เมื่อจังหวัดภูเก็ต “ยากจนเฉียบพลัน” และเด็ก “หายไปจากระบบการศึกษา” 10%

เมื่อจังหวัดภูเก็ต “ยากจนเฉียบพลัน” และเด็ก “หายไปจากระบบการศึกษา” 10%

ใครจะเชื่อว่าเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตจะ “ยากจนเฉียบพลัน”

อัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า

“ภูเก็ตจากเมืองท่องเที่ยวมีรายได้ดี รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เก็บข้อมูลตัวเลข ชี้ว่ารายได้ต่อคนต่อเดือนของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์คนจนทั่วประเทศไทยของ จปฐ. ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท”

“สิ่งที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัสเรียกว่าจนเฉียบพลัน พ่อแม่ผู้ปกครองตกงานตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วถึง 13 – 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรแฝงกว่า 4 แสนคน พอเกิดโควิดตกงานต้องกลับภูมิลำเนากว่า 50,000 คน ส่งผลตัวเลขกลับด้านอย่างมีนัยสำคัญ คือ คนที่เคยเรียน กศน. เคยทำงานในโรงแรมส่งตัวเองเรียน หรือฝึกอาชีพเพิ่มเติม เมื่อถูกพักงาน อัตราคนเรียนต่อ กศน.น้อยลง จากเดิมปี 2562 สมัคร 1,800 คน วันนี้เหลือเพียง 170 คน นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กหายไปจากระบบเมื่อวันเปิดเทอมที่ผ่านมา 10 เปอร์เซ็นต์ และยังมีกลุ่มที่มีโอกาสหลุดจากระบบในช่วงสิ้นภาคเรียนที่ 1 อีก ที่ยังต้องประเมินอีกครั้ง”

บทบาทของสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทยและภาคีเครือข่าย

สมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย เป็น Core Team มีภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และยังได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ภารกิจต่อปัญหา “ยากจนเฉียบพลัน” นั้นเป็นงานเร่งด่วน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่มีรายได้การทำธุรกิจท่องเที่ยวเป็นหลัก เมื่อไม่มีรายได้ส่งผลให้เด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ตมีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา

ทางโครงการฯ จึงพัฒนากลไกให้พร้อมสำหรับการทำงาน โดยมีกลไกด้านพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้านพัฒนาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ด้านพัฒนาเด็กกลุ่มเสี่ยง ด้านประชาสัมพันธ์ ติดตามประเมินผล การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาระบบข้อมูล

กลไกสำรวจและช่วยเหลือระดับอำเภอและตำบล คือ ครู กศน. ทำหน้าที่สำรวจและเป็น CM (Case manager) โดยมี อสม. และ อพม. ในพื้นที่เป็นมดงานคอยช่วยเหลือและสำรวจเชิงลึกให้ด้วย ช่วยแบ่งเบาการทำงานให้ครู กศน. ประกอบกับช่วงโควิด-19 ครู กศน. ลงพื้นที่ไม่ได้ มดงานในพื้นที่จึงช่วยเติมเต็มงานส่วนนี้ได้

มีภารกิจร่วมกันเพื่อช่วยสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม คือ

1. เด็กปฐมวัย ตั้งเป้าหมายสำรวจที่ 3,217 คน คัดกรอง 3,124 คน ได้รับความช่วยเหลือแล้ว 363 คน จากเป้าหมายช่วยเหลือ 880 คน

2. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่ต้องการพัฒนาศูนย์ทั้งหมด 35 อำเภอ จาก 19 อปท.

3. เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ตั้งเป้าหมายสำรวจ 3,851 คน สำรวจแล้ว 1,365 คน ช่วยเหลือแล้ว 157 คน ในจำนวนเด็กนอกระบบที่ช่วยเหลือแล้ว มีเด็กเสี่ยงหลุดจากนอกระบบการศึกษา 40 คน รวมอยู่ด้วย

โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ฯ สามารถขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี นอกจากทีมงานหลักแล้ว ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ที่มองเห็นความสำคัญของการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็ก ๆ ในจังหวัดภูเก็ต ทำให้เกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมนำไปสู่การบรรจุเป็นแผนงานระดับจังหวัด เกิดการบูรณาการทำงานในระดับพื้นที่ทั้ง 19 อปท. เพื่อร่วมกันทำงานช่วยเหลือสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับลูกหลานภูเก็ตต่อไป

ช่วยเคสกำลังจมน้ำให้ได้ก่อนและขยายผลไปสู่ความร่วมมือกับหลายภาคส่วน

อัญชลี วานิช เทพบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เรากำลังช่วยเคสกำลังจมน้ำให้ได้ก่อนซึ่ง กสศ. ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดี เรามีภาคีเครือข่ายเยอะ ก็พยายามส่งต่อพยายามช่วย เพราะตอนนี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูกลดทอนไปเยอะ มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเยอะ”

ล่าสุดภูเก็ต-พิษณุโลกประกาศจับมือ กสศ. เป็นจังหวัดทดลองระดมทุกหน่วยรุกเฝ้าระวัง ป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา

“สนับสนุนให้ปัญหาการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งสองสภาไม่ควรตัดงบประมาณ ไม่ใช่ที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด แต่งบที่ควรตัดกลับยกมือกันพรึ่บ กสศ. จะเป็นองค์กรหน้าด่านที่ดีที่สุด มีข้อมูล คุ้นเคยกับเด็กยากจน มีเครือข่ายองค์กรภาคีในพื้นที่ มีมดงาน หลายองค์กรที่มาช่วยกัน ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีจิตอาสาหัวใจเต็มร้อย โดยภูเก็ตจะทำงานร่วมกับ กสศ. เป็นแล็บทดลองแก้ปัญหาเรื่องนี้

“นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยื่นมือมาช่วย โดยเฉพาะเรื่องทุนสนับสนุนเพิ่มเติม อย่าให้เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา และควรมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่โรงเรียนเอกชน เพื่อเติมลมหายใจ ไม่ต้องไปเคลียร์ลูกหนี้ เป็นการช่วยเด็กทางอ้อม ทั้งหมดนี้เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้เด็ก ๆ ครอบครัวจนเฉียบพลัน และจนถาวร ผ่านพ้นวิกฤตปีการศึกษา 2564 ให้ได้”

ที่มา :

1. [LIVE] EEF Forum:โอกาสทางการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน เมื่อการไปโรงเรียนมีต้นทุนสูงเกินครัวเรือนยากจนแบกรับ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564
2. ข้อมูล: เพจจังหวัดต้นแบบสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา