UNESCO เผยผลศึกษาพบเด็กผู้หญิงเก่งคณิศาสตร์ไม่แพ้เด็กชายหากได้โอกาส
โดย : Times Now News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

UNESCO เผยผลศึกษาพบเด็กผู้หญิงเก่งคณิศาสตร์ไม่แพ้เด็กชายหากได้โอกาส

องค์การการศึกษา วัฒนธรรม และสหประชาชาติ (UNESCO) เปิดเผยรายงานผลการศึกษาฉบับล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่าช่องว่างความสามารถด้านคณิตศาสตร์ระหว่างเด็กหญิงกับเด็กชายเริ่มหดแคบลงเรื่อยๆ ซึ่งในบางกรณี เด็กหญิงสามารถทำผลงานด้านคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กชาย กลายเป็นภาพสะท้อนว่าโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง กระนั้นก็ยังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขต่อไป โดยเฉพาะในสังคมที่ยังไม่เปิดกว้างยอมรับผู้หญิงในงานสาย STEM (แนวทางการศึกษาและอาชีพที่บูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์)

รายงานของยูเนสโก ระบุว่า ความก้าวหน้าของความเท่าเทียมทางเพศที่ทำให้เด็กหญิงหลายล้านคนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เช่นเดียวกันเด็กชาย เป็นเครื่องยืนยันวว่าเด็กหญิงมีขีดความสามารถไม่แพ้กับเด็กชายในสาขา STEM อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขทางสังคม และค่านิยม ส่งผลให้เด็กหญิงที่เลือกเรียนสาย STEM หลายคนถอดใจการเรียนในสาขาดังกล่าว  

พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ เมื่อเด็กหญิงสามารถเข้าถึงการศึกษา โดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับอคติทางเพศ ทำให้การเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กหญิงอีกต่อไป 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการศึกษานักเรียนในระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา ใน 120 ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมประเทศยากจนและประเทศร่ำรวย พบว่า เด็กชายสามารถเรียนคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนประถมศึกษาได้ดีกว่าวเด็กหญิง แต่เด็กหญิงจะสามารถรักษาความรู้ความเข้าใจในคณิตศาสตร์ได้นานกว่า เมื่อโตขึ้นไปเรียนอยู่ในระดับมัธยมศีกษา 

รายงานระบุว่า ในบางประเทศเด็กหญิงแสดงความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์ได้ดีกว่าเด็กชาย ยกตัวอย่างเช่น ในระดับเกรด 8 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 2) ช่องว่างวิชาคณิตศาสตร์ระหว่างเด็กชายกับเด็กหหญิง ลดลงเหลือ 7% ในมาเลเซีย 3%ในกัมพูชา 1.7% ในคองโก และ 1.4% ในฟิลิปปินส์ 

ขณะเดียวกัน เด็กหญิงยังมีทักษะความสามารถด้านการอ่านได้ค่อนข้างดีกว่าเด็กชาย โดยเด็กหญิงส่วนใหญ่บรรลุความสามารถในการอ่านขั้นต่ำได้มากกว่าเด็กชาย ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์เฉลี่ยในการอ่านขั้นต่ำในระดับประถมศึกษาอายุระหว่าง 9-10 ปี พบว่ามีเด็กหญิงผ่านการอ่านขั้นต่ำที่ 77% แต่เด็กผู้ชายสามารถผ่านการอ่านขั้นต่ำท่ 51%

นอกจากนี้ รายงานของยูเนสโกยังได้แสดงให้เห็นว่า เด็กผู้หญิงมีประสิทธิภาพในการอ่านดีกว่าเด็กชายในประเทศไทยที่ 18% ในสาธารณรัฐโดมินิกัน 11% และในโมร็อกโกอีก 10% ขณะที่แม้แต่ในประเทศที่เด็กหญิงและเด็กชายมีระดับการอ่านเท่ากันในระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น ยกตัวอย่างเช่น ลิทัวเนียและนอร์เวย์ เมื่ออายุ 15 ปี เด็กผู้หญิงยยังมีคะแนนการอ่านมากกว่าเด็กชายประมาณ 15 %

ยิ่งไปกว่านั้น ในบางประเทศอย่างอินเดีย เด็กผู้หญิงแสดงให้เห็นความสามารถในการเรียนได้ดีกว่าเด็กผู้ชายได้อย่างสม่ำเสมอ ยืนยันได้จากการผลการสอบระดับคณะกรรมการประจำปีทั่วประเทศ ที่คะแนนของเด็กหญิงมีสัดส่วนในระดับดีมากกว่าเด็กชาย

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำคะแนนในสาขา STEM ได้ดีกว่าเด็กผู้ชาย แต่เมื่อมาถึงการเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป ซึ่งหมายถึงในระดับอุดมศึกษา กลับพบว่าสัดส่วนของเด็กผู้หญิงที่ได้เรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยกลับน้อยกว่าเด็กผู้ชาย กลายเป็นคำถามที่ยูเนสโกนำศึกษาต่อว่าเหตุใดเรื่องราวความสำเร็จในโรงเรียนจึงไม่ผลักดันให้เด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ก้าวไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัย แล้วก้าวไปสู่อาชีพที่เฟื่องฟูในด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ต่อไป 

ยูเนสโกพบว่า แม้เด็กผู้หญิงจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น และเท่าเทียบกับเด็กผู้ชายมากขึ้น แต่เป็นเพราะค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมในหลายประเทศ ทำให้ผู้หญิงต้องอยู่ในสภาพยอมจำนน อดทน หรือต้องเผชิญกับการปรับตัว รวมถึงต้องใช้ความสามารถในการพิสูจน์มากกว่าเด็กผู้ชายในรุ่นเดียวกัน ซึ่งยูเนสโกยอมรับว่า การจัดการล้มเลิกค่านิยมที่ส่งผลผูกมัดต่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กผู้หญิงอาจจะต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายสิบปี

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ผู้หญิงเพิ่งได้รับการยอมรับให้เข้าศึกษาต่อในระดับวิทยาลัย ไปจนถึงระดับอุดมศึกษาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เท่านั้น ซึ่งอุปสรรคขัดขวางสำคัญไม่ใช่ความรู้ด้านวิชการ เป็นค่านิยมสังคมที่ให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าที่ทำให้ผู้หญิงไม่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ มารี คูรี ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล ต้องย้ายออกจากประเทศบ้านเกิดในโปแลนด์ ไปยังฝรั่งเศสในปี 1891 เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือในกรณีของ จันทรามุคี บาสุ (Chandramukhi Basu) และ คาดัมบินี แกนกูลีย์ (Kadambini Ganguly) สองดอกเตอร์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์อินเดีย โดยในกรณีของจันทนามุคี ต้องรอการตรวจสอบจากทางมหาวิทยาลัยกัลกัตตาเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากในช่วงเวลานั้นคือปี 1876 ทางมหาวิทยาลัยไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะสามารถสอบผ่านมหาวิทยาลัยได้ 

แน่นอนว่าเวลาหลายร้อยปีผ่านพ้นไป ประตูแห่งโอกาสได้เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงมากขึ้น กระนั้นก็ยังคงมีกระจกกั้นหลังประตูหลายบาน ที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่สามารถบรรลุความต้องการเท่าที่ศักยภาพของตนเองจะไปได้ และบางวิชา เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ก็เป็นสาขาที่เหมือนจะสงวนไว้กับผู้ชายเป็นหลัก 

จนถึงขณะนี้ มี มาเรียม มีร์ซาคานี (Maryam Mirzakhani) ศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่เป็นผู้หญิงคนแรกและคนเดียวที่ได้รับเหรียญรางวัลสาขาคณิตศาสตร์เทียบเท่าโนเบลตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 1936 โดยเจ้าตัวได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2017

ทั้งนี้จากการสำรวจเกี่ยวกับการอุดมศึกษาทั่วอินเดีย หรือ All India Survey on Higher Education (AISHE) ในระหว่างปี 2018-19 พบว่ามีผู้หญิงเพียง 3% เท่านั้นที่ได้ลงทะเบียนเรียนในระดับปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์และมีเพียง 6% เท่านั้นที่เลือกเรียนปริญญาเอก ในสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ผู้หญิงมักมีช่องว่างในการจ้างงานหลังจากการศึกษาในนระดับดุษฎีบัณฑิต โดยหลายคนไม่ได้กลับไปประกอบอาชีพเนื่องจากความรับผิดชอบที่บ้านและครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังต้องแบกรับภาระอยู่

เพื่อให้เห็นภาพปัญหาการศึกษาของเด็กหญิงให้ชัดเจนขึ้น รายงานของยูเนสโกได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในประเทศอัฟกานิสถาน หลังการเข้ายึดครองอำนาจของกลุ่มตอลิบัน ที่ทำให้การศึกษาของเด็กหญิงเป็นหสิ่งต้องห้าม โดยจนถึงขณะนี้ เด็กหญิงหลายคนยังไม่สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้ จนนักวิเคราะห์แสดงความกังวลว่า เด็กหญิงรุ่นนี้จะกลายเป็นรุ่นล้าหลังที่ถูกทิ้งไว้ 

อย่างไรก็ตาม ยูเนสโกคาดหวังว่า ยังคงมีโอกาสและความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ได้ในระดับอุดมศึกษาได้มากขึ้น ภายใต้ความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ในประเทศอินเดีย ขณะนี้มีผู้หญิงเข้าไปศึกษาด้าน STEM ในระดับอุดมศึกษามากขึ้น เพราะพ่อแม่อินเดียรุ่นใหม่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาของเด็กผู้หญิงและให้การสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงได้มีโอกาสเรียนหนังสือมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จนกว่าจะทำให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนานในการจัดการ

ที่มา : UN study says girls performing better at Maths. Progress for gender equality in STEM but the root of the problem is planted deep