จากแสนต้องเหลือศูนย์ เป้าหมาย ‘พาน้องกลับมาเรียน’ และโจทย์ใหญ่ ทำอย่างไรให้เขาได้อยู่ในระบบต่อไป

จากแสนต้องเหลือศูนย์ เป้าหมาย ‘พาน้องกลับมาเรียน’ และโจทย์ใหญ่ ทำอย่างไรให้เขาได้อยู่ในระบบต่อไป

จากแสนต้องเหลือศูนย์ เป้าหมาย ‘พาน้องกลับมาเรียน’
และโจทย์ใหญ่ป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน” โครงการพาน้องกลับมาเรียนเปิดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อ

จัดไปเมื่อวันจันทร์ 20 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ณ ลานกิจกรรม ชั้น 13 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยกล่าวว่า

ต้องขอบคุณมายังหน่วยงาน กสศ.ที่ให้ความสำคัญกับโครงการพาน้องกลับมาเรียนของรัฐบาล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 ปีการศึกษา 2564 เป็นเวลา 2 ปีเต็มๆ ที่เราประสบปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19

ใน 2 ปีการศึกษานี้พบว่ามีนักเรียนหลุดออกไปจากระบบการศึกษาถึงกว่า 238,000 คน รัฐบาลเล็งเห็นว่าจะปล่อยให้เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติหลุดออกจากระบบการศึกษาต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ประกอบกับที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเสมอว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เราได้ตัวเลขจาก กสศ. เราได้ตัวเลขจากฐานข้อมูลแต่ละส่วน หน่วยที่มีเด็กมากที่สุดคือ สพฐ. รองลงไปคือ กรรมการการอาชีวะ หรือ สอศ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. อีกหน่วยหนึ่งคือ กศน. ทั้งกระทรวงมีตัวเลข 238,000 กว่าคน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จึงสั่งการให้ทุกหน่วยเร่งค้นหาและพากลับมาเรียน”

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ หลายหน่วยงานได้ใช้ความพยายามกันอย่างเข้มข้นในการพาน้องกลับมาเรียน จนกระทั่งถึงวันที่เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เหลือเด็กที่หลุดจากระบบอีก 110,000 คน จึงเชิญหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน 12 หน่วยงาน ที่สำคัญคือ กสศ. มาลงนามความร่วมมือกันว่าภาระในการติดตามพาน้องกลับมาเรียน ต้องใช้ความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน เพราะปัญหานี้ไม่ได้เกี่ยวกับที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว

“หลังจากเปิดตัวโครงการแล้ว จาก 110,000 คน จนกระทั่งวันนี้เราตามกลับมาได้แล้ว เหลือเพียง 17,000 กว่าคนแล้ว เปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูงมาก ในจำนวนที่เหลืออีก 17,000 กว่าคนนี้ ทั้ง 12 หน่วยงานรวมทั้ง กสศ.ยังจะต้องค้นหาต่อไป โดยมีเป้าหมายคือให้เหลือ 0 ทุกหน่วยงานได้วางแผนกำหนดบทบาทหน้าที่ไว้ชัดเจนแล้วว่าใครจะต้องทำอะไรต่อไป”

“หน่วยที่สำคัญคือ กสศ.ที่จะสนับสนุนงบประมาณ ส่วนกลางมีหน้าที่คอยติดตามช่วยเหลือ ในระดับจังหวัด รัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการขับเคลื่อน ไปจนถึงส่วนที่สำคัญที่สุดคือสถานศึกษา หน่วยนี้คือหน่วยที่เข้มข้นในการปฏิบัติเป็นอย่างมาก”

การดำเนินงานที่ผ่านมา หน่วยงานต้นสังกัดได้ส่งรายชื่อนักเรียนทั้งหมด 110,000 กว่าคนไปให้เขตพื้นที่ ก่อนที่ข้อมูลจะถูกส่งต่อกระจายไปยังสถานศึกษาต่างๆ จากการติดตามลงพื้นที่ไปเยี่ยมพบว่าทุกโรงเรียน ทุกวิทยาลัย ในทุกเขตพื้นที่ล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมีการลงไปตรวจสอบจนถึงบ้านนักเรียน เพื่อติดตามว่านักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา อยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

“จากแสนกว่าเหลือเพียงหมื่นกว่าคนแล้วตอนนี้ นี่แสดงให้เห็นถึงพลังของความร่วมมือ คนที่ยังไม่กลับมาเราก็ส่งรายชื่อกลับไปที่โรงเรียน ค้นหากันต่อไป ส่วนที่กลับมาแล้ว เราก็ต้องมีวิธีการจัดการว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เค้าหลุดออกไปอีก การค้นหานับว่ายากแล้ว แต่โจทย์ใหญ่ทำอย่างไรจะไม่ให้เค้าหลุดอีก”

ตัวเลขเด็กกลับมาเรียนที่จำนวนสูงขึ้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรจะให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนต่อไปจนจบในระดับที่สูงขึ้นไป และสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

ทำอย่างไรไม่ให้เค้าหลุดอีกครั้ง เพราะเด็กเหล่านี้ก็ยังเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยในส่วนของ กสศ.ก็ส่งงบประมาณไปช่วยเหลือในช่วงชั้นรอยต่อการศึกษาช่วงต่างๆ โดยได้รับงบประมาณจาก ปตท.ถึง 151 ล้านบาท เพื่อไปพาน้องๆ เหล่านี้กลับมาเรียน

“ส่วนเด็กที่เรายังหาไม่เจออีก 17,000 คน รวมทุกสังกัด ในจำนวนนี้มีเด็กพิการ และผู้พิการที่อายุเกิน 18 ปีรวมอยู่ด้วย โจทย์ที่ต้องเร่งทำในปีการศึกษานี้คือเด็กพิการที่ยังไม่กลับเข้าระบบอีกหมื่นกว่าคน ต้องเร่งรัดมาตรการในการติดตามให้เจอให้ได้”

ขณะนี้มีการตั้งศูนย์พาน้องกลับมาเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ รับรายงานข้อมูลโดยบูรณาการข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแอพพลิเคชั่นพาน้องกลับมาเรียน จะเห็นข้อมูลเคลื่อนไหวรายวัน

“เด็กอีกกว่า 17,000 คนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ตอนนี้เราส่งข้อมูลไปยังพื้นที่แล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั่งหัวโต๊ะประชุม”

ต่อจากนี้ไปหน่วยงานในระดับจังหวัดซึ่งได้รับคำชี้แนะไปจากกระทรวงศึกษาธิการแล้วถึงวิธีการค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา จะทำหน้าที่ค้นหาเด็กๆ เหล่านั้นต่อไป ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับอีก 11 หน่วยงาน เพื่อพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งตัวเลขที่ได้นับว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงและส่วนที่ต้องทำต่อไปคือ ดูแลเด็กที่กลับมาแล้วให้อยู่ในระบบได้ต่อไป และค้นหาเด็กที่ยังหลุดจากระบบการศึกษาให้พบ จนกระทั่งทุกคนได้กลับมาเรียนอีกครั้งอย่างเสมอภาคกัน

“เมื่อลงไปดูนักเรียนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล พบว่าค่อนข้างมีปัญหามาก ปัญหาจะซับซ้อนมาก เด็กหนึ่งคนอาจจะประสบปัญหามากกว่าหนึ่งเรื่อง สิ่งสำคัญวันนี้เราพุ่งเป้าไปที่ตัวเด็ก แต่จริงๆ แล้วต้องมองไปให้ถึงที่ผู้ปกครองด้วย ตอนนี้เราพาน้องกลับมาเรียน ให้เงินไปที่ตัวเด็ก แต่ถ้าผู้ปกครองมีปัญหาเศรษฐกิจ บางคนเราตามไปเจอตัวแล้ว แต่ผู้ปกครองบอกว่าไปไม่ได้หรอกโรงเรียน เพราะว่าต้องช่วยทำงาน หาเลี้ยงครอบครัว”

ความจริงกระทรวงศึกษาธิการมีระบบดูแลเด็กที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ตราบใดที่ผู้ปกครองยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ก็จะมีส่วนที่ไม่อยากให้ลูกกลับมาเรียน หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องเข้าไปดูแลที่ผู้ปกครองด้วย ถ้าจะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต้องดูแลที่องคาพยพทั้งหมด คือดูที่ผู้ปกครอง ดูที่ปัญหาลึกๆ จริงๆ เพื่อแก้ปัญหาให้เด็กสามารถกลับมาได้จริงๆ

นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ มีโครงการที่ต่อยอด เช่น โครงการอาชีวะ เรียนฟรี อยู่ฟรี อาหารฟรี สำหรับเด็กที่เรียนจบภาคบังคบแล้ว และไม่อยากกลับมาเรียนที่ สพฐ. ก็สามารถไปเรียนที่อาชีวะได้ หากนักเรียนตั้งใจกลับมาเรียนโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ในสังกัด สพฐ.ก็พร้อมที่จะเปิดรับ

“ต้องย้ำว่า ขอความร่วมมือไปยังสถานศึกษา ท่านต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ในชุมชนในหมู่บ้านถึงจะทำงานนี้ได้ประสบความสำเร็จ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ที่สำคัญคือ อสม. ที่จะรู้ข้อมูลในชุมชน ในหมู่บ้านเยอะ ฝากพวกเราลองเดินเข้าไปหา อสม. ช่วยถามว่าในหมู่บ้านนี้มีเด็กแปลกหน้าหรือเด็กที่ยังไม่ไปโรงเรียนมั้ย อสม.นี่เวลาค่อนข้างเยอะเหมือนกันนะครับ แล้วเขาจะช่วยท่านได้”