้สึกติดอยู่ในวังวน หรือถูกเข้าใจผิดเหมือนที่โรงเรียน และกำลังรณรงค์หาทุนสนับสนุนศูนย์เพื่อเยียวยาจิตใจสำหรับเด็กอายุ 11 ถึง 25 ปีทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งให้การสนับสนุนเยาวชนเมื่อต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจิตของตนเป็นครั้งแรก

ด้านศาสตราจารย์นาฟ คาปูร์ (Nav Kapur) ที่ปรึกษาการจัดทำคู่มือฉบับปรับปรุงใหม่ และเป็นศาสตราจารย์ด้านจิตเวชและสุขภาพประชากรแห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ กล่าวว่า “การทำร้ายตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็ตาม และคู่มือฉบับใหม่เป็นโอกาสในการแก้ไขปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในมุมมองที่จะประเมินสังเกตอาการเบื้องต้นและการให้การดูแลในภายหลัง”

สื่อท้องถิ่นอังกฤษรายงานว่า คู่มือแนะแนวฉบับใหม่จะขยายให้ครอบคลุมกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือทำงานในสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการดูแลสังคม และนักสังคมสงเคราะห์

ทั้งนี้ สาระสำคัญสำหรับคู่มือฉบับใหม่ก็คือการให้แนวทางสำหรับใครก็ตามที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและบังเอิญพบกรณีการทำร้ายตนเอง ให้สามารถจัดการประเมินทางจิตสังคมโดยเร็วที่สุด ซึ่งแต่เดิมการกระทำดังกล่าวควรดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต โดยการประเมินเหล่านี้จะเป็นการพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดบุคคลนั้นจึงทำร้ายตัวเองและให้การรับรองว่าคนเหล่านี้จะได้รับการดูแลตามที่ต้องการ ในขณะเดียวกันก็ให้แนวทางสำหรับการแจ้งข้อมูลกับสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับสภาพของผู้ที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเอง

ขณะที่ ดร.พอล ไครสป์ (Paul Chrisp) แห่ง NICE กล่าวว่า “เป็นสิ่งสำคัญที่คณะกรรมการของเราได้เสนอแนะสำหรับสถาบันการศึกษาและกระบวนการทางอาญา โดยข้อมูลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าคนที่ทำงานในภาคส่วนเหล่านี้จะได้รับประโยชน์จากคำแนะนำที่ชัดเจนว่าพวกเขาควรช่วยเหลือผู้ที่ทำร้ายตนเองอย่างไร ซึ่งคู่มือนี้กำหนดแนวทางให้ทุกคนที่ทำร้ายตัวเองรู้ว่าจะได้รับการสนับสนุนและการรักษาที่พวกเขาต้องการ”

เอมมา โธมัส (Emma Thomas) จากองค์กรการกุศล YoungMinds ซึ่งทำงานขับเคลื่อนปัญหาสุขภาพจิตของคนหนุ่มสาว กล่าวว่า การระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 “ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนกลุ่มนี้ ทำให้หนุ่มสาวอังกฤษจำนวนมากต่างหันมาทำร้ายตัวเองมากขึ้น

“ก่อนโควิด-19 ระบาด 1 ใน 3 ของโรงเรียนไม่ได้ให้การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน ดังนั้นเราจึงเรียกร้องให้รัฐบาลลงทุนในการเปิดตัวทีมเหล่านี้ต่อไป และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนอื่นๆ” เอมมา โธมัส กล่าว

วิธีการสังเกตอาการทำร้ายตนเอง

– ลองมองหาบาดแผลและรอยฟกช้ำในจุดที่คาดไม่ถึง
– ให้ความใส่ใจกับคนที่นับถือตนเองต่ำ (low self-esteem) และคนที่ดูเหมือนจะไม่ยอมเข้าสังคม หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลุ่ม

วิธีหลีกเลี่ยงการทำร้ายตนเอง

– ลองพูดถึงความรู้สึกของคุณกับเพื่อน สมาชิกในครอบครัว หรืออาสาสมัคร
– ลองฝึกการหายใจให้สงบหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่รู้สึกผ่อนคลายเพื่อลดความรู้สึกวิตกกังวล
– ลองเขียนความรู้สึกของคุณลงบนกระดาษ โดยไม่จำเป็นต้องให้ใครอ่าน
– ดึงตัวเองออกจากความรู้สึกลบด้วยการไปทำกิจกรรมอื่น เช่น การออกไปเดินเล่น ฟังเพลง หรือทำอย่างอื่นที่คุณสนใจ

วิธีการบำบัดรักษาอาการทำร้ายตนเอง

– พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เช่น แพทย์ GP โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะหารือเกี่ยวกับทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือตนเองหรือเข้าหากลุ่มสนับสนุน
– สำหรับผู้ใหญ่ คู่มือแนะนำฉบับใหม่ได้แนะนำให้เสนอการบำบัดพฤติกรรมที่เรียกว่า Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT ซึ่งเป็นวิธีการทำจิตบำบัดรูปแบบหนึ่ง ด้วยการพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือแพทย์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความคิด ความเชื่อ หรือการรับรู้ของตนเองที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความจริง มีเป้าหมายเพื่อจัดการสภาวะอารมณ์และกระบวนการคิดที่เป็นปัญหา ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้กลับมาเป็นปกติหรือที่คล้ายกัน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่ทำร้ายตัวเองโดยเฉพาะ
– สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีปัญหาทางอารมณ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมักเป็นสัญญาณที่บ่งชี้พฤติกรรมจะทำร้ายตัวเอง คู่มือแนะนำฉบับใหม่ระบุว่า ให้ลองพิจารณาประยุกต์ใช้การบำบัดรักษาแบบพฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี หรือ Dialectical behavior therapy (DBT) เป็นจิตบำบัดที่ออกแบบเพื่อช่วยให้เปลี่ยนรูปแบบพฤติกรรมที่ไร้ประโยชน์ เช่น การทำร้ายตัวเอง การคิดถึงการฆ่าตัวตาย และการติดสารเสพติด โดยวิธีนี้ช่วยให้ควบคุมอารมณ์และความคิดของตนได้มากขึ้น โดยเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปฏิกิริยา และช่วยประเมินว่าจะใช้ทักษะเช่นไรในการรับมือกับลำดับเหตุการณ์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์

ที่มา : Self-harm guidance to include advice for schools and prisons