ส่องโมเดลยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และทักษะชีวิตของเด็กชายขอบ กลยุทธ์การขยายขนาดจากโครงการนำร่องสู่หลักสูตรระดับชาติในแทนซาเนีย
โดย : Patrick Hannahan, Jenny Perlman Robinson, Christina Kwauk
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ส่องโมเดลยกระดับคุณภาพการเรียนรู้และทักษะชีวิตของเด็กชายขอบ กลยุทธ์การขยายขนาดจากโครงการนำร่องสู่หลักสูตรระดับชาติในแทนซาเนีย

ก่อนที่โควิด-19 จะระบาดรุนแรงจนต้องปิดโรงเรียนหลายแห่งทั่วโลก โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูงสำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะยากดีมีจน หรือมีเชื้อชาติภาษาใด เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว การระบาดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยไม่คาดฝันที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นหลายพื้นที่จึงมีการดำเนินการจัดการด้วยการริเริ่มโครงการนำร่องภายใต้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมหลากหลายที่มีอยู่ กระนั้นประเด็นคำถามที่เกิดขึ้นสำหรับคนทำงานในเวลานี้ก็คือจะขยายต่อยอดโครงการนำร่องที่ลงมือทำเพื่อจัดการกับความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไรให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ยั่งยืน และมีประสิทธิภาพในการยกระดับการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนทุกคน งานนี้สถาบันบรู้กกิ้งส์ (Brookings Institute) จึงได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างดีในประเทศแทนซาเนีย

โครงการที่เกิดขึ้นในแทนซาเนียนั้นถูกขับเคลื่อนโดย​องค์กรชื่อ CAMFED (Campaign for Female Education หรือโครงการรณรงค์เพื่อการศึกษาสตรี) ซึ่งเข้าไปร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในแทนซาเนียเมื่อปี 2018 จากนั้นจึงเกิดเป็นโครงการ Learner Guide Program ซึ่งเป็นโครงการอาสาสมัครระยะ 18 เดือน ที่เปิดทางให้ผู้หญิงที่จบการศึกษาระดับมัธยม (Learner Guides) ได้มีโอกาสส่งต่อทักษะชีวิตและคำแนะนำแก่นักเรียนรุ่นน้องที่กำลังศึกษาในระดับมัธยม โดยโครงการอาสาสมัคร Learner Guide Program นี้ CAMFED ได้ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งแทนซาเนีย (MoEST) และสำนักงานอธิการบดี องค์การบริหารส่วนภูมิภาคและการปกครองส่วนท้องถิ่น (PO-RALG)

องค์กร CAMFED นั้นก่อตั้งเมื่อปี 2005 โดยเน้นทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นและรัฐบาล เพื่อร่วมกันส่งเสริมการศึกษาในหมู่เด็กผู้หญิงอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาทาง CAMFED ได้สนับสนุนเด็กหญิงด้อยโอกาสมากกว่า 88,000 คนให้สามารถเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และเด็กหญิงอีก 54,000 คนให้ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา ทั้งนี้โครงการอาสาสมัคร Learner Guide Program ถือเป็นผลงานสำคัญของ CAMFED ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการนี้ช่วยให้เด็กด้อยโอกาสจำนวนมากได้เข้าถึงการเรียนที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ช่วยฝึกทักษะและเปิดโอกาสด้านอาชีพให้แก่วัยรุ่นหญิงกลุ่มที่เรียนจบไปแล้วด้วยเช่นกัน

โครงการอาสาสมัคร Learner Guide Program จะจัดให้เยาวชนหญิงที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าไปเป็นอาสาสมัครเพื่อสอนหรือช่วยเหลือเด็กนักเรียนมัธยมในชุมชนของตน โดยใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งนี้อาสาสมัครจะสอนทั้งทักษะชีวิต ช่วยให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวแก่รุ่นน้อง รวมถึงช่วยฝึกให้รุ่นน้องรู้จักใช้บริการทางสังคมต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กๆ ขณะเดียวกัน อาสาสมัครเยาวชนหญิงก็จะได้รับการฝึกอบรมทักษะ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยเพื่อเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็ก และได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาจากสภาการศึกษาธุรกิจและเทคโนโลยี (BTEC) ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับสากลในการฝึกอบรมและการจ้างงานครูอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ โครงการอาสาสมัครดังกล่าวได้ดำเนินการมา 3 ระยะแล้ว คือ ระยะนำร่อง ระยะปรับตัว และระยะปรับขนาด (pilot / adaptation / expansion) ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนที่ร่วมโครงการมีพัฒนาการการเรียนดีขึ้น,​ นักเรียนหญิงมีอัตรามาเรียนสูงขึ้น, ขณะที่คุณภาพชีวิตของอาสาสมัครเยาวชนหญิงก็ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่ายินดีมาก ปัจจุบันโครงการ Learner Guide Program อยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งกำลังเตรียมขยายไปสู่ระดับประเทศ

จากการดำเนินการที่ผ่านมาของโครงการ Learner Guide Program ทั้ง 3 ระยะ สามารถถอดบทเรียนออกมาได้ดังนี้

บทเรียนที่น่าเรียนรู้และคำแนะนำ

จากการดำเนินงานโครงการ Learner Guide Program มา 3 ระยะ องค์กร CAMFED และรัฐบาลแทนซาเนีย ได้ค้นพบบทเรียนอันเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งหน่วยงานในประเทศอื่นอาจนำไปปรับใช้ได้ ดังนี้

  1. ในการบรรจุโครงการอาสาสมัคร Learner Guide Program เข้าไปในระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ ควรต้อง
    – เน้นหรือต่อยอดโครงการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนสำคัญที่รัฐวางไว้
    – วางแผนและค่อยๆ เชื่อมโยงบทบาทของรัฐและนวัตกรเข้ามาร่วมด้วย
    – ผนวกให้ชุมชนท้องถิ่นร่วมด้วย ผ่านแรงจูงใจทางตัวเงินและแรงกระตุ้นแบบอื่น
    – สนับสนุนโครงสร้างการประสานงานระหว่างกระทรวงที่มีความรู้และอำนาจอย่างเพียงพอ
  2. ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดหาทุนระยะยาวเพื่อต่อยอดโครงการ Learner Guide
    – มีส่วนร่วมโดยตรงกับกระบวนการในกรอบงบประมาณและกรอบระยะเวลาของรัฐบาล
    – จัดทำแผนวิเคราะห์และเสนอแนะว่าหากขยายโครงการต้องใช้ต้นทุนเท่าไหร่ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ได้
  3. การใช้กระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของโครงการ Learner Guide
    – ลองปรับเปลี่ยนรูปแบบ จากนั้นทดสอบ ติดตามผล วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้น จากนั้นปรับปรุงและทำซ้ำ
    – นำแนวทางการเรียนรู้ร่วมกันมาประยุกต์และปรับใช้ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา
    – ปรับเปลี่ยนและใช้แนวทางการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา

ปัจจุบัน โครงการอาสาสมัคร Learner Guide Program ผ่านการดำเนินการมาหลายระยะ และมีการปรับตัว เรียนรู้ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ปัจจุบันจะยังดำเนินการภายใต้บังเหียนของ NGO (องค์กรภาคเอกชน) แต่ก็ได้ร่วมมือกับชุมชนและรัฐบาลมาตลอด ทั้งนี้ในอนาคต โครงการ Learner Guide Program อาจขยายและถูกผนวกเป็นโครงการรัฐ และถูกบรรจุในระบบการศึกษาของประเทศแทนซาเนียได้ ซึ่งหากโอกาสนั้นเกิดขึ้น จะส่งผลต่อชีวิตเด็กอีกมากมายในสังคม

กล่าวได้ว่า เส้นทางการดำเนินโครงการ Learner Guide Program ในแทนซาเนียนั้น เต็มไปด้วยบทเรียนมีคุณค่า น่าศึกษา และน่านำไปประยุกต์ใช้กับหลายพื้นที่บนโลกต่อไป

ที่มา : Improving learning and life skills for marginalized children Scaling the Learner Guide Program in Tanzania
เครดิตภาพ : Kimrawicz / Shutterstock.com