กสศ.ร่วมมือสพฐ.เดินหน้า ระบบสารสนเทศเฟสสอง เชื่อมข้อมูล สกัดเด็กหลุดทันท่วงที

กสศ.ร่วมมือสพฐ.เดินหน้า ระบบสารสนเทศเฟสสอง เชื่อมข้อมูล สกัดเด็กหลุดทันท่วงที

กสศ.ร่วมมือกับ สพฐ. เดินหน้าพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน ระยะ 2 ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ป้องกันความเสี่ยงเด็กหลุดออกจากระบบ ลดภาระครูในการกรอกข้อมูล พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลให้รับทราบปัญหาของนักเรียนสู่การช่วยเหลือรายบุคคล นำร่องในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง มีโรงเรียนร่วมแล้วกว่า 1,000 โรงเรียน 

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมชี้แจงการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนระยะที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ผ่านระบบ Zoom Meeting เพื่อให้ทราบถึงกรอบแนวทางการดำเนินงานและการขยายผลการทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมีครูประจำชั้น ครูแอดมินระบบโรงเรียน ผู้อำนวยการสถานศึกษา และเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 29 เขตพื้นที่นำร่อง เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละเขตพื้นที่ และร่วมกันออกแบบเครื่องมือการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน 

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ.

โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย เพราะสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคือข้อมูลของเด็กรายบุุคคล ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพได้อย่างไร จากที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ จนมีประวัตินักเรียนที่บันทึกผ่านการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านดูสภาพความเป็นจริง

สิ่งที่สำคัญคือเรายังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบในลักษณะเครือข่ายที่ใช้ร่วมกันได้ทั้งประเทศ จึงกลายเป็นว่าข้อมูลที่มียังคงกระจัดกระจาย  และใช้กันอยู่เพียงเฉพาะในหน่วยงานนั้นๆ

วันนี้เป็นโอกาสดีที่ สพฐ. กสศ. และมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมกันออกแบบโปรแกรมรวบรวมข้อมูลของนักเรียนทุกคน และมีแบบแผนการทำงานที่ลงรายละเอียดว่าจะเก็บข้อมูลด้านใด หรือจะนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้นำเทคโนโลยีมาช่วยสร้าง Big Data ซึ่งแสดงผลได้เลยว่าเด็กทุกคนไม่ว่าจะเรียนอยู่ตรงไหนในประเทศ ก็ยังสามารถติดตามได้ทั้งหมด

“ทั้งนี้ยังเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะทำให้ทราบชัดเจน แยกแยะได้ว่านักเรียนที่อยู่ในข้อมูลนั้นเป็นกลุ่มใด เช่น นักเรียนกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มพิการ กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ สามารถให้ความช่วยเหลือได้หมดและตรงจุด พร้อมอยากฝากให้ผู้ที่บันทึกข้อมูลทำโปรแกรมต่างๆ ตรวจสอบมากขึ้นด้วยว่า มีการเก็บข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่อย่างไร หากมีควรนำมาจัดเก็บไว้ในที่เดียวกัน เพื่อให้เกิดการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และการเก็บข้อมูลของนักเรียนเพื่อให้ความช่วยเหลือ ถือเป็นคุณูปการอย่างยิ่งสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลในอนาคต และเป็นประโยชน์อย่างมากในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนในสังกัด สพฐ.ต่อไป พร้อมขอบคุณ กสศ.และมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ช่วยสร้างความร่วมมือเพื่อดูแลเด็กนักเรียน” ดร.อัมพรกล่าว 

นายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจ
คุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ.

ด้านนายนิสิต เนินเพิ่มพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สพฐ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน ประสานความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ดำเนินโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยทดลองระบบนำร่องระยะที่ 1 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่ง รวม 616 โรงเรียน ซึ่งประสบความสำเร็จในด้านการนำข้อมูลมาช่วยจัดทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนและนักเรียนยากจนพิเศษ 

ขณะนี้ได้มีการต่อยอดขยายผลใช้งานระบบสารสนเทศดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนให้มากขึ้น โดยเป็นการดำเนินงานไปสู่ระยะที่ 2 ทำให้มีโรงเรียนที่เห็นประโยชน์การดำเนินงานเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 391 โรงเรียน รวมแล้วทั้งสิ้น 1,005 แห่ง การเชื่อมโยงข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนอย่างมากที่ช่วยลดความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการพัฒนากำลังคนเพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การรับรู้ต้นทุนด้านข้อมูลทางการศึกษาได้ตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัยจนไปสู่ชั้นเรียนที่สูงขึ้น จะสามารถทำให้เกิดการจัดสรรความช่วยเหลือแก่เด็กได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาต่อไปในอนาคต 

กลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้งในเขตพื้นที่การศึกษา 29 แห่งนี้ ถือเป็นผู้เบิกทางในการพัฒนาระบบในปี 2565 ต่อไป ซึ่งจากการเก็บข้อมูลในปี 2563-2564 ที่ผ่านมาพบว่า จากเด็กนักเรียนยากจนพิเศษกว่า 1,235,000 คน มีเด็กที่ยังไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ประมาณ 54,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในชั้นเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 ร้อยละ 47.54 รองลงมาคือชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หลังจากนี้จะมีการติดตามนักเรียนกลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้มากขึ้น 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กสศ.

สำหรับข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่า จากการเชื่อมต่อข้อมูลของทั้ง DMC และ CCT ทำให้รับทราบถึงสถานการณ์ของเด็กนักเรียนได้ปีละ 2 ครั้ง ส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือไปยังเด็กที่มีความสำคัญมากกว่าเดิม สามารถตามเด็กนักเรียนให้กลับคืนสู่ระบบการศึกษาได้ และยังช่วยลดภาระของครูได้อย่างมากอีกด้วย จากเดิมที่ต้องลงข้อมูลจดไว้ในสมุด ก็สามารถลงบันทึกไว้ในโปรแกรมรูปแบบ One Application และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นต่อไป

“การลงบันทึกข้อมูลเหล่านี้ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะ กสศ.ได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนที่ต้องการศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เช่น ได้ร่วมนำส่งข้อมูลไปยังสถาบันระดับอุดมศึกษาผ่านระบบ TCAS โดยอัตโนมัติ ทำให้สถาบันการศึกษาได้รับทราบข้อมูลความยากจนของเด็กและนำมาสู่ความช่วยเหลือได้อย่างตรงจุดมากกว่าเดิม ซึ่งมหาวิทยาลัยสามารถนำข้อมูลนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาให้ทุนการศึกษาได้ต่อเนื่องทันที ขณะเดียวกันยังได้รายงานข้อมูลที่เก็บไว้ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนทำให้เกิดการระดมทุนให้ความช่วยเหลือแก่เด็กนักเรียนที่ยากจนได้มากขึ้น” 

ดร.ไกรยสกล่าวว่า ข้อมูลที่เก็บไว้ในระบบสามารถนำมาใช้กับภาคการสาธารณสุขได้เช่นกัน โดยเฉพาะบางครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง โดย กสศ.ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้รับทราบถึงจำนวนผู้ป่วยในสถานะต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น และยืนยันว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยต่อยอด ขยายผลให้มีการนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาใช้งานได้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีการศึกษา 2565 ต่อไป

นางสาวรักชนก กลิ่นเจริญ นักวิชาการ สำนักบริหารเงินอุดหนุนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ. กล่าวถึงกรอบแนวทางและปฏิทินการดำเนินงานโครงการ ระยะที่ 2 นี้ว่า จะดำเนินงานทั้งในมิติของการเชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนรายบุคคลจากระบบ DMC และข้อมูลการคัดกรองความยากจน ระบบ CCT เพื่อนำไปสู่การประมวลผลเพื่อทำงานช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล คัดกรองความเสี่ยงของนักเรียนที่ครอบคลุมมิติอื่นๆ จำแนกกลุ่มนักเรียนให้ชัดเจน ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง หรือนักเรียนที่มีปัญหา และการแจ้งเตือนแบบ Early Warning เพื่อนำมาสู่การให้ความช่วยเหลือแบบทันท่วงที 

พร้อมจุดเน้นการทำงานร่วมกันในเรื่องการถอดบทเรียนกลไกการทำงานระบบดูแลช่วยเหลือของสถานศึกษา เพื่อศึกษา วิเคราะห์ และพัฒนาแนวทางการทำงานสู่การติดตามการช่วยเหลือนักเรียน ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานศึกษา (School-Based Interventions) เพื่อให้ความช่วยเหลือมาถึงเด็กได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเก็บรวบรวมความคิดเห็นของผู้ใช้งานและการพัฒนาระบบงานและระบบสารสนเทศที่สอดคล้องกับบริบทการทำงาน เพื่อปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคตต่อไป

ขณะเดียวกันยังได้เปิดช่องทางการอบรมการใช้งานเครื่องมือสารสนเทศและประชุมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระหว่างครูผู้สอน ผู้ดูแลระบบ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา ให้มีความเข้าใจในการดำเนินงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการอบรมผ่านระบบออนไลน์ และมีการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบ E-Learning เพื่อให้คุณครูผู้ปฏบัติงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลา  ซึ่งจะสามารถเปิดลงทะเบียนให้อบรมได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 7 ธันวาคมเป็นต้นไป สถานศึกษาที่อยู่ในโครงการนำร่อง สามารถเริ่มดำเนินการบันทึกข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศ ทั้งการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล และคัดกรองความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยระบบนี้จะดำเนินการให้บันทึกข้อมูลได้จนถึงเดือนมีนาคม 2565