พาน้องกลับมาเรียน นโยบายรัฐบาล งานของทุกฝ่าย ความหวังสุดท้ายฝากไว้ที่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา

พาน้องกลับมาเรียน นโยบายรัฐบาล งานของทุกฝ่าย ความหวังสุดท้ายฝากไว้ที่ครูและผู้บริหารสถานศึกษา

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน” โครงการพาน้องกลับมาเรียนเปิดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อ จัดไปเมื่อวันจันทร์ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรม ชั้น 13 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยกล่าวสะท้อนประสบการณ์จากการลงพื้นที่ ว่า

จากการลงพื้นที่ 4 จังหวัด ได้ตามไปดูเคสต่างๆ ประมาณ 170 เคส พบว่าเปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึงโรงเรียน ซึ่งหากไม่มีการช่วยเหลือจาก กสศ.กับอีกหลายๆ หน่วยงาน เด็กเหล่านี้จะหลุดจากระบบการศึกษาทั้งหมด โดยเด็กกลุ่มที่ว่านี้ มีอัตลักษณ์พิเศษที่ครูและผู้บริหารสังเกตและได้พบเหมือนกัน

“อัตลักษณ์ของเด็กยากจนที่มีลักษณะร่วมกัน เราเรียกว่ายากจนเงียบ จนแบบเงียบเชียบ คือเด็กเหล่านี้เขาจะเสียงเบา ถ้าไม่เข้าไปใกล้ๆ ก็จะไม่รู้เลยว่าเขาพูดอะไร เขาจะเงียบ จะไม่ค่อยพูด ถ้าพูดก็พูดน้อย แต่จะสื่อสารด้วยสายตาที่เศร้า เศร้ามากๆ ถ้าเราถามเขาไปไม่เกินสามนาที น้ำตาเขาจะเริ่มคลอเบ้าแล้ว แล้วถ้าถามเอาจริงๆ จังๆ ในที่สุด เขาก็จะร้องไห้”

ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันค้นหาเด็กกลุ่มนี้ให้เจอ เพราะในตัวเด็กแต่ละคน มีข้อมูลหลายๆ เรื่องซึ่งคนที่เกี่ยวข้องจะต้องรับฟัง

“เด็กกลุ่มนี้มีข้อดีคือ เป็นเด็กดี ใฝ่ดีและตั้งใจเรียน มีความกตัญญูกตเวที มีความอุตสาหะ มีความเสียสละ”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้ค้นพบเพิ่มเติมคือครอบครัวของเด้กเหล่านี้ล้วนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีเงินส่งเสียบุตรหลานได้ ยิ่งเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายทางการศึกษาในช่วงเปิดเทอม โดยค่าใช้จ่ายของนักเรียนในสังกัด กทม. ตกประมาณคนละ 37,257 บาท แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดจะอยู่ที่ประมาณคนละ 17,832 บาท

“เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องรายได้ โอกาสหลุดจากระบบการศึกษาก็จะมีสูงมาก เพราะจะไปต่อได้ยาก จากข้อมูลเด็ก 170 คน พบว่า 91 คน ไม่เคยได้รับทุนการศึกษาเลย เพราะเขาเป็นคนเงียบ เขาไม่แสดงตน ถ้าครูไม่พินิจ ไม่เจาะลึก ไม่เห็นแววตา ไม่รับรู้ว่าทำไมเขาถึงได้มาโรงเรียนด้วยอารมณ์ที่ปนเศร้าอย่างนี้ เราจะไม่มีทางรู้เลย”

ประเด็นที่ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา คือเด็กกลุ่มนี้มีปัญหาซับซ้อน มากกว่าหนึ่งปัญหา อาทิ ปัญหาพ่อแม่ผู้ปกครอง มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่มีรายได้ลดลง ไม่สามารถอุปการะลูกหลานได้ พบปัญหานี้สูงถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาพ่อแม่หย่าร้าง อีกกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเด็กด้วย ปัญหาจึงมีความซับซ้อนทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องครอบครัว

“เด็กยากจนคนหนึ่งถ้าเราเจอมากกว่า 1 ปัญหา เราจะพบเลยว่ามันซับซ้อนมาก ถ้าคุณครูไม่ตามอย่างถึงที่สุด ชนิดที่พูดคุยและเปิดใจได้ เราก็จะเห็นว่าเด็กก็จะค่อยๆ หลุดจากระบบการศึกษาไปแบบเงียบๆ แบบไม่ค่อยมีความหวัง”

แต่จากการลงไปในพื้นที่ ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์  ได้เจอกับครูและผู้บริหารจำนวนมาก ที่ติดตามเด็กไปจนถึงบ้าน ไปถึงกระต๊อบ ที่พัก เข้าไปถึงในครัว ทำให้ได้ไปรับรู้ข้อเท็จจริง และสามารถดึงเด็กกลับมาได้

“นโยบายพาน้องกลับมาเรียนเป็นโครงการระดับพรีเมี่ยม ที่ช่วยเหลือกันทุกภาคส่วน แต่ในระดับภาคการปฏิบัติ ขอยกย่อง ชมเชยผู้บริหารโรงเรียน ที่เอาจริงเอาจังในการติดตามเด็ก เช่นที่ จ.ราชบุรี เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้วหนึ่งปี ได้มีโอกาสกลับมาเรียนอีกครั้ง”

ข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่พบคือการอ่านข้อมูลจากเอกสารเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ไม่ได้รู้จักตัวเด็กจริง เพราะข้อมูลอาจมีการคลาดเคลื่อนได้ตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป 

“อ่านจากเอกสารบอกว่าเด็กหลายคนวิกฤตอยู่ในขั้นปานกลาง แต่กรณีตัวอย่างจากการลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น กลับพบว่าเด็กกำลังมีปัญหาอยู่ในระดับวิกฤตสุดๆ

เช่น พี่น้อง 3 คน แต่นามสกุลต่างกันหมดเลย สืบเนื่องมาจากปัญหาพ่อแม่วัยใส เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน แล้วไปแต่งงาน มีลูก มีครอบครัว

การลงไปดูเรื่องเด็กกลุ่มเสี่ยง จึงต้องได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้บริหารการศึกษาด้วย”

“ผู้บริหารโรงเรียนที่มาร่วมในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ผมต้องขอนับถือหัวใจท่านเลยนะ ที่ยังยอมรับเด็กกลางคัน แม้เด็กจะออกไปจากระบบการศึกษาแล้ว นับเป็นคุณูปการทางการศึกษามากๆ สำหรับครู ถือว่าช่วงเวลานี้เป็นการได้แสดงบทบาทที่สำคัญที่สุดของวิชาชีพแล้ว”

“การช่วยเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา วันนี้เสียงของครูได้ดังไปถึงกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ว่าต่อไปนี้คนที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน ช่วยให้เด็กได้กลับมามีโอกาส มีชีวิตที่ดี ครูเหล่านี้ต้องได้รับการยกย่อง”

อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาเรื่องเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เมื่อมีภาคเอกชนมาช่วย จะเห็นการส่งต่อที่ไหลลื่น ทำให้ชีวิตเด็กดีขึ้นมากๆ การทำ CSR ของภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กด้อยโอกาส เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ในปีนี้ทำให้ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น

“การแก้ปัญหาเด็กยากจนพิเศษคนหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องทุนอย่างเดียว ยังมีเรื่องอาชีพของพ่อแม่ การแก้ปัญหาเรื่องครอบครัวหย่าร้าง เราจะพบเด็กเรียนช้า เด็กพิการ เด็กที่ซึมเศร้า และอีกเยอะแยะไปหมด ถ้าเราไม่แก้ปัญหาเรื่องสังคม เรื่องครอบครัว เรื่องการมีงานทำ อะไรต่างๆ นี้ ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไปลงที่ตัวเด็กหมดเลย”