กลุ่มผู้ปกครองอังกฤษเตือนโรงเรียนเตรียมรับมือคลื่นความเครียดของนักเรียน
โดย : BBC News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

กลุ่มผู้ปกครองอังกฤษเตือนโรงเรียนเตรียมรับมือคลื่นความเครียดของนักเรียน

กลุ่มผู้ปกครองในอังกฤษออกโรงเตือนโรงเรียนให้เตรียมมาตรการรับมือกับความวิตกกังวล และความเครียดของนักเรียนทั่วประเทศ เนื่องจากคลื่นความวิตกดังกล่าวอาจรุนแรงหนักหน่วงถึงขั้นกระทบต่อการขาดเรียนของนักเรียนในระบบการศึกษาได้ พร้อมวอนขอผ่อนปรนบทลงโทษทางกฎหมายแก่พ่อแม่กรณีเด็กขาดเรียนไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม

สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า แม้ไม่มีบันทึกข้อมูลทางสถิติอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการขาดเรียนของเด็กนักเรียนเนื่องจากความวิตกกังวล แต่ก็มีรายงานระบุว่ามีนักเรียนในอังกฤษจำนวนไม่น้อยขาดเรียนเพราะวิตกกังวลและเครียดที่จะต้องมาเรียนในช่วงที่ยังมีวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กระบุว่า เด็กที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการไปโรงเรียนอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ และปวดหัว หรือมีอาการวิตกกังวลหนักถึงขนาดที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ตื่นตระหนก หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ 

ขณะเดียวกัน นักเรียนบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นขู่ว่าจะทำร้ายตัวเองหากพ่อแม่บังคับให้ไปโรงเรียน ซึ่งแม้พ่อแม่ผู้ปกครองอยากจะตามใจลูกๆ มากแค่ไหน แต่ด้วยกฎหมายของรัฐบาลที่ระบุว่า พ่อแม่มีสิทธิ์ถูกปรับและดำเนินคดีในศาลได้หากไม่ส่งลูกมาเรียนหนังสือ ยิ่งทำให้สถานการณ์การศึกษาในอังกฤษเลวร้ายมากขึ้น 

งานนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญและองค์กรอิสระเพื่อพ่อแม่ผู้ปกครองทั่วอังกฤษได้ออกมาเรียกร้องให้ทางโรงเรียนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หามาตรการช่วยเหลือสนับสนุนพ่อแม่ในการรับมือกับอาการวิตกกังวลของเด็กเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากโครงการของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษที่จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือจำนวน 17 ล้านปอนด์มาก่อนหน้านี้ โดยงบของกระทรวงนั้นได้ลงทุนจัดสรรแนวทางเพื่อดูแลสุขภาพจิตของเด็กๆ และจัดซื้อเครื่องมือแก่โรงเรียนโดยเฉพาะ 

ฟราน มอร์แกน (Fran Morgan) คุณแม่ที่มีประสบการณ์รับมือกับภาวะวิตกกังวลในการไปเรียนของลูกสาวได้จัดตั้งองค์กรสนับสนุนสแควร์เพ็ก (Square Peg) เพื่อช่วยเหลือครอบครัวอื่นๆ ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ระบุว่า จำนวนพ่อแม่ที่ขอรับคำปรึกษาและขอความช่วยเหลือในการจัดการกับความเครียดของเด็กเพิ่มมากขึ้นราวคลื่นยักษ์สึนามิที่ถาโถมเข้าฝั่ง อีกทั้งปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับความเข้าใจจากทางโรงเรียนอย่างดีพอ และมักถูกระบุว่าเป็นอาการงอแงปกติของเด็กที่ไม่อยากไปโรงเรียน 

ฟรานอธิบายว่า สำหรับเด็กบางคนนั้น อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะพวกเขาไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่ได้อยากทำอะไรแต่อย่างใด แต่เพราะร่างกายของเด็กกำลังได้รับผลกระทบจากความเครียด จนทำให้ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวหรือตอบสนองเพื่อไปโรงเรียนได้เหมือนคนอื่นๆ

“มันเป็นระดับความวิตกกังวลที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการต่อต้านการเข้าร่วม ซึ่งผลที่ตามมาสำหรับครอบครัวถือเป็นหายนะ” ฟรานอธิบาย โดยหายนะที่เกิดแก่ครอบครัวนั้น หมายรวมถึงการที่พ่อแม่หลายคนกำลังถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกปรับเนื่องจากลูกขาดเรียน ทั้งนี้ในอังกฤษนั้น มีกฎหมายสั่งปรับผู้ปกครองที่พาลูกไปเที่ยวระหว่างเทอมจนลูกไม่ได้เรียน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ากฎหมายดังกล่าวมีผลกระทบต่อพ่อแม่ที่ลูกอยู่ในภาวะเครียดผิดปกติอันเกิดจากวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา

“เราทราบปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตของเด็กๆ เด็กจำนวนมากเหล่านี้เป็นคนที่ลำบากในการเข้าเรียน และผู้ปกครองกำลังถูกลงโทษสำหรับเรื่องนั้น” ฟราน ระบุ 

ด้านแมตตี้ (Matty) วัยรุ่นชายวัย 16 ปีในเวสต์ยอกเชียร์ ยอมรับว่า หลังจากที่ไม่ได้ไปโรงเรียนนานถึง 18 เดือน เขาคิดถึงห้องเรียนและอยากไปโรงเรียนอย่างมาก แต่กลับเกิดอาการตื่นตระหนกแปลกๆ จนทำให้ไปเรียนไม่ได้ แถมเกิดอาการเครียดโดยไม่มีใครเข้าใจ เพราะส่วนใหญ่จะคิดว่าเจ้าตัวขี้เกียจและหาข้ออ้างไม่ไปเรียน จนบางครั้งทำให้แมตตี้คิดทำร้ายตนเองเผื่อคนอื่นจะได้เห็นใจมากขึ้นว่าเขาเจ็บป่วยยจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้จริงๆ 

ไฮดี้ มาเวียร์ (Heidi Mavir) คุณแม่ของแมตตี้ยอมรับว่า เธอต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับอาการของลูกชายอยู่นาน จนตระหนักได้ว่า เจ้าตัวอยากไปเรียนมากแค่ไหน แต่เพราะแมตตี้เครียดและวิตกกังวลจนทำให้ร่างกายเกิดอาการต่อต้าน ซึ่งไฮดี้ชี้ชัดว่าสิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตและความวิตกกังวลคือ การป่วยทางจิตใจที่แมตตี้เป็นนั้นไม่ต่างอะไรกับการป่วยทางกายที่ “หากคุณไม่สามารถทำอะไรได้ นั่นหมายความว่าคุณไม่สามารถทำได้จริงๆ ไม่ว่าจะพยายามอย่างดีที่สุดเพียงใด มันกลับไม่เกิดความแตกต่างได้เลย” 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไฮดี้ตัดสินใจส่งลูกชายไปยังโรงเรียนเฉพาะทางเพื่อจัดการกับความเครียดของแมตตี้โดยเฉพาะ 

นอกจากเรียกร้องให้ทางโรงเรียนเตรียมมาตรการรับมือกับภาวะความเครียดของเด็กนักเรียนแล้ว หลายฝ่ายยังออกโรงเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐ หมายรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับบทลงโทษพ่อแม่ในเรื่องการขาดเรียนของเด็กนักเรียน 

ไมค์ ชาร์ลส์ (Mike Charles) ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทกฎหมายซินแคลร์สลอว์ (Sinclairs Law) ทนายความผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการศึกษา กล่าวว่า ได้รับการติดต่อให้จัดการกับคำร้องขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวประมาณ 50 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นจำนวนที่ไมค์ยอมรับว่าเยอะมากที่สุดในประสบการณ์การทำงานทนายความตลอด 30 ปีที่ผ่านมาของตนเอง

“ความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรงเรียนและสุขภาพจิตของลูกๆ โดยทั่วไป เป็นปัญหาใหญ่มาหลายปีแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวก็เด่นชัดมากขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนื่องจากวิกฤตครั้งนี้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างมากนั่นเอง”

ขณะที่เบธ บอดี้โคต (Beth Bodycote) ผู้ก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนนอตไฟน์อินสกูล (Not Fine In School) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินการมา 4 ปีแล้ว กล่าวว่า ในช่วงราว 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงกันยายนปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่โรงเรียนถูกสั่งปิดและเกิดการระบาดครั้งใหญ่ จำนวนสมาชิกของกลุ่มเพิ่มขึ้นเกือบ 50% มาอยู่ที่ 17,924 คน

เบธเล่าว่า ขณะที่เด็กและคนหนุ่มสาวในอังกฤษจำนวนมากกำลังมีปัญหาสุขภาพจิต เกิดภาวะวิตกกังวล เครียด และซึมเศร้า แต่โรงเรียนหลายแห่งกลับกำลังใช้วิธีการที่เข้มงวดในการบังคับให้เด็กเข้าเรียน

“ค่าปรับและการดำเนินคดีในศาลยังคงเป็นภัยคุกคามต่อผู้ปกครองหลายคน ซึ่งการลงโทษเหล่านี้ไม่ได้ช่วยแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงของการขาดเรียนที่เกิดในเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในอังกฤษเลย” เบธกล่าว ก่อนเรียกร้องให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคลายมาตรการคุมเข้มที่ไร้ประโยชน์เกี่ยวกับการเข้าเรียนและควบคุมพฤติกรรมของเด็กนักเรียน ด้วยการหันมาใช้วิธีการที่ยืดหยุ่น และให้ความสำคัญแก่เด็กนักเรียนเป็นลำดับแรกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและวัยรุ่นกลุ่มที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนกับสภาวะยากลำบากต่างๆ 

ทั้งนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ไขก็คือ การที่ผู้ปกครองมักถูกขอให้แสดงหลักฐานการป่วยทางจิตใจของเด็ก แต่จดหมายรับรองของแพทย์ทั่วไปมักไม่เพียงพอ อีกทั้งหลายครอบครัวก็ยังเข้าไม่ถึงการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถมเด็กๆ ยังถูกปฎิเสธความช่วยเหลือ จนปัญหาสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการเยียวยาอีกด้วย

โดยขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอังกฤษเพียงให้คำแนะนำว่า “ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้ ผู้อำนวยการหรือครูใหญ่มีดุลยพินิจในการอนุญาตให้เด็กขาดเรียนได้ ดังนั้นจึงควรใช้ค่าปรับเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ส่วนกรณีที่นักเรียนไม่เข้าเรียน ทางโรงเรียน ครอบครัว และสภาโรงเรียนควรทำงานร่วมกันเพื่อตกลงแผนการเข้าเรียน เพราะห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษา การพัฒนา และความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเด็กเอง”

ที่มา : Parents warn of tsunami of school-anxiety cases