สู้วิกฤตเด็กหลุดจากระบบการศึกษา กสศ.ชูแผนส่งเสริม “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

สู้วิกฤตเด็กหลุดจากระบบการศึกษา กสศ.ชูแผนส่งเสริม “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แจงแผนยุทธศาสตร์ 2 ทาง คือเชิงรุกและเชิงรับ ตั้งเป้าสร้างแนวทางป้องกัน และหนทางให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่เด็กและเยาวชนในประเทศไทยที่เสี่ยงหรือต้องเลิกเรียนกลางคัน หลังผลการสำรวจหลายชิ้นยืนยันวิกฤตโควิด-19 ทำเด็กนักเรียน โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจนหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้น พร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้อนาคตของชาติ

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระหว่างการเข้าร่วม โครงการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 7 หรือ The 7th International Conference Lifelong Learning for All 2021 (LLL 2021) ภายใต้หัวข้อ “TEACHING AND LEARNING FOR OUT-OF SCHOOL CHILDREN AND OLDER ADULT LEARNERS IN THE COVID-19 CRISIS AND BEYOND” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อร่วมหารือแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาในยุคโควิด-19 และหลังจากนี้ ว่าสถานการณ์การศึกษาของไทยนับจากนี้  อยู่ในขั้นวิกฤตและน่าเป็นห่วงอย่างมาก ด้วยจำนวนเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากโรงเรียนกลางคันเพิ่มขึ้นราว 1.3 ล้านคนจากการประเมินในเบื้องต้น 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ผลกระทบของโควิด-19 ยังทำให้สถานะรายได้ของเด็กไทยราว 300,000 คน จากที่ยากจนอยู่แล้ว หล่นลงมาอยู่ในเกณฑ์เลวร้ายที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือยากจนขั้นสุด (extremely poor) มากขึ้น ทำให้เด็กไทยจำนวนนี้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เหตุผลเพราะเด็กหลายคนจำเป็นต้องเลิกเรียนเพื่อไปหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวว่า การที่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือในวัยที่สมควรจะได้เล่าเรียน ไม่เพียงทำให้เด็กเสียโอกาสอันดีในอนาคต  แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด หรือตกเป็นเหยื่อกลุ่มมิจฉาชีพ อาชญากรรมและค้ามนุษย์ กลายเป็นปัญหาสังคมเรื้อรัง และยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทำให้ไทยติดอยู่ในกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ไม่อาจสลัดให้หลุดพ้นได้

ผลการศึกษาวิจัยของอีริก ฮานูเช็ก (Eric Hanushek) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดในสหรัฐฯ ที่เผยแพร่ในการประชุมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ Equitable Education Conference 2020 พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของไทยจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 3% ภายในศตวรรษที่ 21 หากเด็กนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนหนังสือจนสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร

กสศ.ในฐานะหน่วยงานที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพและความเสมอภาคทางการศึกษา เล็งเห็นว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหามี 2 ประการ เรียกว่าเป็นมาตรการเชิงรุกและมาตรการเชิงรับ

มาตรการเชิงรุก คือแนวทางป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา ด้วยการมองหาต้นตอของปัญหา แล้วดำเนินการจัดการก่อนที่ปัญหาจะส่งผลกระทบถึงตัวเด็ก เป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพราะใช้งบประมาณไม่มากและแก้ปัญหาได้ยั่งยืนกว่า เมื่อเทียบกับมาตรการเชิงรับ ที่ใช้งบประมาณสูงกว่าและมีความเสี่ยงที่จะไม่ประสบผลสำเร็จในระดับสูง 

มาตรการเชิงรับ คือแนวทางรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือหรือหาทางออกได้อย่างไร 

เทคโนโลยีและฐานข้อมูล กุญแจยกระดับมาตรการป้องกัน

ในส่วนของมาตรการเชิงรุก ดร.ภูมิศรัณย์ได้ยกตัวอย่างโดยระบุถึงสาเหตุส่วนใหญ่ที่เด็กต้องเลิกเรียนกลางคันเป็นผลจากสถานะทางการเงินของครอบครัวที่ยากจนมาก ดังนั้นถ้า กสศ. รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าเด็กคนไหนต้องการความช่วยเหลือ เด็กคนไหนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้ดูแลสามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือได้ทันที

สิ่งสำคัญคือการจัดทำฐานข้อมูล (database) และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) เพื่อให้มีเครื่องมือและวิธีที่จะนำฐานข้อมูลที่ได้มาใช้งาน

กสศ. จึงจัดสรรงบส่วนหนึ่ง ทุ่มเทการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและฐานข้อมูล จนได้มาเป็นระบบฐานข้อมูล Q-INFO ให้ครูใช้บันทึกข้อมูลผ่านสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชัน iSEE ที่เพิ่งเปิดตัวใช้งานได้ไม่นาน สำหรับค้นหาตรวจสอบข้อมูล ซึ่ง ดร.ภูมิศรัณย์เชื่อมั่นว่าการมีข้อมูลตรงนี้จะทำให้สามารถเข้าถึงเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทยได้มากขึ้น ทั่วถึงขึ้น ขณะเดียวกัน กสศ.ยังจับมือร่วมกับพันธมิตรอีกมากมายทั้งในและต่างประเทศ ในการแบ่งปันฐานข้อมูล เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ฐานข้อมูลที่ได้รับการบันทึกโดยครู  (เช่น ชื่อ ที่อยู่ อาชีพ รายได้ การเข้าห้องเรียน ค่าดัชนีมวลกายของเด็ก หรือ BMI) ทำให้ กสศ. สามารถค้นพบเด็กที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงจะหลุดจากระบบการศึกษา ทำให้สามารถช่วยเหลือด้วยการให้ทุนอุดหนุนการศึกษา การจัดหาสถานที่เล่าเรียนที่เหมาะสม 

ระบบฐานข้อมูลทำให้ กสศ.สามารถจัดทำแผนที่ระบุตำแหน่งและจำนวนเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส และเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้ กสศ.และพันธมิตรเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถส่งตรงความช่วยเหลือถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง 

นอกจากการจัดสรรทุนช่วยเหลือต่างๆ อย่างโครงการให้ทุนแบบมีเงื่อนไข หรือ Conditional Cash Transfer Program (CCT) แล้ว ทาง กสศ. ยังจัดสรรโอกาสการจ้างงานแก่เด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้มีช่องทางในการหารายได้จุนเจือครอบครัวอีกด้วย

มาตรการเชิงรับด้วยการเยียวยาฟื้นฟู

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้มีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปจำนวนมาก ซึ่งปัญหาหลักของเด็กที่หลุดออกไปแล้ว ส่วนใหญ่มักไม่อยากกลับเข้าไปศึกษาเล่าเรียนในระบบหรือหลักสูตรอีกแล้ว เพราะความไม่เอื้ออำนวยหลายประการ

แนวทางความช่วยเหลือที่ กสศ.ดำเนินการ ก็คือการจัดทำโครงการพัฒนาทักษะงานในสาขาต่างๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรม การบริการ และอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการส่งเสริมการศึกษาในระดับอาชีวะศึกษา เพื่อให้เด็กมีทักษะความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการทำงาน ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพต่างๆ เป็นหลัก มากกว่าที่จะผลักดันเด็กเหล่านี้ทั้งหมดกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา เหตุผลเพราะบริบทแวดล้อม และปัจจัยเงื่อนไขของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเหล่านี้ไม่สะดวกให้กลับไปเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานภาคบังคับ

สร้างเครือข่ายเชื่อมโยงครู-เด็ก-ฐานข้อมูล

แผนการทำงานของ กสศ. ระหว่างปี 2021-2022 นี้ ดร.ภูมิศรัณย์ อธิบายว่าแบ่งการทำงานออกเป็น 3 แนวทาง

  1. การมุ่งไปที่ตัวเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้ได้รับความช่วยเหลือ ทั้งด้านทุนและการเข้าถึงความรู้และการศึกษาที่มีคุณภาพตามความต้องการของผู้เรียน
  2. การให้ความช่วยเหลือครูและผู้ดูแล (caregivers) ที่มีอยู่ราว 3,140 คน ในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนคุณภาพ จัดทำระบบดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กให้มีร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์พร้อม
  3. การมุ่งพัฒนาระบบข้อมูลความรู้ ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัย เพื่อนำมาต่อยอดในการช่วยเหลือเด็กนอกระบบ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลให้มีความถูกต้อง เที่ยงตรง แม่นยำ

ปัจจุบัน กสศ.ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อให้ความช่วยเหลือเด็กนอกระบบการศึกษาใน 20 จังหวัด ด้วยวิธีการช่วยโดยอิงตามบริบทพื้นที่ (Area-based approach) และบริบทชุมชน (Community-based approach) 

ดร.ภูมิศรัณย์เน้นย้ำว่า แนวทางหลักของ กสศ. ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีขนาดไม่ใหญ่มากแห่งนี้ ยังคงมุ่งไปที่การพัฒนาระบบข้อมูลไอซีที ทั้งในแง่ของการเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ การจัดเก็บ และการจัดทำทัศนภาพข้อมูล (data visualization) เพื่อให้มีหน่วยงานพันธมิตรทั้งหลาย รวมถึงตัว กสศ.เองมีแนวทางและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อวางแผนกรอบการทำงานและให้ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด 

“สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือ การทำงานเพื่อการศึกษาเป็นงานที่หนักมาก และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง ทั้งรัฐบาล เอกชน องค์กรอิสระ และชุมชน แต่ผลลัพธ์ของการนำพาเด็กกลับคืนสู่ห้องเรียนและได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพื่อให้มีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ถือเป็นผลงานที่เราทุกคนควรจะภาคภูมิใจร่วมกันมากที่สุดครับ”

ที่มา : โครงการประชุมนานาชาติ ครั้งที่ 7 หรือ The 7th International Conference Lifelong Learning for All 2021 (LLL 2021) ภายใต้หัวข้อ“TEACHING AND LEARNING FOR OUT-OF SCHOOL CHILDREN AND OLDER ADULT LEARNERS IN THE COVID-19 CRISIS AND BEYOND” โดย ภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ DVV International