พระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
ณ เซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์

พระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการประชุมรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 อีกครั้ง ด้วยได้มาเป็นหนึ่งในบรรดาครูและคณาจารย์ ตลอดจนเหล่าผู้บริหารโรงเรียน และนักการศึกษา ผู้มีชื่อเสียงจากทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดร่วมกับการประชุม PMCA ครั้งที่ 4 นี้

ซึ่งการประชุมที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำงานร่วมกันที่เข้มแข็งขึ้นระหว่างผู้กำหนดนโยบาย นักการศึกษา และทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อให้ความรู้แก่เด็กทุกคน รวมทั้งกลุ่มที่ด้อยโอกาสและกลุ่มชายขอบ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 4 ของสหประชาชาติ (Goal 4 of the UN Sustainable Development Goals)

ขณะนี้ เราต่างตระหนักดีถึงความท้าทายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการเรียนรู้ สุขภาพ และสวัสดิภาพของนักเรียนทั่วโลก กระนั้นก็ตาม วิกฤตการณ์ดังกล่าวก็ได้เป็นการนำนวัตกรรมด้านการสอนและการเรียนรู้เข้ามาทดแทนการสอนแบบเดิม ๆ ในห้องเรียน  โดยในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา นโยบาย และแนวปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าคนทุกคนจะเข้าถึงและได้รับการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 

ข้าพเจ้ามีความมั่นใจทุกประการว่าการแบ่งปันและเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในหมู่สมาชิกในภูมิภาคภายใต้การประชุมครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นี้ ซึ่งภายใต้บริบทความท้าทายนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ครู คือผู้มีบทบาทและอยู่ในความสนใจในฐานะผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อการแก้ปัญหาการกู้คืนฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูทั้งหลายถูกคาดหวังให้ใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การสนับสนุนด้านอารมณ์และสังคมแก่นักเรียนของตน รวมถึงเพื่อให้ตนเองได้เข้าถึงผู้ที่มีความเสี่ยงจะถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลังมากที่สุด 

กล่าวได้ว่า ครูคือหัวใจของการตอบสนองต่อการศึกษาในยุควิกฤตโควิด-19 ทั้งนี้  บทบาทของครูในด้านการศึกษาเป็นมากกว่าการสอนในโรงเรียน เพราะครูยังต้องทำหน้าที่ของผู้ปกครองภายนอก ผู้ฝึกสอน ผู้ให้คำปรึกษา ผู้ให้คำปรึกษา และแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียน ครูมีหน้าที่รับผิดชอบในการพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างปลอดภัย ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน และครูยังต้องปรับปรุงสื่อการเรียนรู้แบบตัวต่อตัวเพื่อใช้ในการสอนออนไลน์หรือในรูปแบบการเรียนรู้แบบผสมผสาน ซึ่งในการที่จะทำเช่นนั้นได้ บรรดาหลักสูตร วิธีการสอน สื่อการเรียนรู้ และแบบประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนจะต้องเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มออนไลน์ที่กลายเป็นนิวนอร์มัล (New Normal) แล้ว ครูต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษา กล่าวคือ นักเรียนมีความสามารถมากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีสุขภาพดี

เพื่อช่วยให้ครูรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น หลายฝ่ายต้องช่วยกันให้การสนับสนุนครูทั้งหลายด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ตลอดจนจัดการฝึกอบรม และนโยบายที่เหมาะสม ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่งานประกาศรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ได้จัดให้มีเวทีสำหรับผู้ได้รับรางวัล PMCA ประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวน 11 คน เพื่อแสดงนวัตกรรมการสอนของทุกท่าน

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอขอบใจกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ กรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และพันธมิตรทั้งหลาย และขอให้งานประกาศรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง บัดนี้ ข้าพเจ้าขอประกาศเปิดงานประกาศรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 และการประชุมนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 2

ขอขอบใจทุกท่านอย่างยิ่ง