‘โอกาสยุติความจนข้ามรุ่น’ กสศ. ร่วมกับ 63 สถาบัน เตรียมให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 66
หนุนเยาวชนยากจนและผู้มีความต้องการพิเศษ เข้าถึงการศึกษาทักษะสูงหลังเรียนจบภาคบังคับ

‘โอกาสยุติความจนข้ามรุ่น’ กสศ. ร่วมกับ 63 สถาบัน เตรียมให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 66

เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการค้นหา และคัดเลือกผู้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2566 เพื่อต่อยอดอนาคตทางการศึกษาและพัฒนากำลังคนสายอาชีพให้มีทักษะสูงสอดคล้องความต้องการตลาดงานและแผนพัฒนาประเทศไทย 4.0 โดยมีสถานศึกษาสายอาชีพทั้งภาครัฐและเอกชน 63 แห่งจาก 34 จังหวัดทั่วประเทศเข้าร่วม ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี

‘ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง’ เป็นนวัตกรรมสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาที่ กสศ. ส่งเสริมเยาวชนผู้ขาดทุนทรัพย์และผู้มีความต้องการพิเศษ ให้มีทางเลือกในการศึกษาหลังเรียนจบภาคบังคับ (ม.3) ร่วมกับสถาบันการศึกษาสายอาชีพ พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในสาขาวิชาชีพที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ (First-Curve, New S-Curve) เช่น สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือระดับอนุปริญญา และหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น 1 ปี ที่ได้รับรองจากหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์

จากการดำเนินงานต่อเนื่อง 4 ปี มีนักศึกษาทุนสำเร็จการศึกษาเข้าไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้แล้วจำนวนหนึ่ง และในปีการศึกษา 2566 มีสถานศึกษาสายอาชีพที่ผ่านการพิจารณาเข้าร่วม 63 แห่ง จาก 34 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย

(ขวา) นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรม
เพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีแรกของการทำงานในปีที่ 5 ที่ กสศ. และสถาบันการศึกษาสายอาชีพที่ร่วมโครงการในปี 2566 จะร่วมกันหารือถึงแนวทางการนำโอกาสทางการศึกษาไปมอบให้กับเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ 15% ล่างสุดของประเทศ รวมถึงเยาวชนด้อยโอกาสผู้มีความต้องการพิเศษ ให้ได้ศึกษาต่อสายอาชีพหลังจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีแผนงาน รายละเอียดกระบวนการ ให้สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการค้นหา คัดกรอง และคัดเลือกนักศึกษาทุนที่เหมาะสม ตามลักษณะของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ของแต่ละสถาบัน

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ คือการสร้างเครือข่ายสถาบันที่ครู อาจารย์ และผู้บริหาร รวมทั้งศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบันของสถานศึกษา ต้องทำความเข้าใจร่วมกันในการประชาสัมพันธ์โอกาสการเข้าถึงทุนไปยังโรงเรียนและสถานศึกษาที่มีเด็กขาดแคลนโอกาสทั้งในระดับชั้น ม.3 ม.6 และ ปวช. ร่วมกับครูแนะแนว อสม. ท้องถิ่น และผู้นำชุมชนที่จะมีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร พร้อมส่งต่อโอกาสให้ไปถึงเยาวชนที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับความต้องการของทุน

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มีความตั้งใจให้ทุนเป็น ‘โอกาส’ ที่จะช่วยให้เยาวชนผู้ขาดแคลนได้เข้าเรียนต่อในสายอาชีพตามศักยภาพ แต่บนความคาดหวังดังกล่าวได้มีโจทย์ที่ท้าทายคือ คณะทำงานจะ ‘ทำอย่างไร’ ให้เยาวชนผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นนักศึกษาทุน สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในการเรียน และไม่หลุดไปจากเส้นทางการศึกษาระหว่างทางจากอุปสรรคต่าง ๆ ที่แวดล้อมชีวิต และการเปลี่ยนผ่านของช่วงวัย ดังนั้นแผนปฏิบัติการจึงต้องให้ความสำคัญกับการทดสอบทักษะ วัดแววอาชีพ ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้านสุขภาพจิต จึงต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อคัดเลือกนักศึกษาที่ตรงตามคุณสมบัติ ที่จะสามารถเรียนจบครบตามหลักสูตร ร่วมกับครูอาจารย์สามารถประคับประคอง ดูแลเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางนี้ได้ ตั้งแต่วันแรกพบจนวันจบการศึกษา

“กสศ. ออกแบบทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสองประเด็นสำคัญ คือ ‘โอกาสทางการศึกษา’ และ ‘เพิ่มทักษะการทำงาน’ โดยมีเป้าหมายในการเหนี่ยวนำครู สถานศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน สื่อสารมวลชน และภาคประชาสังคม มาทำงานด้วยกัน เพื่อรวมพลังเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ จุดประกายให้สถานศึกษาสายอาชีพสามารถระดมทั้งทุนทรัพย์และทุนความร่วมมือได้ด้วยตัวสถาบันเอง และไม่ใช่แค่โอกาสในการเรียนเท่านั้นที่เป็นหมุดหมายของทุน แต่โครงการนี้มุ่งเป้าไปถึงการสร้างระบบจัดการการศึกษาสายอาชีพ ให้มีการดูแลนักศึกษา มีนวัตกรรมทางเลือกของหลักสูตรที่ทันสมัย และส่งเสริมไปถึงการมีงานทำเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต และภายใต้การทำงานโครงการต้องนำไปสู่การขยายผลเชิงนโยบาย มีงานวิจัย การปฏิบัติการที่สร้างแรงกระเพื่อมไปถึงความเปลี่ยนแปลงระบบอาชีวศึกษาในภาพใหญ่ของประเทศ

“จากสถานการณ์ปัญหา เราพบว่าเยาวชนส่วนใหญ่ที่ไปไม่ถึงการศึกษาระดับสูงมาจากครอบครัวที่มีการศึกษาต่ำกว่าภาคบังคับ ทั้งที่ผลวิจัยจาก PISA for schools ระบุว่าประเทศไทยมีเด็กเยาวชนที่มีศักยภาพจากครัวเรือนยากจนราว 357,500 คน ซึ่งคิดเป็น 60,000 คนต่อรุ่นของเยาวชนทั้งประเทศ ดังนั้นถ้าเราร่วมกันค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้พบ และนำเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทักษะ ผลักดันให้ไปถึงปลายทางคือการประกอบอาชีพตามศักยภาพได้สำเร็จ เยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแบบให้เห็นว่า ถ้าได้รับการศึกษาที่ดี ต่อเนื่อง และตรงตามความสามารถที่มี เขาจะเปลี่ยนแปลงชีวิตด้วยโอกาสทางการศึกษาที่ได้รับ และเป็นคนรุ่นแรกของครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนได้”

นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ.

นายนพพร สุวรรณรุจิ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวถึงเกณฑ์คุณสมบัติของนักศึกษาทุนสายอาชีพชั้นสูง คือ เป็นเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ มีรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคน/เดือน และมีศักยภาพโดดเด่น คือมีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00 ในระดับการศึกษาก่อนหน้า หรือมีทักษะพิเศษในสาขาที่เลือกเรียน ซึ่งวัดได้จากชิ้นงาน ผลงาน หรือเกียรติบัตรรับรอง นอกจากนี้ทุนยังเปิดโอกาสให้นักเรียนทุนเสมอภาค (นักเรียนในโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข) ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.5 และมีผลการเรียนอยู่ในอันดับร้อยละสามสิบของชั้นเรียน สามารถเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกด้วย ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาในการส่งต่อเด็กเยาวชนยากจน 15% ล่างสุดของประเทศให้ได้เรียนต่อในระดับการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ

“โครงการในปีนี้มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการปีแรกจำนวน 22 แห่งจากทั้งหมด 63 สถาบัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีสถานศึกษาสายอาชีพให้ความสนใจยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาเป็นจำนวนมาก สถานศึกษาที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือก ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน ด้วยข้อเสนอแนวทางการค้นหาคัดกรองคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ระบบดูแลนักศึกษาทุน หลักสูตรที่มีคุณภาพ จนการส่งต่อปลายทางที่นักศึกษาทุนทุกคนต้องก้าวไปเป็นบุคลากรสายอาชีพที่มีคุณภาพในอนาคต เพราะเราเน้นย้ำเสมอว่าทุนไม่ได้สำคัญแค่ให้เยาวชนกลุ่มนี้มีวุฒิการศึกษา แต่เขาต้องมีงานทำ สามารถทำให้ความยากจนจบสิ้นลงในรุ่นของเขา ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีกแล้ว”

ผศ.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ
การศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ.

สอดคล้องกับ ผศ.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวว่า จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาถึงรุ่นที่ 5 สิ่งที่ กสศ. อยากให้เกิดขึ้นในการทำงานในปีนี้คือ ความร่วมมือของสถานศึกษาในระดับจังหวัดหรือในระดับภูมิภาค ที่จะวางแผนทำงานร่วมกันเพื่อค้นหา คัดเลือกเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้มีทางเลือกที่กว้างขึ้นในการเข้าถึงหลักสูตรที่หลากหลาย สามารถเลือกเรียนได้ในสาขาที่ต้องการ เช่น ที่ผ่านมามีตัวอย่างการทำงานของจังหวัดอุดรธานี โดยวิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยการอาชีพ วิทยาลัยเทคนิค และอาชีวศึกษา หรือจังหวัดนราธิวาส ที่มีคณะพยาบาลศาสตร์ มีสาขาวิชาเทคนิคระบบขนส่งทางราง สาขาเทคโนโลยีการเกษตร รวมถึงวิทยาลัยชุมชน ซึ่งได้ร่วมมือกันและทำให้เห็นว่าการแบ่งปันข้อมูลและทำงานร่วมกัน จะนำไปสู่กระบวนการสร้างเครือข่ายขนาดใหญ่ที่สามารถค้นหาและส่งต่อผู้เรียนได้ตรงตามศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายยิ่งขึ้น