สส.อังกฤษวอนรัฐเร่งปฎิรูประบบการศึกษาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ
โดย : Branwen Jeffreys - BBC
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

สส.อังกฤษวอนรัฐเร่งปฎิรูประบบการศึกษาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ

บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของสหราชอาณาจักรรวมตัวออกโรงเรียกร้องให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสั พร้อมด้วยกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งยกเครื่องปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลังผลการศึกษาของคณะกรรมการคัดสรรด้านการศึกษา (Education Select Committee) พบว่า การระบดของไวรัสโควิด-19 ส่งให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศอังกฤษขยายวงกว้างมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ รายงานของทางคณะกรรมการคัดสรรด้านการศึกษาพบว่า ผลกระทบ “ร้ายแรง” ของการปิดโรงเรียนในช่วงการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเพิ่มขึ้น โดยเขตการศึกษาใน Yorkshire, Humber, และภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ กลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุด 

พร้อมกันนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังเตือนว่า โครงการกวดวิชาแห่งชาติ (National Tutoring Programme) ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ในปีนี้อยู่มาก โดยโครงการติวเตอร์แห่งชาตินี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กอังกฤษจะได้รับการติวคุณภาพสูงในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในส่วนของการจัดทำรายงานในครั้งนี้ นอกจากจะมีขึ้นเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการศึกษาภายในประเทศแล้ว ทางคณะกรรมการฯ ยังมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการฟื้นฟูทางด้านการศึกษาในประเทศหลังจากที่ต้องหยุดชะงักไป 2 ปี ซึ่งสิ่งที่รายงานค้นพบนำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาปรับเป้าหมายความพยายามของรัฐในโครงการติดตามผลการศึกษาต่าง ๆ โดยให้มีการกระจายอำนาจหน้าที่การทำงานและลดขั้นตอนความซ้ำซ้อนของระบบราชการ 

สำหรับหนึ่งในดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็คือวิชาคณิตศาสตร์หลัก ที่ผลการเรียนของนักเรียนแต่ละภูมิภาคแสดงความแตกต่างอย่าเห็นได้ชัดจนน่าตกใจ โดยพื้นที่การศึกษาในเขตตะวันตกเฉียงใต้ (South West) สูญเสียการเรียนรู้โดยเฉลี่ยที่ 0.5 เดือน ขณะที่ในกรุงลอนดอนอยู่ที่ 0.9 เดือน, ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 4 เดือน และในยอร์คเชียร์ (Yorkshire) และฮัมเบอร์ (Humber) ที่ 5.3 เดือน

ด้านสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า วิชาคณิตศาสตร์หลักถือเป็นหนึ่งในวิชาที่นักเรียนของโรงเรียนประถม Greenhill Primary School ในเมือง Sheffield ต้องได้รับการติวพิเศษอย่างเข้มข้น เนื่องจากความรู้ส่วนใหญ่ของนักเรียนหดหายไป

Toni Whitehouse คุณครู ประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กล่าวว่า การปิดโรงเรียนมีผลกระทบมหาศาลไม่ใช่แค่กับการเรียนรู้เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงพฤติกรรมการเรียนรู้ ซึ่งเจ้าตัวพบว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ มีสมาธิกับการเรียน มีข้อติดขัดในการเข้าร่วมการอภิปรายแสดงความเห็นภายในห้องเรียน และมีปัญหากับการร่วมมือทำงานหรือทำกิจกรรมกับเพื่อนร่วมห้อง

ขณะเดียวกัน นอกจากจะต้องเดินหน้าสอนหัวข้อใหม่ตามหลักสูตรแล้ว คุณครูยังต้องใช้เวลาในการปรับปรุงพื้นฐานบางอย่างอีกด้วย โดยครูToni ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กในความดูแลของตนเองว่า หลังจากกลับมาเรียนที่ห้องเรียน นักเรียนในห้องบางคนไม่เข้าใจว่าจะต้องใช้ตัวอักษรตัวใหญ่ตรงไหน หรือลืมว่าตรงใส่เครื่องหมาย “จุด” ตรงท้ายประโยค ซึ่งทั้งหมดเป็นทักษะที่ครูต้องสอนให้แก่เด็กๆ ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-5 ขวบ 

ด้าน Annabel หนึ่งในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยอมรับว่า ห้องเรียนเสริมพิเศษกับบรรดาครูในแต่ละวิชาเป็นตัวช่วยสำคัญในการรื้อฟื้นทบทวนความรู้ของตนเองหลังจากที่ไม่ได้มาโรงเรียนนานร่วม 2 ปี โดยเฉพาะในวิชาคณิตศาสตร์และตรรกะ ซึ่งในช่วงล็อคดาวน์ Annabel ระบุว่าแทบจะไม่ได้เรียนอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ดังนั้นจึงสูญเสียความมั่นใจไปมากเมื่อกลับมาเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง

ขณะที่ทาง Nicola นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อีกราย กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลจริง ๆ ก็คือการเลื่อนระดับชั้นไปสู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะการล็อคดาวน์ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้านบางส่วน ทำให้ไม่ค่อยมั่นใจในระดับความรู้ของตนสักเท่าไรนัก 

โควิด-19 สร้างความเสียหายระยะยาว

ทั้งนี้ ในรายงานประจำปีของกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ ระบุว่า ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการชดเชยการสูญเสียการเรียนรู้จากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด -19 ของอังกฤษในห้วงเวลานี้จัดอยู่ในประเภท “วิกฤตหรือมีโอกาสเกิดขึ้นมาก”

กระนั้น สำหรับ Robert Halfon ประธานคณะกรรมการคัดสรรด้านการศึกษากล่าวว่าความเสียหายจากโควิด-19 จะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว พร้อมย้ำว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ร้ายแรงจนน่าหวั่นใจ เด็ก ๆ สูญเสียการเรียนรู้ไปหลายเดือน โดยเฉพาะ เด็กด้อยโอกาสมักจะล้าหลังในวิชาคณิตศาสตร์ประมาณ  5-8 เดือน 

“เรากำลังทำลายโอกาสในชีวิตของพวกเขาหากเราไม่ได้จัดการวางแผนดำเนินการในโครงการติดตามฟื้นฟูการศึกษาที่ถูกต้อง” Robert Halfon กล่าว พร้อมแสดงความกังวลว่า หากเงินเกือบ 5,000 ล้านปอนด์ที่ทุ่มเทไปจนถึงตอนนี้ยังใช้ไม่ได้ผลดีนัก ก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะเกลี้ยกล่อมให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแก่ระบบการศึกษาได้

ระบบจัดสรรงบที่สับสน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลอังกฤษได้นำร่องทดลองลองใช้แนวทางส่วนหนึ่งของโครงการกวดวิชา แห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนหลักของโครงการติดตามผลการฟื้นฟูการศึกษาของรัฐบาล เพื่อรับครูพี่เลี้ยงทางวิชาการสำหรับนักเรียน กระนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พบว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะคัดสรรบุคลากรคุณภาพและมีคุณสมบัติดีพอเข้าร่วมโครงการติวเตอร์แห่งชาติ

ดังนั้น ในปี 2022 นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแก้ไขด้วยการใช้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ของตนเองภายใต้งบพิเศษบางส่วนจากรัฐบาลในการจัดห้องเรียนติวพิเศษแทนที่จะใช้โรงเรียนกวดวิชาที่มีความชำนาญซึ่งผ่านการคัดสรรคัดกรองจากรัฐบาลกลาง ซึ่ง Nicola Shipman ประธานบริหารโรงเรียนในเขตการศึกษา Greenhillกล่าวว่า วิธีดังกล่าวเป็นการทบทวนแนวทางการใช้งบให้คุ้มค่า เพราะใช้งบผ่านบุคลากรที่รู้จักพฤติกรรมการเรียนและมีความใกล้ชิดกับนักเรียนเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังสามารถเสนอของบประมาณจากโครงการกวดวิชาแห่งชาติเพื่อจัดการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมด้วยตนเองสำหรับกลุ่มนักเรียนด้อยโอกาส หรือพยายามจับคู่กับหน่วยงานกวดวิชาและที่ปรึกษาทางวิชาการสำหรับนักเรียน ผ่านทาง Randstad บริษัทเอกชน ซึ่งชนะการประมูลเข้ามารับผิดชอบดูแล 

อย่างไรก็ตาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษเผยว่าขณะนี้มีหลักสูตรเพียง 52,000 หลักสูตร หรือ เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายในปีนี้สำหรับหลักสูตรกวดวิชาทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่า การจัดการด้วยเงื่อนไขข้างต้นทำให้มีหลักสูตรกวดวิชาได้น้อย 

สส.อังกฤษ ออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการดำเนินงานของ  Randstad ขาดความโปร่งใส อีกทั้งยังมีความไม่ชอบมาพากลในการตัดสินใจที่จะผ่อนคลายเป้าหมายเพื่อเข้าถึงนักเรียนที่ยากจนกว่าด้วยการสอนพิเศษ

ทั้งนี้ หาก Radnstad ไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพในดีขึ้นกว่าเดิม ทางสส.อังกฤษก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกสัญญากับบริษัทดังกล่าว ก่อนย้ำว่า การเพิ่มเส้นทางการให้ทุนที่แสนสับสนวุ่นวายในปัจจุบันควรแทนที่ด้วยการให้รัฐบาลจัดสรรเงินโดยตรงให้กับทางโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่ต้องการหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนมากที่สุด

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลอังกฤษใช้งบประมาณเพื่อฟื้นฟูการศึกษาทั่วประเทศไปแล้วมากกว่า 5,000 ล้านปอนด์ 

กระนั้น ทางโฆษกกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษ แสดงความเชื่อมั่นว่า การกวดวิชามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนักเรียนให้สามารถฟื้นฟูความรู้ได้ทันกับที่สูญเสียไป และการส่งมอบอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายของรัฐในการตั้งหลักสูตรสอนพิเศษให้ได้ 2 ล้านหลักสูตรภายในปีการศึกษานี้

“เราจะยังคงทำงานร่วมกับทาง Randstad เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กอังกฤษทุกคนไม่ว่าจะมีภูมิหลังแบบใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจากครอบครัวด้อยโอกาสทั่วประเทศจะได้รับประโยชน์จากการสอนพิเศษคุณภาพสูง รวมถึงโครงการติดตามการเรียนรู้ที่สูญเสียไป” โฆษกกระทรวงศึกษาธิการอังกฤษกล่าว 

ที่มา : Covid pandemic fuels deepening education inequalities in England, say MPs