ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปี 2566 วงเงิน 7,590 ล้านบาท
เน้นลงทุนพัฒนาคุณภาพครู-โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ลดผลกระทบจากโควิด-19

ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปี 2566 วงเงิน 7,590 ล้านบาท

ครม.เห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ. ปี 2566 วงเงิน 7,590 ล้านบาท ตามที่บอร์ด กสศ.เสนอ เน้นลงทุนพัฒนาคุณภาพครู-โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล ลดผลกระทบโดยตรงแก่เด็กยากจนฉับพลันจากโควิด-19 ไม่ให้หลุดออกจากระบบ และเพิ่มโอกาสเรียนต่อระดับสูง หลังจากนี้สำนักงบประมาณจะพิจารณาในวาระต่อไป

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนการใช้เงินของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประจำปีงบประมาณ 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 7,590.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,938.05 ล้านบาท เพื่อ กสศ.จะได้จัดทำรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2566 เสนอสำนักงบประมาณพิจารณาต่อไป

นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 คณะกรรมการบริหาร กสศ.มีมติเห็นชอบแผนการใช้เงินของ กสศ.ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 7,590.34 ล้านบาท และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ท่ามกลางปัจจัยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยอย่างรุนแรง เนื่องจากการว่างงานถาวรและการว่างงานชั่วคราวของผู้ปกครอง ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของครอบครัวเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษลดลงเหลือ 1,094 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับ 1,159 บาทต่อเดือน ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 จนเกิดปรากฏการณ์ยากจนฉับพลัน ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1/2564 มีจำนวนถึง 1,244,591 คน สูงสุดนับแต่ปีการศึกษา 2561 หรือเพิ่มขึ้น 250,163 คน หรือร้อยละ 20 เทียบกับภาคเรียนที่ 1/2563 ที่ยังไม่มีการระบาดของโควิด-19 

นพ.สุภกร บัวสาย รักษาการผู้จัดการ กสศ.

นพ.สุภกรกล่าวว่า สำหรับแผนการใช้เงินที่ ครม.เห็นชอบดังกล่าว ประกอบด้วย 9 แผนงานภายใต้กรอบวงเงินจำนวน 7,590,344,800 บาท เพิ่มขึ้นจากกรอบวงเงินตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 1,938,057,400 บาท หรือร้อยละ 34.29 (ปี 2565 กสศ.ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 5,652,287,400 บาท) เป็นการเพิ่มขึ้นจากการให้ทุนการศึกษาในระดับที่สูงกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานในสายครู สายอาชีพ รวมถึงด้านสาธารณสุขที่ขาดแคลน เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (งบประมาณมีลักษณะผูกพันสะสม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้ตั้งแต่ปี 2562) ซึ่งที่ผ่านมาเด็กยากจนมีโอกาสเข้าเรียนต่อระดับสูงกว่าชั้นมัธยมปลายเพียงแค่ 7 % นอกจากนี้ยังเป็นงบประมาณในส่วนของการยกระดับคุณภาพครูและโรงเรียนในพื้นที่ 

นพ.สุภกรกล่าวว่า โจทย์ความเหลื่อมล้ำมีปมผูกกับปัญหาเศรษฐกิจและสังคมสะสมมายาวนาน เมื่อมีผลกระทบจากโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งทำให้ปัญหาขยายกว้างมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 คณะกรรมการบริหาร กสศ.จึงเน้นการทำงานเพื่อเกิดผลผลิตสำคัญใน 3 กลุ่ม ได้แก่

1) ช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนพิเศษโดยตรง ด้วยทุนเสมอภาค รวมจำนวน 1,342,256 คน ในอัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำมาก แต่มุ่งหวังเพื่อบรรเทาปัญหาให้กับครอบครัวยากลำบากร้อยละ 15 ล่างสุดของประเทศ แม้มีมาตรการเรียนฟรี 15 ปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางและค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยในปีงบประมาณ 2566 กสศ.ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมกลุ่มนักเรียนอนุบาล และ ม.ปลายที่เข้าเกณฑ์ยากจนและยากจนพิเศษมากกว่า 240,000 คน

นอกจากนี้ยังช่วยเหลือสนับสนุนให้ศึกษาต่อในระดับชั้นที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 8,983 คน ขณะที่เยาวชนและแรงงานที่อยู่นอกระบบการศึกษาได้รับการช่วยเหลือตามความจำเป็นหรือสนับสนุนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนาทักษะวิชาชีพที่เหมาะสม จำนวน 25,000 คน

2) สนับสนุนการปฏิรูประบบการศึกษา ผ่านการพัฒนาคุณภาพครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ครอบคลุมครูหรือนักศึกษาครูจำนวน 23,983 คน และโรงเรียน 750 แห่ง

และ 3) แก้ไขบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด- 19 ฟื้นฟูสภาวะถดถอยของกลุ่มเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนทุนเสมอภาค กลุ่มรอยต่อ ใน 4 ระดับชั้น อนุบาล 3 ป.6 ม.1 และ ม.6 และสร้างต้นแบบหน่วยจัดการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบที่ด้อยโอกาส 

ในสถานการณ์ที่ทรัพยากรภาครัฐไม่เพียงพอ ในปีงบประมาณ 2565 กสศ.ถูกตัดงบประมาณจากที่คณะกรรมการบริหาร กสศ.เสนอไปจำนวน 2 ครั้ง ประมาณ 1,980 ล้านบาท หรือ 26% ของที่คณะกรรมการบริหาร กสศ.เสนอคณะรัฐมนตรีไป ทำให้ กสศ.ต้องระดมรับบริจาคเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเด็กที่เดือดร้อนอีกจำนวนมาก ซึ่งเกินกำลังงบประมาณที่ กสศ.ได้รับการจัดสรร

โดยในปี 2564 กสศ.ได้รับเงินบริจาคจากบุคคลสาธารณะหลายท่าน ประชาชนกว่า 20,000 คน และหน่วยงานภาคเอกชนมากกว่า 200 องค์กร ที่ร่วมกับ กสศ.สนับสนุนทรัพยากรทั้งในรูปแบบเงินบริจาค จิตอาสา ความรู้ ความเชี่ยวชาญ โดยนำไปริเริ่มกิจกรรม/โครงการช่วยเหลือฉุกเฉินเร่งด่วนให้กับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวิกฤตโควิด-19 เช่น เด็กกำพร้า ขาดแคลนอาหาร รวมเป็นเงินบริจาคราว 48 ล้านบาท และยังได้ประสานเสนอโครงการไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามที่กฎหมาย กสศ.ระบุไว้ในมาตรา 6(4) เกี่ยวกับเงินรายได้ ของ กสศ. เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 แต่ยังอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าอยู่”

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ กล่าวว่า กสศ.เป็นส่วนเติมเต็มการจัดการศึกษาอย่างถูกที่ถูกจุด โดยเฉพาะเป้าหมายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั้งในมิติ “โอกาส” และ “คุณภาพ” โดยหน่วยงานหลักอาจยังทำด้านคุณภาพไม่ลึกเท่าไหร่ หรือบางพื้นที่จะมีข้อจำกัดทำให้หน่วยงานไม่สามารถทำงานปฏิรูปได้อย่างเต็มที่

กสศ.จึงมีบทบาทสำคัญ ทั้งช่วยคิดริเริ่มและทดลอง ประยุกต์ใช้กับโรงเรียน ชุมชน หมู่บ้านมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลได้เห็นความสำคัญที่จะเพิ่มผู้เล่นในระบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษา นอกจากจะให้กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่หลักแล้ว ยังมีกระทรวงอื่นหรือองค์กรอื่น เช่น กสศ.เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ซึ่งการทำงานที่ผ่านมา กสศ.มีบุคลากรประจำราว 100 คน เน้นดำเนินงานผ่านเครือข่ายครูและโรงเรียนทั่วประเทศ งบประมาณ กสศ.จึงส่งตรงไปสู่กลุ่มเป้าหมายและกิจกรรมในพื้นที่โดยตรง

ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี
ที่ปรึกษาเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร โรงเรียนพื้นที่เกาะ

“เราจะเห็นว่าในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กสศ.ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในหลายมิติ ประเด็นแรกคือการสร้างความตระหนักให้กับสังคมในวงกว้าง จากเดิมที่แนวคิดของหน่วยงานทางการศึกษาจะมองว่าช่วงการระบาดต้องปิดโรงเรียนก่อน แต่หน่วยงานที่ออกมาพูดว่าการปิดโรงเรียนเป็นความสูญเสีย หน่วยงานแรกคือ กสศ.ที่ออกมาสร้างความตระหนักว่ามันจะเกิดความรู้ถดถอย หรือ Learning Loss ทำให้โรงเรียนหลายโรงเริ่มลุกขึ้นมาคิดว่าไม่ใช่แค่ปิดโรงเรียนก่อนแล้วจะดี

ประเด็นถัดมาคือเรื่องแนวทางการออกแบบการจัดการเรียนรู้ สำหรับเด็กกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ กสศ.และเครือข่ายโรงเรียนเข้ามาเติมเต็มสร้างนวัตกรรม เครื่องมือการเรียนการสอนเพิ่มเติม รวมถึงพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครการศึกษาเข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ ในพื้นที่ ทั้งกลุ่มศิษย์เก่า ผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา นักศึกษาหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ นี่เป็นสิ่งที่ กสศ.เติมเต็มในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ กสศ.ยังออกมาจุดประเด็นเรื่องการเฝ้าระวังเด็กหลุดจากระบบ กสศ.ตระหนักถึงปัญหานี้และพยามติดตั้งเครื่องมือวางยุทธศาสตร์ ดึงให้เด็กๆ กลับเข้ามาในระบบการศึกษา” ดร.ศุภโชคกล่าว