Equity lab กสศ. เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘สำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ค้นหานวัตกรรมแก้ปัญหา’ ด้วยกิจกรรม Problem Discovery Workshop

Equity lab กสศ. เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘สำรวจความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ค้นหานวัตกรรมแก้ปัญหา’ ด้วยกิจกรรม Problem Discovery Workshop

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 Equity lab ภายใต้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ School of Changemakers และ Change Lab, TK Park จัดกิจกรรม ‘Problem Discovery Workshop’ ณ ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK Park เพื่อรวมตัวผู้สนใจกว่า 60 คน เข้าร่วมสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพัฒนาครูและสถานศึกษาในพื้นที่ห่างไกล การหาแนวทางสนับสนุนการเรียนรู้และฝึกทักษะอาชีพให้แก่เด็กนอกระบบ รวมถึงทำความรู้จัก Equity lab

วรกมล ด่านประดิษฐ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Change Lab กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีนักเรียนประมาณ 7 ล้านคน ในจำนวนนี้กว่า 2.5 ล้านคน เสี่ยงที่จะหลุดออกจากโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเด็กที่มีความยากจนซ้ำซ้อนและกลุ่มเด็กที่มีความพิการ โดยโรงเรียนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเด็กอย่างครอบคลุมได้

วรกมล ด่านประดิษฐ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Change Lab

ขณะที่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ พบว่า เด็กในครอบครัวที่ยากจนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ล่าง มีเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีโอกาสได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งรายได้ของผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี แตกต่างจากวุฒิระดับ ม.6 ถึง 2 เท่า และมีแนวโน้มต่างกันเรื่อย ๆ

วรกมล กล่าวต่อไปว่า อุปสรรคที่พบบ่อยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (common barriers) ได้แก่ คนส่วนหนึ่งยังไม่มีส่วนร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะไม่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับตัวเอง ระบบให้ความสำคัญกับครูหรือผู้ดูแลเด็กน้อยเกินไป การศึกษาในระบบบีบให้เด็กหลุดออกจากระบบ และคนใกล้ตัวเด็กมองไม่เห็นโอกาสของการศึกษา

สำหรับงาน Problem Discovery Workshop ครั้งนี้ วรกมลเผยว่า ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจต่อการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการศึกษาไทย ดังนั้นการสำรวจปัญหาร่วมกัน นับเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้รับการแก้ไขอย่างถูกทิศทาง

วงศธร ชุณหะวัณ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า อีกหนึ่งความสำคัญของงาน Problem Discovery Workshop คือการเพิ่มกลุ่มนวัตกรรุ่นใหม่ หรือธุรกิจเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องขยายความร่วมมือ และสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้ขับเคลื่อนกิจกรรมได้อย่างยั่งยืน

“เป้าหมายของเราคือ ต้องการเชิญชวนให้คนเข้ามามีส่วนร่วม เข้าใจข้อมูลเชิงลึกของปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาและตั้งโจทย์เป็น”

วงศธร ชุณหะวัณ นักวิชาการ วสศ.

วงศกรกล่าวต่อไปว่า งาน Problem Discovery Workshop จึงเสมือนการทดลองไอเดียว่า นวัตกรหน้าใหม่จะสามารถเข้าใจ มองเห็นบริบทของปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือสามารถพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาด้วยการคิดเชิงนวัตกรรม

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมแบ่งโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมถกเถียงและค้นหาวิธีแก้ไขปัญหา อาทิ ควรจะออกแบบวิธีการสอนนักศึกษาครูอย่างไร มีวิธีการที่จะนำเด็กนอกระบบกลับเข้าสู่รั้วโรงเรียนหรือส่งเสริมวิชาชีพอย่างไร รวมไปถึงมีวิธีการสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานกับเด็กในแต่ละพื้นที่อย่างไร

ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปได้แลกเปลี่ยนความเห็นว่า ตนเล็งเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากประสบการณ์ของตนเอง จึงสนใจเรียนสาขาวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็กและสนใจการเวิร์กช็อป และทำให้เห็นมุมมองที่หลากหลายจากผู้เข้าร่วมคนอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นกุญแจดอกหนึ่งที่แก้ไขสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำได้

“ตอนแรกก็ตั้งคำถามว่า การที่เรามารวมกัน สุดท้ายจะได้อะไร แต่พวกเราก็น่าจะตามหาคำตอบนี้เหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำลดลง เราต้องคุยกับใครบ้าง เราต้องวางตัวอย่างไร”