เดินหน้าศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ดูแลเด็กเชิงรุก

เดินหน้าศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ดูแลเด็กเชิงรุก

ห่วงเด็กกำพร้าเพิ่มจากโควิด เดินหน้าศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ดูแลเด็กเชิงรุก กาย ใจ สังคม และป้องกันหลุดนอกระบบการศึกษา หากพบเห็นเด็กกลุ่มเสี่ยงโทร.สายด่วน 1300 หรือ Mobile Application คุ้มครองเด็ก หรือแอปพลิเคชันไลน์ : @savekidscovid19 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระดมอาสาสมัครดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงไม่ให้โดดเดี่ยว กรมการแพทย์เผยพบตัวเลขเด็กติดเชื้อเพิ่มจาก 366 ราย เป็น 18,879 รายต่อสัปดาห์ ห่วงเด็กมีโรคประจำตัวเสี่ยงป่วยหนักกว่าเด็กปกติ เล็งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 เวลา 10.30 น. กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วยนางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย และนายคริส โปตระนันทน์ พร้อมสมาชิกกลุ่มเส้นด้าย ร่วมแถลงข่าวออนไลน์ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 รายงานข้อมูล แนวโน้มสถานการณ์ และการช่วยเหลือครอบคลุมทุกปัญหาเร่งด่วน

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 รายวันล่าสุดประมาณ 2,900 คน มีจำนวนเด็กติดเชื้อสะสม 96,393 คน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มเปราะบางต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การปกป้องคุ้มครองไม่สามารถดำเนินการได้โดยหน่วยงานเดียว  จึงนำมาสู่ความร่วมมือของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางอการศึกษา กรมสุขภาพจิต และองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ขึ้น 

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

จุดประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานเชื่อมต่อบริการของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และอาสาสมัคร ในการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวได้อย่างไร้รอยต่อ กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมตั้งแต่กลุ่มแรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปี โดยแบ่งการช่วยเหลือตามสภาพปัญหาดังนี้ 1. กลุ่มเด็กติดเชื้อ และพ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ 2. กลุ่มเด็กติดเชื้อ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ 3. กลุ่มเด็กไม่ติดเชื้อ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองติดเชื้อ 4. กลุ่มที่ทั้งเด็กและพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ติดเชื้อ แต่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ และ 5. กลุ่มเด็กที่กำพร้าบิดาหรือมารดา หรือกำพร้าทั้งบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่เป็นผู้ดูแลเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเน้นการดูแลที่ใช้ครอบครัวเป็นฐานและการรักษาความสัมพันธ์ของเด็กและครอบครัว

อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนกล่าวว่า ศูนย์ฯ เปิดดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยเคสที่น่าเป็นห่วงคือประเด็นเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองดูแลเพราะป่วยอยู่ และเด็กกำพร้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลเด็กกำพร้าที่กรมฯ ให้การช่วยเหลือและอยู่ระหว่างการช่วยเหลือ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 มีจำนวน 182 คน ทั้งกำพร้าบิดา มารดา หรือกำพร้าทั้งบิดาและมารดาหรือผู้ปกครอง กระบวนการช่วยเหลือเชิงรุกของศูนย์ฯ จะมีผู้จัดการรายกรณี ระยะเร่งด่วนคือให้เด็กมีผู้ดูแลและปลอดภัย และประสานหน่วยงานเครือข่ายให้การช่วยเหลือด้านกาย จิต สังคม รวมถึงป้องกันหลุดออกจากระบบการศึกษา 

ประกอบไปด้วย 1. การเข้าถึงบริการด้านการตรวจเชื้อและการรักษาพยาบาล 2. การปฐมพยาบาลทางจิตใจ เพื่อลดความวิตกกังวล และความเครียด 3. จัดบริการเพื่อให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการสังคม เช่น กองทุนคุ้มครองเด็ก เงินสงเคราะห์เด็กในครอบครัวยากจน เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด นอกจากนี้ยังรวมถึงถุงยังชีพ ถุงการเรียนรู้ เพื่อเด็กในภาวะ วิกฤตอีกด้วย 4. ระบบการเลี้ยงดูทดแทน ทั้งแบบฉุกเฉินสำหรับเด็กกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องได้รับการดูแลในระยะกักตัว 14 วัน เพื่อติดตามอาการในสถานที่กักตัว (State Quarantine) และการเลี้ยงดูทดแทนแบบชั่วคราวสำหรับเด็กที่พ้นระยะกักตัว 14 วัน ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองยังไม่มีความพร้อมในการรับเด็กกลับไปเลี้ยงดู หรือพ่อแม่ ผู้ปกครองเสียชีวิต ในรูปแบบครอบครัวเครือญาติ ครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวบุญธรรม หรือสถานสงเคราะห์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสุดท้าย 5. ทุนสร้างโอกาสเพื่อป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา 

“การทำงานของศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด–19 เป็น virtual center เชื่อมโยงฐานข้อมูลการช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ เน้นบุคลากร อาสาสมัครในพื้นที่ทั่วประเทศเป็นสำคัญ เพื่อเข้าถึงเด็กได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนทั่วไปสามารถประสานแจ้งเหตุผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งสายด่วน 1300 ติดต่อผ่านบ้านพักเด็กและครอบครัวทั้ง 77 จังหวัด และแอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก และความร่วมมือล่าสุด 4 หน่วยงานคือ แอปพลิเคชันไลน์ : @savekidscovid19 มีทีมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีเด็กและครอบครัวตกหล่นจากการช่วยเหลือ” นางสุภัชชากล่าว 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มีจำนวนเด็ก (แรกเกิด – 18 ปี) ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น  สถิติสัปดาห์ที่ 33 ข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จากจำนวน 366 รายต่อสัปดาห์ เป็น 18,879 รายต่อสัปดาห์ โดยพบว่ามีจำนวนเด็กเสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

“เราจะเห็นตัวเลขเด็กป่วยติดเชื้อต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นเกินหมื่นราย โดยกลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กและมีโรคประจำตัว โรคทางพันธุกรรม ติดเตียง หัวใจพิการมาแต่กำเนิด เมื่อป่วยจะมีอาการหนักและรุนแรงกว่าเด็กปกติที่ป่วย ขณะที่สาเหตุการติดเชื้ออาจมาจากมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เช่น หอม กอด เป็นต้น 

“สำหรับประเด็นการแพร่เชื้อในครอบครัว สถาบันสุขภาพเด็กอาจฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี และมีโรคร่วม เนื่องจากห้ามการติดเชื้อค่อนข้างยาก ดังนั้นวัคซีนจะเป็นคำตอบที่ช่วยลดป่วยหนักและลดการเสียชีวิตในเด็กที่มีปัญหาโรคประจำตัวได้  โควิด-19 ทำลายทุกทฤษฎีที่เรารู้จัก อยู่ที่เราชั่งสถานการณ์ ณ ขณะนั้นว่าอะไรได้ประโยชน์ เรารู้แล้วว่าการฉีดวัคซีนในเด็กที่มีโรคประจำตัวเป็นเรื่องสำคัญในขณะนี้ เด็กควรได้รับวัคซีน วัคซีนถ้าพัฒนาไปเรื่อย ๆ ทำให้ป้องกันการติดเชื้อได้ ปลายปีหน้าอาจเป็นเหมือนไข้หวัด แต่ต้องดูว่าวัคซีนสามารถพัฒนาประสิทธิภาพได้ขนาดไหน นี่เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเร่งศึกษาพัฒนา” 

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาเราได้พยายามดูแลเด็กเล็ก ๆ อย่างเช่น การทำงานผ่านศูนย์สร้างสุขทุกวัยที่เกียกกาย เขตดุสิต โดยรับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 7 ปีขึ้นไป ไม่สามารถรับครอบครัวได้ แต่ถ้าเป็นสถาบันเด็กจะเปิดรับทั้งแม่และลูก มีเตียงรอรับเพียง 100 เตียง ปัจจุบันตอนนี้กรมการแพทย์กำลังทำ Community Isolation ภายในค่ายทหาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ทั้งครอบครัว แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าอาการต้องไม่หนักทั้งคู่ เพราะ CI เป็นการเปิดรับทุกเพศทุกวัย 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ.สนับสนุนกลไกอาสาสมัครคุณภาพเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการดูแลรวดเร็วขึ้น รวมถึงเป็นกำลังเสริมให้แก่หน่วยงานหลักต่าง ๆ เช่น อาสาสมัครคุณครูทั้งในระบบและนอกระบบในชุมชนต่าง ๆ อาสาสมัครเยาวชน ช่วยรับส่งผู้ป่วยเด็ก การส่งชุดยา เครื่องมือติดตามอาการหรืออุปกรณ์ช่วยชีวิต ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสนับสนุนระบบอาสาสมัครดูแลเด็กสัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระหว่างระยะเวลากักตัว 14 วัน ในสถานที่กักตัว (State Quarantine) ดูแลเด็กป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานพยาบาลทุกรูปแบบ อาสาสมัครเยี่ยมเด็กและครอบครัวในพื้นที่ชุมชน เพื่อติดตามการเลี้ยงดู ส่งยา อาหาร หรือเครื่องใช้จำเป็น และอาสาสมัครเลี้ยงดูเด็กชั่วคราวในครอบครัวอุปถัมภ์ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อน เปิดรับอาสาได้เต็มรูปแบบภายเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีค่าตอบแทนให้ แม้เงินที่ได้อาจไม่มากนัก แต่ก็จะทำให้มีรายได้หมุนเวียน ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.

“เด็กกำพร้าเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด รองลงมาคือพ่อแม่ตกงานยากจนเฉียบพลัน การฟื้นฟูเยียวยาต้องทำทันที โดย กสศ. เน้นป้องกันเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา จึงจัดให้มีทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กในภาวะ วิกฤตโควิด โดยมี case manager วางแผนการช่วยเหลือรายคนอย่างน้อย 1,000 ทุน ถ้าเราไม่เริ่ม ในสถานการณ์ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาจะไม่มีใครดึงเด็กขึ้นมาจากความเงียบ ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ทำงานเพียง 4 หน่วยงานไม่ได้ เราจึงพร้อมระดมความร่วมมือทุกภาคส่วนต่าง ๆ มาช่วยให้เด็กของเรารอด” ศ. ดร.สมพงษ์กล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียมีจำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากความสามารถการเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ และสถานการณ์ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง และมีบางครอบครัวมีสมาชิกมากกว่า 1 คน ที่เสียชีวิต โดยการเสียชีวิตทั้งพ่อแม่และผู้สูงอายุจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีความเศร้าจากการสูญเสียคนที่รัก แต่ปฏิกิริยาของเด็กไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ ที่ต้องการคนแวดล้อมมาช่วยทำให้ความเศร้าผ่านไป อีกทั้งการศึกษาจากหลายประเทศพบว่าผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลกระทบมากกว่าปกติ ทั้งการไม่มีโอกาสได้ร่ำลา จัดพิธีศพเต็มรูปแบบ ส่งผู้เสียชีวิตเป็นครั้งสุดท้าย 

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

อย่างไรก็ตาม จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ ไม่อยากให้เด็กเกิดรู้สึกผิด เสียใจ หรือฝังใจจากความสูญเสีย แต่อยากให้เด็กผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปให้ได้ อีกทั้งการเสียชีวิตของทั้งพ่อและแม่จะทำให้เด็กกำพร้าไม่มีพ่อแม่อีกต่อไป การใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ก็จะยากลำบาก รวมไปถึงกลุ่มที่มีความยากลำบากมาก่อนหน้านี้แล้วต้องมาเสียผู้นำครอบครัวซ้ำเติมอีก ย่อมสร้างความหวั่นไหวมากกว่าเดิม ทั้งการอยู่ที่เดิมไม่ได้ ไม่มีคนดูแล ต้องเปลี่ยนไปอยู่กับญาติ เปลี่ยนที่อยู่อาศัย เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่อยากให้เด็กอยู่กับความรู้สึกไม่สบายใจ ทุกข์ใจ อยากให้เด็กเติบโตไปข้างหน้า ผ่านสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ ส่วนกรณีเด็กพิเศษนั้น ขณะนี้โรงพยาบาลสนามราชานุกูลได้เปิดรับดูแลเด็กพิศษเป็นการเฉพาะอีกด้วย 

นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า ในภาวะฉุกเฉินของเด็กทั่วโลก คิดว่าเด็กมีสิทธิที่จะต้องได้รับการดูแลโดยครอบครัว ซึ่งครอบครัวไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่อยู่กับเด็ก แต่รวมถึงเครือญาติ ดังนั้นหากภาครัฐมีนโยบายที่สนับสนุนก็จะเป็นเรื่องดีที่ทำให้เด็กได้อยู่กับคนใกล้ชิด ขณะที่การแยกเด็กป่วยออกจากครอบครัวถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่ควรทำ เพราะสิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้คนในครอบครัวช่วยดูแลกันเอง อีกประเด็นคือ กลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กเปราะบางที่พ่อแม่เสียชีวิต ความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ราชการจะเข้ามาช่วยได้มากคือ หาให้ได้ว่าเด็กกลุ่มนี้คือใคร และให้บริการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันดูแลความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

นางสาวนิโคล่า บลั้น รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุ้มครองเด็ก
องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อยากให้คำนึงถึงการดำเนินงานที่เหมาะสมกับทั้งตัวเด็กและครอบครัว และนำแนวคิดนี้มาใช้ในการทำงานทุกส่วนให้ทั่วถึง ในการตัดสินใจด้านนโยบายและการดำเนินการต่าง ๆ ในตอนนี้ได้คำนึงถึงเรื่องความสำคัญกับทั้งเด็กและครอบครัวอย่างชัดเจนแล้ว เพราะเรื่องนี้สำคัญมากในการช่วยเหลือและดูแลผู้ได้รับผลกระทบ เวลาให้ความช่วยเหลือครอบครัวหนึ่ง เราต้องมองจากหลาย ๆ มุมประกอบกันด้วย เช่น นอกจากการเจ็บป่วย เรายังต้องดูว่าครอบครัวนั้นมีปัญหาทางเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะต้องใช้กลไกการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ มาช่วยหนุนเสริม และยังต้องคิดต่อยอดไปถึงการออกแบบมาตรการคุ้มครองทางสังคมอื่น ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน เพื่อให้ครอบครัวมีศักยภาพด้านต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและอื่น ๆ ที่จะทำให้มีความเข้มแข็งและความสามารถพอในการเลี้ยงดูลูกของตัวเองให้ได้ดีต่อไป

นางสาวนิโคล่า กล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องหนุนเสริมศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์ให้สามารถรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดตามมาด้วย โดยเรื่องนี้ยูนิเซฟมีความเชี่ยวชาญจากการทำงานในภูมิภาคต่าง ๆ ที่จะสามารถเข้ามาสร้างศักยภาพเพิ่มเติมให้ได้ แล้วเรายังมี Magic Box เป็นชุดกล่องกิจกรรมที่มีของเล่น หนังสือ ตัวต่อ และสื่อต่าง ๆ เพื่อใช้ทำกิจกรรมกับน้อง ๆ ได้ อันนี้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าน้อง ๆ ต้องถูกกักตัว จะได้มีกิจกรรมทำผ่อนคลายและเรียนรู้ไปกับผู้ดูแลหรือเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ดูแลด้วย ยูนิเซฟพร้อมทำงานร่วมกับภาคีทุกฝ่าย เพื่อให้เด็กได้เติบโตและพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ แม้ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม

นายคริส โปตระนันทน์ กลุ่มเส้นด้าย กล่าวว่า การมีศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ถือเป็นโครงการที่ดีและสวยงาม ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาพบปัญหาเวลามีเด็กมาขอความช่วยเหลือทำได้ได้ยากมาก เนื่องจากไม่มีกลไกรองรับการช่วยเหลือเด็กเอาไว้ อย่างโรงพยาบาลสนามก็ไม่รองรับเด็ก โฮสพิเทลก็ไม่รองรับเด็ก นี่คือ 2 สิ่งที่กลุ่มเส้นด้ายทำและเจอมา เพราะมีแต่หมอ General Practice ไม่มีหมอเด็กหรือหมอติดเชื้อที่จะเข้ามาดูแล ทุกครั้งที่มีเด็กติดเชื้อเราต้องขอให้โรงพยาบาลช่วยเหลือ และก็มีหลายแห่งให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี แต่บางที่ก็ไม่สามารถช่วยได้ ซึ่งเมื่อมีศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 ถือเป็นการช่วยเหลือเด็กที่ดีมาก 

นายคริส โปตระนันทน์ กลุ่มเส้นด้าย

นายคริสกล่าวว่า มี 4 กรณีที่ทางกลุ่มเส้นด้ายเจอมาคือ 1. แม่ติดลูกติด แม่ได้ที่รักษา แต่แม่ไม่ยอมปล่อยให้ลูกอยู่ลำพัง 2. ลูกติด แม่ไม่ติด สิ่งที่พบคือ แม่ยอมเสียสละ ยอมติดโควิดเพื่อลูก เพื่อจะได้ดูแลลูก ซึ่งถ้าหน่วยงานราชการออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้คุณแม่ได้ ยอมให้แม่ที่ไม่ติดเชื้อเข้าไปดูแลลูก ไม่ว่าจะในโรงพยาบาลสนาม หรือโฮสพิเทล แล้วสามารถเบิกงบประมาณตรงนี้ได้จะดีมาก 3. แม่ติดลูกไม่ติด ถ้าจะยอมให้ลูกที่ไม่ติดเชื้อเข้าไปด้วย ต้องมีผ้าอ้อม นมให้ดื่ม มีงบจัดสรรให้จะดีมาก และ 4. เด็กต่างด้าว หรือเด็กเป็นคนไทย แต่แม่เป็นต่างด้าว ถ้าราชการทุกฝ่ายมาแก้กฎระเบียบที่ติดขัดแก้ไขได้ ทางกลุ่มเส้นด้ายจะยินดีอย่างยิ่ง 

“กรณีแม่ลูกติดโควิด เด็กจะหาโรงพยาบาลยาก แม่ไม่ยอมไปโรงพยาบาลเพราะรอให้ลูกได้ที่รักษา จนเป็นเหตุที่ทำให้แม่เกิดอาการที่รุนแรงจนถึงเสียชีวิต ถ้าแก้ปัญหาได้ พยายามให้เด็กเข้าไปรักษาด้วย เด็กจะกำพร้าน้อยลง พยายามทำให้เกิดโฮสพิเทลที่ให้ครอบครัวเข้าไปได้เลย ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะช่วยเติมเต็มตรงนี้ได้ การส่งเด็กไปยังโรงพยาบาลสนามไม่ใช่ว่าแพทย์ไม่อยากรับคนไข้ คุณหมออยากรับ แต่ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์รับรองเด็ก” นายคริสกล่าว