งานวิจัยเคมบริดจ์ ชี้ เด็กมีแนวโน้มเปิดใจกับหุ่นยนต์มากกว่า นักจิตวิทยาเผย อาจเป็นตัวช่วยคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นได้
โดย : Hannah Devlin - The Guardian
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

งานวิจัยเคมบริดจ์ ชี้ เด็กมีแนวโน้มเปิดใจกับหุ่นยนต์มากกว่า นักจิตวิทยาเผย อาจเป็นตัวช่วยคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นได้

ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดพบว่า หุ่นยนต์ขนาดเล็กกะทัดรัดมีส่วนสำคัญในการช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นได้ เนื่องจากเด็กและวัยรุ่นเหล่านี้มีแนวโน้มจะพูดคุยเปิดใจกับหุ่นยนต์มากกว่ากับนักจิตวิทยา

ผลการศึกษาครั้งนี้มีขึ้นหลังทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นำหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ (หุ่นยนต์จำลองพฤติกรรมมนุษย์) ชื่อ Nao ขนาดความสูง 60 เซนติเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่มีความใกล้เคียงกับเด็กเข้ามาทดลองใช้ในการปรึกษาเยียวยาปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็ก เนื่องจากหนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบคือ เด็กส่วนใหญ่ค่อนข้างไม่สะดวกใจหรือแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความรู้สึกและสภาพจิตใจของตนเอง ต่อนักจิตวิทยาหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง

ทั้งนี้ มองภายนอก หุ่นยนต์ Nao ดูไม่แตกต่างจากอุปกรณ์ประกอบฉากของภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่เห็นได้ทั่วไป แต่การมีอยู่ของ Nao กลับทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสบายใจ และวางใจที่จะพูดคุยกับหุ่นขนาดเท่าเด็กเล็กมากกว่าจะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ และบางครั้งก็เปิดใจพูดคุยในเรื่องที่ไม่เคยเปิดเผยกับพ่อแม่มาก่อน 

ผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการเข้ามาช่วยประเมินสุขภาพจิตของเด็กมากขึ้น แต่ย้ำว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเข้ามาทดแทนนักจิตวิทยามืออาชีพ 

Nida Itrat Abbasi หนึ่งในทีมนักวิจัยเคมบริดจ์ กล่าวว่า การที่นำหุ่นยนต์เข้ามาใช้เป็นเพราะมีหลายครั้งที่วิธีการแบบดั้งเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถสังเกตปัญหาสุขภาพจิตเด็กได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่เด็กยากจะเปิดใจ

“เป้าหมายของเราต้องการดูว่าหุ่นยนต์จะสามารถช่วยในกระบวนการนี้ได้หรือไม่”  Nida Itrat Abbasi กล่าว 

การศึกษาครั้งนี้ มีเด็กอายุระหว่าง 8 – 13 ปี จำนวน 28 คนเข้าร่วมพูดคุยกับหุ่นยนต์ Nao แบบตัวต่อตัว 45 นาที โดย Nao ซึ่งมีเสียงเหมือนเด็กจะเริ่มต้นบทสนทนากับเด็กด้วยประเด็นทั่วไป เพื่อละลายพฤติกรรมและสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองมากขึ้น จากนั้นหุ่นยนต์ Nao ก็จะค่อย ๆ ตะล่อมเข้าคำถามที่ล้วงลึกมากขึ้น คือ จะเริ่มถามเกี่ยวความทรงจำที่เด็กรู้สึกสุขหรือเศร้าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 

จากนั้น หลังจากที่เด็กเริ่มพูดคุย หุ่นยนต์ Nao ก็จะเริ่มพาเด็กตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นแบบสอบถามที่นักจิตวิทยาใช้ในการวัดระดับความเครียด วิตกกังวล ภาวะตื่นตระหนก และสภาวะอารมณ์ดิ่ง ซึ่งเด็กเคยทำแบบสอบถามชนิดเดียวกันนี้ผ่านทางระบบออนไลน์มาแล้วก่อนหน้านี้ 

ผลการศึกษาพบว่า จากการตอบแบบสอบถามออนไลน์ที่ไม่ค่อยแสดงให้เห็นปัญหาสุขภาพจิตเท่าไร แต่การถามคำถามเดียวกันนี้ของหุ่นยนต์ Nao กลับได้คำตอบในเชิงที่แสดงปัญหาสุขภาพจิตในทางลบ หรือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เคยเปิดเผยกับใคร

ทีมนักวิจัยสรุปว่า ผลลัพธ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เด็ก ๆ มีแนวโน้มจะมองหุ่นยนต์เป็นคนที่เขาสามารถเชื่อใจได้ และทำให้พวกเขาสามารถเปิดเผยความรู้สึกและประสบการณ์ที่แท้จริงของพวกเขาได้ และมีหลายกรณีที่คำตอบของเด็ก ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่นั่งสังเกตการณ์ โดยที่เด็กไม่รู้ ถึงกับตระหนกว่า ลูก ๆ ของตนกำลังเผชิญกับปัญหาจิตใจที่ค่อนข้างหนักหน่วงขนาดนี้ 

ขณะเดียวกัน ผลการวิจัยครั้งนี้ยังคล้ายคลึงกับการวิจัยครั้งก่อนหน้าที่พบว่าเด็ก ๆ มีแนวโน้มจะเผยข้อมูลส่วนตัวของตนเอง เช่น การโดนรังแก (Bully) กับหุ่นยนต์มากกว่าผู้ใหญ่ 

ศาสตราจารย์ Hatice Gunes หัวหน้าแล็บปฎิบัติการ Affective Intelligence and Robotics Laboratory ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้เหตุผลว่า ที่เด็ก ๆ เปิดใจกับหุ่นยนต์มากกว่า เพราะเด็กมองว่าหุ่นยนต์ขนาดเล็กเหล่านี้เป็นเหมือนเพื่อนของตัวเอง ขณะที่ในทางกลับกัน เด็กอาจตอบสนองต่อพ่อแม่หรือนักจิตวิทยาด้วย 

“สิ่งที่พ่อแม่คาดหวังจากพวกเขา มากกว่าสิ่งที่พวกเขาคิด”

งานนี้ ศาสตราจารย์ Gunes จึงแนะว่า ในอนาคตโรงเรียนสามารถนำหุ่นยนต์มาใช้เพื่อคัดกรองเด็กที่อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รับการสนับสนุนดูแลปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่เนิ่น ๆ 

ขณะที่ ศาสตราจารย์ Farshid Amirabdollahian ผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์ ที่มหาวิทยาลัยเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยครั้งนี้ แสดงความเห็นว่า การทดสอบดังกล่าวเป็นอีกงานวิจัยหนึ่งชิ้นที่จะเข้ามาเป็นหลักฐานสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น

“เด็ก ๆ มักจะแสดงทัศนคติเชิงบวกต่อเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม ที่สามารถมีปฎิสัมพันธ์ตอบโต้กับเขาได้ เราไม่ได้ต้องการให้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ในการบำบัดเยียวยาปัญหาสุขภาพจิตใจของคน แต่อย่างน้อยหุ่นยนต์ก็ถือเป็นผู้ช่วยชั้นดีในการทำลายกำแพงน้ำแข็งในจิตใจของคนได้เป็นอย่างดี” ศาสตราจารย์ Amirabdollahian กล่าว 

ที่มา : Children more candid about mental health when talking to robot, study finds