Daughters of Destiny ซีรีส์สารคดี ชวนรู้จัก “สันติภาวัน” โรงเรียนกินนอนเพื่อเด็กผู้ยากไร้ในอินเดีย
โดย : KAMALA THIAGARAJAN - https://www.npr.org/
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

Daughters of Destiny ซีรีส์สารคดี ชวนรู้จัก “สันติภาวัน” โรงเรียนกินนอนเพื่อเด็กผู้ยากไร้ในอินเดีย

ชวนทำความรู้จักโรงเรียนสันติภาวัน โรงเรียนกินนอนเพื่อผู้ยากไร้ในอินเดีย ซึ่งสามารถพลิกชีวิต มอบโอกาส และสร้างอนาคตให้แก่เด็กยากจนชาวอินเดียได้หลายร้อยชีวิตแล้วในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อช่วง 14 ปีที่แล้ว “กุสุมา” (นามสมมติ) ในวัย 3 ขวบ จำได้ดีว่ารสชาติของน้ำมะม่วงที่ได้กินเป็นครั้งแรกและเกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายนั้นค่อนข้างเป็นรสชาติที่พิลึกเพียงใด แต่กุสุมาก็ดื่มอย่างยินดี โดยไม่เข้าใจว่าแม่ที่ยื่นแก้วมาให้จะมองมาที่ตนด้วยน้ำตานองหน้าทำไม และภาพก็ตัดไป รู้สึกตัวอีกทีกุสุมาก็นอนอยู่ที่โรงพยาบาล พร้อมด้วยแม่และพี่สาวอีก 2 คน

วันนั้นเป็นวันแรกที่กุสุมาได้รู้ว่ารสชาติของน้ำมะม่วงผสมสารหนูเป็นอย่างไร รวมถึงทราบในภายหลังว่า แม่ตั้งใจที่จะฆ่าลูกๆ ก่อนจะฆ่าตัวตายตามเพื่อหลีกหนีชีวิตที่ยากจนข้นแค้นเกินทานทน

โชคดีว่าครอบครัวเธอสามารถรอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์นั้น เพราะวันที่เกิดเหตุมีโจรงัดแงะเข้าไปปล้นบ้านที่แสนซอมซ่อของตน และพบแม่ลูกนอนน้ำลายฟูมปากไร้สติ ทำให้โจรรายนั้นตัดสินใจรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ช่วยเหลือ แม่เลี้ยงเดี่ยวของกุสุมาจึงหันมากัดฟันฮึดสู้อีกครั้ง ภายใต้ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากภาครัฐและองค์กรอิสระที่ทราบเรื่อง

และช่วงเวลานั้นเองที่กุสุมาได้รู้จักกับโรงเรียนสันติภาวัน ซึ่งเปิดรับคัดเลือกนักเรียนยากจนทั่วอินเดียในวัย 4 ปีไปดูแลให้การศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลจนจบชั้นมัธยม

ขณะนั้นกุสุมาเป็นคนเดียวภายในบ้านที่อายุถึงเกณฑ์ บวกกับคำแนะนำจากมูลนิธิที่ช่วยเหลือ ทั้งครอบครัวจึงตัดสินใจเดินเท้าไปยังโรงเรียนสันติภาวัน ย่านชานเมืองของบังกาลอร์ เพื่อพากุสุมาไปสมัครเรียน ขณะที่พี่สาวอีกสองคนเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐทั่วไป แม่กุสุมาเปิดเผยภายหลังว่า การให้กุสุมาเรียนที่สันติภาวันนับเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดในชีวิต

เพราะปัจจุบันนี้ กุสุมาในวัย 18 ปี และกำลังจะสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสันติภาวัน ได้รับทุนเรียนต่อในระดับปริญญาตรีเต็มจำนวนจากมหาวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี่ (Middlebury College) ในรัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐฯ หลังสามารถทำคะแนนสอบ SAT ซึ่งเปิดให้สอบในปี 2021 เป็นปีแรกของโรงเรียนสันติภาวัน ทั้งนี้กุสุมาทำคะแนน SAT ได้ถึง 91% โดยเธอตั้งใจที่จะศึกษาในวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า หลังจากได้รับใบปริญญาแล้ว เจ้าตัวจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ทรงคุณค่าของประเทศอินเดียมากเพียงใด

และความสำเร็จนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กุสุมาเท่านั้น แต่ยังมีเพื่อนร่วมโรงเรียนอีก 3 คน ที่สามารถสอบชิงทุนปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ นับเป็นแนวโน้มทางบวกที่โรงเรียนสามารถผลิตนักเรียนที่มีศักยภาพแข่งขันทางด้านวิชาการบนเวทีระหว่างประเทศได้

ขณะเดียวกันก็เป็นอีกบทพิสูจน์ที่โรงเรียนสันติภาวันพยายามแสดงให้เห็นมาโดยตลอดว่า “การศึกษา” เท่านั้น คือทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

ความแตกต่างที่โดดเด่นของโรงเรียนสันติภาวัน

โรงเรียนสันติภาวันก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1997 ทว่าเริ่มปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากนานาประเทศทั่วโลก หลังจากที่มีทีมถ่ายทำของผู้กำกับรางวัลออสการ์อย่าง วาเนสสา รอธ (Vanessa Roth) มาถ่ายทำสารคดีเรื่อง Daughters of Destiny (บุตรสาวแห่งโชคชะตา) และเผยแพร่บนเน็ตฟลิกซ์ในปี 2017

สิ่งที่ทำให้โรงเรียนสันติภาวันโดดเด่นและแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ การเปิดรับนักเรียนมาดูแลตั้งแต่วัย 4 ขวบจนจบชั้นมัธยมปลายโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะเด็กทั้งหมดจากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดของอินเดีย คือมีรายได้ต่ำกว่าวันละ 2 เหรียญสหรัฐ (ราว 60 บาท) และอาศัยอยู่ตามชนบทห่างไกล หรือย่านสลัมชุมชนแออัดของเมืองใหญ่

อาจิต จอร์จ (Ajit George) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานของโรงเรียนกล่าวว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่เพียงยากจนเท่านั้น แต่ด้วยวรรณะที่ต่ำต้อยทำให้เด็กถูกกีดกันแบ่งแยกจากสังคม อีกทั้งตัวเด็กเองยังต้องเผชิญกับปัญหาภายในครอบครัว เช่น ปัญหาการใช้ความรุนแรง ปัญหายาเสพติด การพนัน เหล้า บุหรี่ ขณะที่เด็กอีกส่วนหนึ่งกดดันเพราะเป็นกำพร้าพ่อหรือกำพร้าแม่

แพทริก อินกลิส (Patrick Inglis) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งวิทยาลัยกรินเนลล์ (Grinnell College) เสริมว่า สิ่งที่ทำให้โรงเรียนสันติภาวันโดดเด่นคือ การกำหนดเส้นทางสู่ความสำเร็จของนักเรียนแต่ละคน โดยโรงเรียนไม่เพียงแต่สนับสนุนเด็กในขณะที่ยังเป็นนักเรียน แต่ยังให้การสนับสนุนไปจนถึงวันที่เด็กเหล่านี้ได้งานทำครั้งแรก ซึ่งข้อสรุปนี้ของอินกลิสได้มาจากการที่เจ้าตัวได้สัมภาษณ์ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนประมาณ 45 คนเพื่อดูว่าโรงเรียนช่วยเด็กๆ ให้พ้นจากความยากจนและเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างไร

ขณะนี้อินกลิสอยู่ในระหว่างการเขียนและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนโรงเรียนสันติภาวัน ซึ่งใช้ชื่อหนังสือว่า Paying it Forward: The Promise and Burden of a Good Education

อินกลิสยังชื่นชมว่า สิ่งที่โรงเรียนสันติภาวันทำเป็นเดิมพันที่กล้าหาญ

“จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคุณอุทิศเวลา เงิน ความรัก และการสนับสนุนให้กับเด็กยากจนจากชุมชนชายขอบ?”

นางสาวกุสุมาคือคำตอบที่ชัดเจนที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย

นิโคล เคอร์วิน (Nicole Curvin) คณบดีที่มหาวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี่ (Middlebury) กล่าวว่า โรงเรียนสันติภาวันเป็นโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนใคร ศิษย์เก่าของสันติภาวันอย่างกุสุมาเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นอย่างชัดเจน ผ่านใบรับรองผลการเรียน จดหมายรับรอง การทดสอบที่ได้มาตรฐาน การสัมภาษณ์ และเรียงความว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าร่วมและมีส่วนร่วมในโปรแกรมการศึกษาที่เข้มงวดของมิดเดิลเบอรี่ นอกจากนี้สถาบันยังพิจารณาบริบทของแต่ละบุคคลและประสบการณ์ชีวิต ซึ่งกุสุมาถือเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมาก

ขณะที่กุสุมากล่าวว่า ความสำเร็จในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่เจอครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนสันติภาวัน และยิ่งเติบโตและได้เรียนรู้มากเท่าใด ก็ทำให้ตนเองเข้าใจโลก เข้าใจความยากลำบากที่แม่ต้องเผชิญมากขึ้น ดังนั้นความเข้าใจนี้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างกุสุมากับแม่ยังคงแข็งแกร่งอบอุ่น

ที่มาที่ไปของโรงเรียนสันติภาวัน

โรงเรียนสันติภาวันมาจากความคิดริเริ่มของอับราฮัม จอร์จ (Abraham George) นักธุรกิจชาวอินเดียผู้สร้างรายได้มหาศาลจากการทำธุรกิจด้านซอฟต์แวร์ โดยความต้องการที่จะสร้างโรงเรียนสันติภาวันก่อตัวขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ที่เจ้าตัวยังรับใช้กองทัพและต้องเดินทางตระเวนไปทั่วประเทศในฐานะทหาร ซึ่งการทำงานในครั้งนั้นทำให้อับราฮัม จอร์จ มองเห็นความเหลื่อมล้ำที่หยั่งรากฝังลึก ตระหนักถึงอคติที่คนยากจนต้องเผชิญ และเผชิญการแบ่งแยกกีดกันอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะวรรณะที่ติดตัวมา

ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เจ้าตัวปรารถนาที่จะช่วยเหลือผู้ยากไร้ให้พ้นวังวนความยากจน เป้าหมายของจอร์จคือ ความยากจนนั้นควรทำ “ให้มันจบในรุ่นเรา” เมื่อตั้งเป้าดังนั้นแล้ว เขาจึงริเริ่มด้วยการส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ลูกๆ ของคนยากจนเหล่านี้ โดยมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้รับการดูแลจนประสบความสำเร็จในอาชีพ

“ความปรารถนานี้มาจากความเชื่อมั่นของผมที่รู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของผมที่จะช่วยเหลือผู้ขัดสน” จอร์จในวัย 75 ปีกล่าว โดยทุกปีจอร์จจะพำนักอยู่ที่โรงเรียนสันติภาวันเป็นเวลา 9 เดือน ส่วนช่วง 3 เดือนที่เหลือเขาจะเดินทางไปพำนักที่บ้านพักในรัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา

ในปี 1997 จอร์จตัดสินใจสร้างโรงเรียนโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาและครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน ในปีแรกรับเด็กจำนวน 48 คน โดยเป็นเด็กก่อนวัยเรียน 24 คน และเด็กระดับชั้นอนุบาลอีก 24 คน ก่อนขยับขยายเปิดเป็นโรงเรียนสอนแบบเต็มอัตรา ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 สำหรับเด็กอายุ 4-17 ปี

สำหรับสาเหตุที่ใช้ชื่อโรงเรียนว่าสันติภาวัน ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต เพราะเขาต้องการให้โรงเรียนแห่งนี้เป็น “สวรรค์แห่งสันติภาพ”

ในช่วง 12 ปีแรกโรงเรียนได้รับเงินทุนทั้งหมดจากเงินออมของจอร์จ ขณะที่ลูกชายคือ อาจิต จอร์จ (Ajit George) เข้ามาคอยช่วยดูแลดำเนินการตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แม้จะประสบกับช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008 แต่ทั้งสองพ่อลูกก็กัดฟันประคับประคองโรงเรียนสันติภาวันให้อยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม จากการที่ครอบครัวของจอร์จไม่ได้ขอความช่วยเหลือจากองค์กรอื่นใด ทำให้ปัญหาการเงินของครอบครัวส่งผลกระทบต่อโรงเรียนโดยตรง ดังนั้นในทุกวันนี้ แม้ว่าครอบครัวของจอร์จจะยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักแก่โรงเรียน แต่ก็มีการเปิดรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งรวมแล้วมากกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“เงินทุนในปัจจุบันของเรามาจากหลากหลายแหล่ง ทั้งจากผู้บริจาคระดับรากหญ้าและผู้บริจาครายบุคคล บริษัทเอกชนต่างๆ พันธมิตรที่ไม่หวังผลกำไร เป็นต้น โดยโรงเรียนได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่ง รวมถึงองค์กรชั้นนำระหว่างประเทศอย่าง “She’s the First”, “Broadway for Arts Education”, “McKinsey for Children” และบริษัทด้านการลงทุน เช่น Baleen Capital”

แม้ทุกวันนี้โรงเรียนสันติภาวันจะเป็นรู้จักมากขึ้นในอินเดีย แต่ด้วยศักยภาพในปัจจุบัน ทำให้สามารถรับนักเรียนได้เพียงปีละ 26 คนเท่านั้น แบ่งเป็นเด็กชายและเด็กหญิงเท่าๆ กัน ท่ามกลางผู้สมัครที่เข้ามาสมัครหลายร้อยคน โดยอาจิต จอร์จ ยอมรับว่า การคัดเลือกเป็นเรื่องที่ยากและท้าทายเสมอ เพราะอินเดียไม่เคยขาดแคลนเด็กที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ  อย่างไรก็ตามในปี 2017 อาจิต จอร์จ ตัดสินใจเริ่มระดมทุนเพื่อสร้างโรงเรียนสันติภาวันแห่งที่สองในหมู่บ้านจิกกะโหศะฮัลลี (Chikkahosahalli) ห่างจากเมืองบังกาลอร์ ในรัฐกรณาฏกะ ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียราว 1 ชั่วโมง โดยโรงเรียนแห่งที่สองนี้กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2022 นี้

อนาคตและโอกาสที่มาพร้อมชีวิตใหม่จากรั้วโรงเรียน

แม้จะเริ่มต้นด้วยความปรารถนาดี แต่เส้นทางการดำเนินงานโรงเรียนสันติภาวันก็ไม่ได้ราบรื่นและประสบความสำเร็จทันที โดยในช่วงปีแรกอาจิต จอร์จ กล่าวว่า โรงเรียนสันติภาวันมีอัตราเด็กลาออกกลางคันสูงมาก เพราะพ่อแม่ไม่เพียงจะดึงลูกไปทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าโรงเรียนสันติภาวันจะทำตามที่พูดไว้ได้

“เราเริ่มต้นด้วยเด็ก 24 คน [ต่อชั้นเรียน] แต่กลับมีเด็กจบการศึกษาต่อชั้นเรียนที่ 14 หรือ 16 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้โรงเรียนสามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ดีขึ้นและมีนักเรียนที่ลาออกกลางคันเพียง 2-3 คนต่อปี” อาจิต จอร์จ กล่าว ก่อนเสริมว่า หลักสูตรที่เข้มงวดก็เป็นอุปสรรคสำหรับนักเรียนบางคนเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ทางโรงเรียนได้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วโดยจะให้การสนับสนุนด้านวิชาการที่จำเป็นเพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้ทัน และมุ่งไปที่การขัดเกลาพัฒนาทักษะตามความถนัดของผู้เรียนเป็นหลัก

การหาครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำงานในพื้นที่ชนบทของโรงเรียนเป็นความท้าทายอีกประการหนึ่ง โดยโรงเรียนสันติภาวันตั้งอยู่ในหมู่บ้านบาลีกะณาปัลลี (Baliganapalli) ห่างจากเมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่ใกล้ที่สุดราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ซึ่งค่อนข้างลำบากต่อการเดินทาง ทำให้ปี 2004 ทางโรงเรียนจึงได้เริ่มให้บริการที่พักแก่ครอบครัวของครู โดยหวังว่าสิทธิพิเศษนี้จะทำให้เหล่าคุณครูอยู่ได้นานขึ้น

แม้จะมีอุปสรรคท้าทายมากมาย แต่โรงเรียนก็สามารถบ่มเพาะนักเรียนให้สามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยทั้งในอินเดียและในต่างประเทศจนจบเป็นบัณฑิตทุกคน เป็นไปตามพันธกิจของโรงเรียนสันติภาวัน โดยที่โรงเรียนยังคงสนับสนุนนักเรียนในเรื่องค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายระหว่างที่เรียนในมหาวิทยาลัย

อาจิต จอร์จ กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นของเราที่มีต่อลูกหลานของเราคือการสนับสนุนตั้งแต่วันแรกที่ไปโรงเรียนจนถึงวันแรกของการทำงาน นี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าพวกเขาจะหลุดพ้นจากความยากจนอย่างถาวร”

ขณะเดียวกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่จะหลุดพ้นความยากจน ทางโรงเรียนจึงมุ่งสนับสนุนให้นักเรียนได้ศึกษาในสาขา STEM หรือธุรกิจ สาขาเหล่านี้เป็นสาขาที่มีรายได้สูงในอินเดีย และผู้บริหารต้องการให้แน่ใจว่าผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับเงินมากพอที่จะช่วยให้ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจน มีบัณฑิตที่ทำงานด้านธุรกิจ การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับที่ศาสตราจารย์แพทริก อินกลิส แห่งวิทยาลัยกรินเนลล์ (Grinnell College) เคยกล่าวไว้เช่นกัน

แม้จำนวนนักเรียนของโรงเรียนสันติภาวันจะยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ แต่จำนวนเล็กน้อยนี้ก็ถือเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งแรงบันดาลใจชั้นยอดให้หน่วยงานอื่นๆ ได้ก่อตั้งสถาบันการศึกษาที่คล้ายคลึงกับโรงเรียนสันติภาวัน เพื่อสร้างบุคลากรชั้นดีให้กับประเทศอินเดียต่อไป

ปีหน้านอกจากกุสุมาที่ได้ทุนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยมิดเดิลเบอรี่ เวอร์มอนต์แล้ว ยังมีนาวีน วัย 19 ปี ได้ทุนเข้าเรียนปี 1 มหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University) เวล วัย 19 ปีได้ทุนที่มหาวิยาลัยสแตนฟอร์ด และซามูเอล วัย 18 ปี ซึ่งได้ทุนการศึกษาที่ดาร์ทเมาท์ (Dartmouth) โดยทั้งหมดเป็นทุนการศึกษาเต็มจำนวน ขณะที่นักเรียนร่วมชั้นที่เหลือทั้งหมดก็สามารถสอบผ่านสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในอินเดียได้


หมายเหตุ

โรงเรียนสันติภาวัน (Shanti Bhavan) ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ถือเป็นโรงเรียนกินนอนเพื่อเด็กยากจนที่สุดในอินเดีย (the poorest poor) หรือครอบครัวจากวรรณะที่อยู่ชั้นล่างสุดของสังคม ซึ่งมักถูกกีดกันรังเกียจจากคนในสังคม ขณะที่ครอบครัวส่วนใหญ่มีรายได้น้อยกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ราว 60 บาท)

สำหรับโรงเรียนสันติภาวันแห่งนี้ จะเปิดรับดูแลและให้การศึกษาเด็กตั้งแต่อายุ 4 ขวบจนกระทั่งจบการศึกษาในระดับมัธยม โดยที่ทางโรงเรียนจะให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวน ซึ่งเด็กที่เรียนจบการศึกษาส่วนใหญ่ต่างได้รับโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยทุนการศึกษาเต็มจำนวนทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจุบัน (ปี 2021) มีนักเรียนศึกษาที่โรงเรียนในทุกระดับชั้นทั้งหมด 250 คน 

สามารถรับชมสารคดีเรื่อง Daughters of Destiny เกี่ยวกับโรงเรียนสันติภาวัน ได้ในเน็ตฟลิกซ์

ที่มา : These 4 college freshmen from India have a remarkable story to tell