ผลสำรวจชี้โควิดกระทบจิตใจ-แผนเรียนต่อของเด็กสหรัฐฯ
โดย : The New York Times, AP News
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผลสำรวจชี้โควิดกระทบจิตใจ-แผนเรียนต่อของเด็กสหรัฐฯ

ผลสำรวจโดยองค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐฯ พบว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะเด็กนักเรียนชาวอเมริกัน โดยเกือบ 80% ต้องประสบปัญหาเรื่องแนวทางและแผนการเรียนต่อ ขณะที่อีก 72% ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต และต้องการการช่วยเหลือเยียวยาจากผู้เชี่ยวชาญ

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า กลุ่ม America’s Promise Alliance ได้ดำเนินการสำรวจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาทั่วประเทศจำนวน 2,400 คน ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับการศึกษาของนักเรียนในช่วงปีการศึกษา 2020 – 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า 58% ต้องเรียนออนไลน์ทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมดตลอดปีการศึกษาดังกล่าว ขณะที่ 22% เรียนผสมระหว่างเรียนออนไลน์กับเรียนในห้องเรียน และมีเพียง 19% เท่านั้นที่ได้ศึกษาเล่าเรียนกับครูผู้สอนที่ห้องเรียนโดยตรง 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าจะสามารถประคับประคองจนเรียนจบผ่านระดับชั้นกันมาได้ แต่เกือบ 80% ของนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายยอมรับว่า ไวรัสโควิด-19 มีผลทำให้เด็กต้องเปลี่ยนแผนการชีวิตหลังสำเร็จการศึกษาของตน ขณะที่ 72% ของเด็กอายุระหว่าง 13 – 19 ปี ยอมรับมีปัญหาอึดอัดติดขัดเกี่ยวกับสุขภาพจิตของตนเอง 

นอกจากนี้ ในจำนวนเด็กนักเรียนที่บอกว่าแผนการหลังสำเร็จการศึกษาต้องเปลี่ยนไปเพราะวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระบาด ราว 1 ใน 3 ของนักเรียน ตัดสินใจเปลี่ยนมาเรียนวิทยาลัยใกล้บ้าน ขณะที่ 1 ใน 4 เลือกเรียนวิทยาลัยหลักสูตร 2 ปี แทนมหาวิทยาลัยที่ต้องเรียน 4 ปี ส่วน 17% ระบุเลือกเข้าเรียนมหาวิทยาลัยโดยจะเรียนระบบออนไลน์แทนการเดินทางไปเรียน 16% กล่าวว่า จะไม่เข้าเรียนต่อในวิทยาลัย และ 7% รับว่าไม่มีแผนการเรียนต่อวิทยาลัย 

ยิ่งไปกว่านั้น เกือบครึ่งของนักเรียนที่ตอบว่าต้องเปลี่ยนแผนการเรียน เอ่ยถึงสาเหตุที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแผนการศึกษาในอนาคตของตนเองว่าเป็นเพราะปัญหากดดันทางการเงิน สะท้อนให้เห็นว่า วิกฤตการระบาดครั้งนี้มีแนวโน้มจะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในหมู่เยาวชนของสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น

นอกเหนือจากสอบถามเรื่องแผนการศึกษาแล้ว ในแบบสอบถามยังได้ถามเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านเชื้อชาติและความเป็นธรรม ว่าโรงเรียนของเด็กแต่ละคนมีแนวทางการรับมือกับประเด็นดังกล่าวอย่างไร โดย 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า โรงเรียนมีการสอนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเชื้อชาติ กระนั้นเด็กอเมริกันเชื้อสายเอเชีย, ละติน และแอฟริกา ตลอดจนเด็กเชื้อชาติผสมมองว่าหลักสูตรดังกล่าวไม่ได้สะท้อนภูมิหลังของเชื้อชาติและชนเผ่าของตนเองอย่างแท้จริง

ในส่วนของปัญหาสุขภาพจิตที่เด็กนักเรียนผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ออกมายอมรับว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิตนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจหลายชิ้นก่อนหน้า และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงคำเตือนจากนักจิตวิทยาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งหามาตรการเฝ้าติดตามและดูแลเยียวยาสภาพจิตใจของเด็กอย่างเร่งด่วน โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ได้เร่งจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในการจัดทีมที่ปรึกษา นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คำแนะนำดูแลสภาวะจิตใจของเด็กนักเรียนในพื้นที่แต่ละเขตการศึกษา ภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในชุมชนของแต่ละรัฐแล้ว  

ตัวอย่างเช่น ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ กระทรวงศึกษาธิการได้จับมือกับสมาคมพฤติกรรมสุขภาพจิตชุมชนนิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire Community Behavioral Mental Health Association) จัดการฝึกอบรมที่ปรึกษาสุขภาพจิต เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียนฤดูร้อนทั่วประเทศ โดยที่ปรึกษาเหล่านี้จะไปประจำอยู่ตามค่ายฤดูร้อนในพื้นที่

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Rekindling Curiosity: Every Kid Goes to Camp” (“จุดประกายความอยากรู้อยากเห็น: เด็กทุกคนได้ไปค่าย”) ซึ่งเป็นโปรแกรมหลักสูตรฤดูร้อนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้นโดยมีการช่วยเหลือในเรื่องของค่าเล่าเรียนให้กับทางพ่อแม่ผู้ปกครอง
แฟรงก์ อีเดลบลุต (Frank Edelblut) กรรมาธิการการศึกษาแห่งรัฐนิวแฮมป์เชียร์กล่าวว่า ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องเผชิญกับความเครียด เด็กและเยาวชนก็ต้องเจอกับความเครียดและแรงกดดันเช่นเดียวกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะให้เด็กได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างที่สมกับเป็นเด็กอีกครั้ง ตลอดจนให้โอกาสเด็กๆ เหล่านี้ได้สร้างความทรงจำที่ดีในวัยเด็กของตนเอง

ที่มา :