กสศ. เปิดผลวิจัย School Readiness เผยสถานการณ์ล่าสุด “เด็กปฐมวัยอยู่ในภาวะเรียนรู้ถดถอยอย่างหนัก”
ชวนคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย-สถาบันผลิตครู ร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ก่อนสูญเสียเด็กทั้งรุ่น

กสศ. เปิดผลวิจัย School Readiness เผยสถานการณ์ล่าสุด “เด็กปฐมวัยอยู่ในภาวะเรียนรู้ถดถอยอย่างหนัก”

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดแถลงข่าว พลังฐานข้อมูล เครื่องมือสร้างความเสมอภาคสู่สังคม ปิดทุก GAP “Learning Loss สู่ Learning recovery” หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) : ดึงพลังทุกฝ่ายร่วมฟื้นฟูการเรียนรู้ เพื่อนำเสนอข้อมูลความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย จากการติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทุกมิติ จนเกิดผลลัพธ์ที่ส่งต่อเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติด้วยพลังความร่วมมือจากทุกฝ่ายมาร่วมกันฟื้นฟูการเรียนรู้ หยุดการสูญเสียเด็กทั้งรุ่น

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ได้ให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัยนับเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญหนึ่งของ กสศ. เช่นกัน โดยเด็กควรได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ช่วงปฐมวัยเป็นช่วงทองของชีวิตที่จะมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในทุกด้าน เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงตลอดชีวิต ดังนั้น การพัฒนาและการลงทุนในเด็กปฐมวัย จึงมีความสำคัญสำหรับทุกครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ซึ่งปัจจุบัน กสศ. ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ช่วยเหลือเด็กปฐมวัยยากจนในโรงเรียนอนุบาลผ่านทุนเสมอภาค พร้อมทั้งพัฒนากลไกเชิงระบบในจังหวัดต้นแบบเพื่อช่วยเหลือเด็กปฐมวัยนอกระบบอีกด้วย นอกจากนี้ กสศ. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาระบบฐานข้อมูลและงานวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นถึงในสถานการณ์สำคัญของกลุ่มเด็กปฐมวัย ทั้งระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data) ซึ่งเริ่มต้นเก็บมาตั้งแต่ปี 2558 และระบบฐานข้อมูลสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey)

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“กสศ. เป็นองค์กรที่มีความพร้อมในการเคลื่อนที่เร็วต่อการแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาในทุกมิติ ทั้งนี้ การดำเนินการสำรวจความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (school readiness) มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือของประเทศ ซึ่งเก็บข้อมูลลงลึกรายบุคคลและนำเสนอออกมาเป็นรายจังหวัด ในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของประชากรกลุ่มสำคัญคือ เด็กปฐมวัย โดยเครื่องมือนี้ได้ถูกใช้ตามวัตถุประสงค์แล้ว อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อได้จัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบบนฐานงานวิชาการทำให้เราพบว่า COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบเป็นรายบุคคลที่เกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) แต่ยังทำให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาขยายกว้างออกไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเรานำข้อมูล School Readiness มาวิเคราะห์ร่วมกับฐานข้อมูลนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ (CCT) และผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และการประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์มาจาก สพฐ. นั้นทำให้รู้ว่า เรารอไม่ได้อีกแล้ว ไม่เช่นนั้นประเทศจะต้องสูญเสียเด็กไปทั้งรุ่น หรือ Lost Generation ดังนั้น กสศ. พร้อมใช้พลังข้อมูล พลังเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมร่วมแก้วิกฤตสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามา เพื่อที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ให้เด็กและเยาวชนก้าวสู่ชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน” ดร.ไกรยส กล่าว

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา

ดร.สวัสดิ์ ภู่ทอง รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย และเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เป็นรากฐานของการพัฒนาชีวิต จึงต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัย ส่งผลให้คุณภาพของประชากรของประเทศดีขึ้น ในการดำเนินงานจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนบรรลุผลสำเร็จ ทำให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้านเต็มตามศักยภาพ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับเด็กปฐมวัยให้เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

รองเลขาธิการ สกศ. กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบและกลไกการบูรณาการสารสนเทศด้านเด็กปฐมวัยและการนำไปใช้ประโยชน์ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวกับเด็กปฐมวัยและการดำเนินการตามกฎหมาย ยุทธศาสตร์ที่ 6 การวิจัยพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ และยุทธศาสตร์ที่ 7 การบริการจัดการ การสร้างกลไก การประสานงานการดำเนินการ และการติดตามประเมินผล

“จากแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย แนวทางการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จทั้ง 7 ยุทธศาสตร์ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีภารกิจในการจัดการศึกษาและการพัฒนาเด็กปฐมวัย อีกทั้งสนับสนุนให้แต่ละหน่วยงานสามารถบูรณาการระหว่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 กับแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปจัดทำแผนปฏิบัติการ ทำให้การพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นไปอย่างมีเอกภาพและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบ แผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2564 – 2570 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางและเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแล พัฒนา และจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน” ดร.สวัสดิ์ กล่าว

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบัน RIPED
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า RIPED ได้ดำเนินงานร่วมกับ กสศ. เพื่อศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย อาทิ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย (Thailand School Readiness Survey: TSRS) การสำรวจข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data: ECLD) การพัฒนาศูนย์อบรมและครูปฐมวัยด้วยหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์จำนวนไม่น้อย สำหรับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (Thailand School Readiness Survey: TSRS) จะเป็นเครื่องมือเพื่อประเมินว่า เด็กปฐมวัยมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษาหรือไม่ โดยวัดทักษะพื้นฐานของเด็กปฐมวัยด้านภาษา ด้านคณิตศาสตร์ และ Executive Functions (EFs) พร้อมสำรวจข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนและสถานศึกษา โดยเครื่องมือนี้ ได้พัฒนาต่อยอดมาจากแบบประเมินภายใต้โครงการ Measuring Early Learning and Outcome หรือ MELQO ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การยูเนสโก (UNESCO) ธนาคารโลก (World Bank), Brookings Institution และ องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ปัจจุบันสำรวจไปได้ 73 จังหวัด เหลืออีก 4 จังหวัดจะเลื่อนไปสำรวจในช่วงต้นปี 2566

ข้อค้นพบจาก TSRS ที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ การปิดสถานศึกษาในช่วงการะบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน โดยดูได้จากผลเปรียบเทียบระดับความพร้อมฯ เฉลี่ยด้านวิชาการ[1] ที่ได้จากข้อมูลใน 3 ระยะ 3 ปีที่เราเก็บข้อมูลต่อเนื่องกัน ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลของกลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่มีการปิดเรียนอย่างยาวนานมีระดับความพร้อมฯ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่เก็บในปี 2563 ซึ่งยังไม่มีผลกระทบจากโควิด และกลุ่มเด็กเก็บในปี 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเล็กน้อย ดูรูปที่ 2 ประกอบ เมื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การปิดเรียนอย่างยาวนานจากโควิด-19 ส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีโอกาสเป็นเด็กหางแถวมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงในรูปที่ 3 และส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กปฐมวัยเพิ่มขึ้นอย่างมากอีกด้วย ดูรูปที่ 4 ประกอบ

นอกจากนี้ ด้วยการที่ RIPED และ กสศ. มีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยแบบกลุ่มตัวอย่างซ้ำ (Early Childhood Longitudinal Data: ECLD) จึงสามารถใช้ข้อมูลนี้ร่วมติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิเคราะห์และประเมินผลได้อย่างลึกซึ้งและสอดคล้องต่อสถานการณ์จริง ซึ่งพบประเด็นที่น่าสนใจว่า ถึงแม้ช่วงปิดสถานศึกษาจะทำให้เด็กปฐมวัยอยู่กับครัวเรือนมากขึ้น แต่จากข้อมูลพบว่า ครอบครัวอ่านหนังสือให้เด็กฟังน้อยลง โดยจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยของจำนวนวันต่อสัปดาห์ที่ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กปฐมวัยในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เปรียบเทียบกับก่อนการระบาดลดลงอย่างชัดเจน ดูรูปที่ 5 ประกอบ ยิ่งไปกว่านั้น เด็กก็อ่านหนังสือเองน้อยลงอย่างชัดเจนด้วย รูปที่ 7 และ 8 ในขณะที่ รูปที่ 9 เด็กใช้เวลากับหน้าจอ (screen time) เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในที่นี้นับเฉพาะเวลาที่เด็กเล่นเกมส์หรือดูรายการ แต่ไม่รวมเวลาเรียนออนไลน์

ข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ระดับเศรษฐฐานะของครอบครัวมีความสัมพันธ์กับความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย รูปที่ 10 ซึ่งหมายความว่า เด็กปฐมวัยจากครอบครัวที่ยากจนกว่ามีความพร้อมฯ ต่ำกว่า และเมื่อนำข้อมูลสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปี 2563 (ปีการศึกษา 2562) เชื่อมโยงกับข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับเงินอุดหนุนจาก กสศ. ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า เด็กยากจนพิเศษมีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 5.7 และร้อยละ 4.2 ของคะแนนเต็ม (ร้อยละ 7.7 และร้อยละ 8.7 ของคะแนนเฉลี่ยแต่ละด้าน) ในขณะที่เด็กยากจน มีระดับความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไปประมาณร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.5 ของคะแนนเต็ม (ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 7.2 ของคะแนนเฉลี่ยแต่ละด้าน) ดูรูปที่ 11 ผลการวิเคราะห์ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความยากจนหรือความขัดสนมีผลต่อความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อนำข้อมูลสถานะความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยที่สำรวจในปี 2563 (ปีการศึกษา 2562) ไปเชื่อมโยงกับผลการทดสอบการอ่าน (Reading Test หรือ RT) ของ สพฐ. ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม 2564 (ปีการศึกษา 2563) ผลการวิเคราะห์เชิงลึกชี้ว่า ชุดเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการ TSRS มีความสามารถในการพยากรณ์ผลการทดสอบการอ่าน (RT) ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเห็นได้ว่า เด็กปฐมวัยที่มีความพร้อมฯ ด้านคณิตศาสตร์และด้านภาษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 มีแนวโน้มที่จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านออกเสียงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.46 และร้อยละ 0.40 ของคะแนนเต็ม และ จะมีผลการทดสอบการอ่านด้านการอ่านรู้เรื่องเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.28 และร้อยละ 0.23 ของคะแนนเต็ม ดูรูปที่ 12 ประกอบ ผลการวิเคราะห์ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัยมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญ และเครื่องมือสำรวจชุดนี้สามารถประเมินเด็กปฐมวัยได้อย่างเหมาะสมสำหรับการติดตามสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทยและติดตามความก้าวหน้าของประเทศไทยตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศด้านการศึกษา (SDG4)

จากข้อมูลที่ดำเนินการสำรวจในช่วงที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า 1) การปิดสถานศึกษาในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) กับเด็กปฐมวัยอย่างมาก 2) ความยากจนมีผลทำให้เด็กปฐมวัยได้ไม่เต็มศักยภาพหรือไม่มีความพร้อมฯ เท่าที่ควร 3) บ้านหรือครอบครัวยังขาดทักษะและความเข้าใจในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และ 4) เครื่องมือสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษา (School Readiness) ภายใต้โครงการ TSRS เป็นเครื่องมือประเมินเด็กปฐมวัยที่เหมาะสมสำหรับการติดตามสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศไทย

“วันนี้เราทุกคนได้รับบทเรียนที่สำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็กปฐมวัยที่ประสบกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) ที่รุนแรง น่าจะถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนควรจะร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน นโยบายระยะสั้นที่ควรจะเร่งดำเนินการคือ การเปิดเรียนให้นานและปิดให้น้อย เพื่อชดเชยเวลาคุณภาพที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา นโยบายระยะยาวที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูทักษะ คือ การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนระดับปฐมวัยโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสหรือเด็กยากจน ซึ่งจากที่ได้ดำเนินการพัฒนาครูปฐมวัยด้วยหลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ตามแนวทางไรซ์ไทยแลนด์ ภายใต้การสนับสนุนของ กสศ. ชี้ให้เห็นว่า ครูปฐมวัยเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็ก และสนับสนุนให้เกิดแนวทางการสอนที่มีประสิทธิภาพ เช่น การสอนแบบไฮสโคป ไปประยุกต์ใช้ได้จริง จึงน่าจะเป็นคำตอบสำคัญสำหรับการฟื้นฟูทักษะให้กับเด็กปฐมวัยและการยกระดับคุณภาพการศึกษาปฐมวัยในอนาคต”

ส่วนบทเรียนเกี่ยวกับความขัดสนของครอบครัวและความพร้อมฯ ของเด็กปฐมวัย อาจต้องพิจารณาการสนับสนุนหรืออุดหนุนเด็กปฐมวัยอย่างเร่งด่วน เพราะความพร้อมฯ ของพวกเขามีผลต่อความสำเร็จด้านการเรียนในอนาคตอย่างมาก โดยความยากจนหรือการมีทรัพยากรที่จำกัดอาจส่งผลให้ครัวเรือนไม่สามารถมอบการเลี้ยงดูเด็กได้ดีเท่าที่ควร เช่น กิจกรรมคุณภาพ เวลาคุณภาพ อุปกรณ์หรือหนังสือที่มีคุณภาพได้ โดยการขาดในแง่ของความรู้และทักษะอาจแก้ด้วยการพัฒนาทักษะให้ผู้ปกครอง (parenting education) หรือการยกระดับการศึกษาปฐมวัยให้มีคุณภาพมากขึ้นเพราะสถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมคุณภาพเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไปได้ไม่มากก็น้อย แต่หากเป็นการขาดอุปกรณ์อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการให้เงินช่วยเหลือครอบครัวเด็กปฐมวัยที่ขาดแคลน ดังนั้น เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายที่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่าอะไรคือกลไกสำคัญที่ทำให้ความยากจนมีผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัย นักวิจัยเชื่อว่า ข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำที่ดำเนินการสำรวจอย่างต่อเนื่องน่าจะสามารถช่วยไขปริศนานี้ได้ในอนาคตอันใกล้

ผศ.ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ
คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริวรรณ ฉัตรมณีรุ่งเจริญ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของการเป็นองค์กรที่พึ่งของท้องถิ่น ในเรื่องการผลิตและพัฒนาครู การส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของCOVID-19 ที่การจัดการเรียนสอนต้องมีการยกระดับแบบแบบฉับพลัน รวมทั้งกระบวนการผลิตครูฝึกหัดและพัฒนาครูประจำการในช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ห้องเรียนมิใช่ที่โรงเรียนแต่เป็นที่บ้าน และครูมิใช่ผู้สอนท่านเดียวแต่มีทีมสอนคือผู้ปกครอง ความท้าทายคือ จะปรับเปลี่ยนระบบการผลิตครูที่เน้นการใช้ห้องเรียนเป็นที่บ่มเพาะนักศึกษาร่วมกับการออกฝึกประสบการณ์วิชาชีพที่โรงเรียนนั้นไม่เพียงพอต่อการสถานการณ์โลกที่ได้รับผลกระทบจนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ขณะนี้บริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกันทั้งในเรื่องความพร้อมของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง ดังนั้นการพัฒนาครูประจำการให้มีความพร้อมในองค์ความรู้ ทักษะและคุณลักษณะของครูในศตวรรษที่ 21 เสมือนการติดอาวุธให้กับครูฝึกหัดที่อยู่ในระบบการผลิต และครูประจำการที่อยู่ในสถานศึกษาให้เป็นครูที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มีการเรียนรู้ตลอดเวลา ฉลาดรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำงานเป็นทีมในชุมชนได้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริวรรณ กล่าวอีกว่า มรภ.ภูเก็ต ได้มีโอกาสร่วมดำเนินงานกับ กสศ. ใน 2 โครงการ คือ โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตครูระบบปิดและเตรียมพร้อมครูในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน สร้างครูที่มี Soft Skill และมีเทคนิควิธีการสอนและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับการมีความรู้ในหลักวิชาการ ในขณะเดียวกันโรงเรียนปลายทางจะมีผู้บริหาร และครูที่ได้รับการส่งเสริมโดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันผ่านชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ เกิดทีมทำงานในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียนโดยมีทีมหนุนนำอย่างต่อเนื่อง (Teacher Coaching) จากสถาบันการผลิตครูที่ได้รับการสนับสนุนจาก กสศ. และ โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบการพัฒนาวิชาชีพครู (School Professional Development: SPD) สำหรับการพัฒนาครูประจำการและนักเรียนทั้งโรงเรียนโดยครอบคลุมทุกระดับชั้น เน้นการสนับสนุนจากทีมโค้ช (Q-Coach) มีการทำงานในลักษณะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน (Q-Network) โดยนำระบบ IT (Q-Info) มาเป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เพื่อให้โรงเรียนทำงานง่ายขึ้น สร้างโรงเรียนให้เป็น ชุมชนเรียนรู้เพื่อพัฒนาวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) ด้วยกระบวนการ Q-PLC เน้นการสร้างวงจรของการเรียนรู้ที่เป็นระบบและต่อเนื่องและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะของนักเรียน ช่วยเหลือนักเรียนที่มาจากครอบครัวด้อยโอกาส บ่มเพาะครูด้านจิตวิญญาณความเป็นครูและครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน นับว่า เป็นพื้นที่นำร่องที่เตรียมรับมือกับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ตรงจุดทั้งระบบการผลิตและระบบการพัฒนาครูอย่างครบถ้วน ดังนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ใดๆ เกิดขึ้นครูที่ได้จากกระบวนการผลิตและพัฒนาในแนวทางนี้ย่อมยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน เติมเต็มองค์ความรู้เสมอ และกล้าที่จะร่วมมือกับชุมชน ซึ่ง ณ ตอนนี้ถ้ากล่าวถึง Learning Loss และ Social and Emotional Loss ที่โรงเรียนและผู้ปกครองต้องช่วยกันให้ข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อประเมินการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความไม่พร้อมหรือด้อยโอกาสทางการศึกษาสู่กระบวนการออกแบบกิจกรรมการจัดการเรียนรู้บูรณาการที่ช่วยเติมเต็มการเรียนรู้  การพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ของนักเรียน

เพื่อขับเคลื่อนการศึกษา ในสถานการณ์ที่เราทุกคนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 นั้น สิ่งที่สามารถทําได้ทันที เพื่อบรรเทาอุปสรรคและนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ท่ีดี คือการพัฒนาวิชาชีพครู ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอน เพื่อการขับเคลื่อนการศึกษา โดยมุ่งพัฒนาครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Professional Development) โดยคำนึงถึงบริบทและความต้องการของโรงเรียน นักเรียน และครูเป็นเป้าหมายของการพัฒนา โรงเรียนมีโอกาสในการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของตนเอง (School Goal) โดยใช้เครื่องมือประเมินผลเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation: DE) เพื่อในการวิเคราะห์สภาพปัญหา สถานการณ์และบริบทของโรงเรียน การถดถอยทางการเรียนรู้ ทักษะทางสังคมและอารมณ์ รวมถึงชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนและยกระดับการพัฒนาโรงเรียน ครู ผู้อำนวยการ ชุมชนและนักเรียนให้เกิดสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 ทั้งในมิติคุณค่า (Values) ทัศนคติและอุปนิสัย (Attitudes) ทักษะ (Skills) และความรู้ (Knowledge) รวมถึงมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศิริวรรณ กล่าว


[1] ทักษะทางวิชาการในที่นี้หมายถึงผลรวมของผลการทดสอบด้านภาษาและด้านคณิตศาสตร์ (คิดให้คะแนนเต็มเท่ากับ 100 คะแนน) ผลการวิเคราะห์นำไปสู่ข้อสรุปทำนองเดียวกันเมื่อแยกพิจารณาทักษะด้านภาษาและด้านคณิตศาสตร์ แต่เพื่อความกระชับจึงนำเสนอเฉพาะทักษะทางวิชาการเท่านั้น