กสศ.รวมพลังรัฐ สานพลังเอกชน ใช้เทคโนโลยีลงทะเบียนติดตามเด็กยากจนพิเศษ
อุดช่องว่างช่วงชั้นเรียนรอยต่อ พาน้องกลับมาเรียน

กสศ.รวมพลังรัฐ สานพลังเอกชน ใช้เทคโนโลยีลงทะเบียนติดตามเด็กยากจนพิเศษ

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ “เปิดเทอมใหม่ ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน” โครงการพาน้องกลับมาเรียน เปิดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในช่วงชั้นรอยต่อ ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญกับเด็กนักเรียนที่อยู่ในช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษาที่มีโอกาสเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยในปี 2565 เริ่มต้นปีด้วยการดึงเรื่องนี้เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เรื่องพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ยิ่งเห็นความสำคัญของโรงเรียนเป็นอย่างมาก

“การที่เด็กได้กลับมาเรียน ไม่ใช่แต่เฉพาะน้องได้กลับมาเรียน แต่น้องได้กลับมาทานอาหารครบมื้อ ได้ทานนม อาหารเสริม ได้รับการดูแลจากสวัสดิการต่างๆ ที่มีในโรงเรียน หลายๆ อย่าง ครอบครัวก็ได้ประโยชน์จากตรงนั้นด้วยเพราะว่าโรงเรียนเป็นมากกว่าแค่สถานที่ ที่จะเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นการที่สามารถพาเด็กกลับมาได้เป็นหลักแสนคนนับเป็นคุณูปการทั้งตัวเด็กและครอบครัว รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระยะยาวได้เป็นอย่างมาก”

สำหรับบทบาทของ กสศ.นั้นหลังจากที่ กสศ.ได้ไปร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการพาน้องกลับมาเรียน เราได้มีการทำสำรวจเชิงลึก ในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนปิดเทอม พบว่ารอยต่อปีการศึกษาระหว่าง 64 ไปยัง 65 จะมีช่วงรอยต่อสำคัญอยู่ 2 ช่วง คือช่วง ป.6 กับ ม.3

“หลายท่านที่เคยเดินทางลงไปในพื้นที่จะทราบดีว่าโรงเรียนส่วนใหญ่จะจบอยู่ที่ ป.6 โรงเรียนขยายโอกาสจะสิ้นสุดอยู่ที่ ม.3 การเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนของเด็กจาก ป.6 ไป ม.1 กับ ม.3 ไป ม.4 หรือ ปวช.นี่ เรากำลังพูดถึงระยะทาง 5-10 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น เด็กจำนวนมากมีความเสี่ยงอย่างมากในภาวะโควิด-19 ซึ่งยังดำรงอยู่กับเรา จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา”

ในการพาน้องกลับมาเรียนนั้น กสศ.มีโอกาสทำงานร่วมกับ สพฐ. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดนและโรงเรียนเอกชน ที่เป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไร สำรวจข้อมูลว่า ในทุกๆ เดือนมีนาคมของทุกๆ ปี แนวโน้มการศึกษาต่อของเด็ก เด็กต้องย้ายโรงเรียนหรือไม่ ถ้าย้าย เขามีแผนจะไปศึกษาต่อหรือเปล่า หรือเขามีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือไม่

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

“การศึกษาของแต่ละปี ก่อนปิดเทอม 2 สำรวจแนวโน้มการศึกษาต่อของเด็ก ส่งข้อมูลให้กับต้นสังกัดได้ทราบถึงเด็กที่เสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา ถ้าพบเด็กที่มีความเสี่ยง หน่วยงานต้นสังกัดก็กรอกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่น พาน้องกลับมาเรียน ว่าน้องกลับมาเรียนหรือไม่ แนวโน้มที่ว่า 17 พฤษภาคม 2565 เปิดเทอม มีเด็กกลับมาเรียนกี่คน ยังไม่กลับกี่คน ก่อนจะถึง 10 มิถุนายน ในแต่ละปีเราจะได้มีการตามน้องกลับมาเรียนผ่านระบบของโครงการของรัฐบาล”

จากนั้นในเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม เราจะได้จัดสรรงบประมาณลงไป จะได้สามารถให้น้องกลับมาเรียนได้ด้วยทรัพยากรที่เรามี เช่น งบประมาณช่วงชั้นรอยต่อ หรือทุนเสมอภาค ระบบการทำงานในระยะยาวคือสิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการพาน้องกลับมาเรียน ซึ่งตอนนี้ก่อนปิดเทอมเรารู้ความเสี่ยง เรารู้ว่าเด็กคนไหน อยู่ในกลุ่มสีเหลือง สีส้ม สีแดง เมื่อเปิดเทอมเราก็สามารถดึงเขากลับมาได้ หรือไม่ก็ช่วงก่อน 10 มิถุนายน เพราะทุกๆ 10 มิถุนายน เราสามารถเช็คชื่อได้ว่าเด็กคนไหนอยู่หรือไม่อยู่ แล้วในเรื่องเงินงบประมาณรายหัวนี่อาจจะได้ในช่วง 10 กรกฎาคม นี่คือไทม์ไลน์การทำงานของเรา

“จากการสำรวจเมื่อ 15 มีนาคม – 15 เมษายน เราพบว่า ในช่วงชั้นรอยต่อวัยเรียนของเด็ก ที่สูงที่สุดคือชั้น ป.6 ที่เด็กจะต้องย้ายโรงเรียน มีเด็กยากจนพิเศษที่จะต้องเคลื่อนย้ายถึงกว่า 78,000 คน จะต้องย้ายช่วง ม.3 ขึ้น ม.4 หรือ ปวช.ประมาณ 35,000 คน บางคนมีความเสี่ยงที่จะศึกษาต่อไม่ไหวจริงๆ ข้อมูลรายบุคคลเหล่านี้เราก็ส่งคืนให้กับต้นสังกัดทั้งหมด ในการดำเนินการติดตามน้องกลับมา”

นอกจากมีการส่งข้อมูลเป็นรายบุคคลกลับไปให้หน่วยงานต้นสังกัดแล้ว เรายังได้ไประดมทุน กสศ.ได้ไปขายแนวคิดดึงภาคเอกชนที่สนใจ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการทำงานของรัฐบาลอย่างพาน้องกลับมาเรียน จนสามารถสนับสนุน งบประมาณส่วนหนึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงชั้นรอยต่อ นักเรียนชั้น ป.6 ให้ 1,000 บาท ม.3 ให้ 3,000 บาท โดยจัดสรรทุนการศึกษาตรงนี้ลงไปยังโรงเรียน

“ทุนนี้เป็นทุน On Top เราจะมีทุนเสมอภาคปกติที่เราจัดสรรลงไปอยู่แล้ว กรกฎาคม สิงหาคม ในแต่ละปี แต่เราทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 มันทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้สูง ช่วงเปิดเทอมที่ผ่านมาเราจะพบว่าค่าใช้จ่ายมันยิ่งสูง ต้องไปสมัครเรียน ต้องเดินทาง ก็เลยมีการนำเสนอตัวเลขเมื่อสักครู่ให้กับภาคเอกชน ให้เห็นว่าถ้าเราช่วยเด็กที่ต้องย้ายโรงเรียน แล้วเป็นเด็กที่อยู่ในช่วงชั้นรอยต่อได้ในงบประมาณระดับนี้ จะสามารถพาน้องกลับมาเรียนได้ในจำนวนที่สูงมากทีเดียว”

สำหรับไทม์ไลน์ของโครงการนี้คือ วันนี้ 20 มิถุนายน 2565 กสศ.ได้จัดสรรทุนไปยังโรงเรียน ที่นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้เรียนอยู่เมื่อเทอมที่แล้ว โดยที่โรงเรียนต้นทางเหล่านี้จะต้องรีบติดต่อไปยังนักเรียนว่าเขาได้กลับมาเข้าเรียนแล้วหรือยัง

“การสำรวจเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา การติดต่อสื่อสารเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้ว ตกลงน้องได้ไปเรียนในโรงเรียนที่ตั้งใจจะไปเรียนหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ไปเรียน รีบมารับทุนตรงนี้ไปสมัครเรียนแล้วรีบเอาหลักฐานมายื่น จะได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้”

ส่วนถ้าเกิดว่าน้องคนไหนที่ไปเรียนแล้ว ไปสมัครเรียนแล้ว ก็นำหลักฐานตรงนั้นมารับทุนการศึกษานี้เพื่อจะได้เป็นการเแบ่งเบาค่าใช้จ่าย ในการจะต้องย้ายโรงเรียนไปยังสถานศึกษาที่ไกลจากสถานศึกษาเดิม

“การเบิกจ่ายตรงนี้ อยากให้แต่ละโรงเรียนได้รีบเบิกจ่ายกันภายใน 3-4 สัปดาห์นี้ ระหว่าง 28 มิถุนายน ถึง 25 กรกฎาคม 2565 เพื่อให้น้องๆ สามารถที่จะได้เงิน 1,000 และ 3,000 บาท นี้ ไปใช้ในการแบ่งเบาค่าใช้จ่ายตัวเองได้ เรามีเวลา 20 วันทำการ เพราะเมื่อน้องกลับเข้ามาแล้วเขาก็จะเข้าระบบได้รับจัดสรรทุนเสมอภาคต่อไป ผ่านการเยี่ยมบ้าน ผ่านการดูแลว่าน้องมีปัจจัยเสี่ยงอะไรเพิ่มเติม อีกระบบการช่วยเหลือเด็กก็จะขยับเข้ามา”

โครงการพาน้องกลับมาเรียนไม่ใช่โจทย์แต่เพียงพาน้องกลับมาเรียนเพียงอย่างเดียว ต้องป้องกันไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ เพราะฉะนั้นถ้าเขากลับมาได้ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ ก็ได้รับการเยี่ยมบ้าน ได้รับการช่วยเหลือ ระบบการจัดการต่างๆ ของกระทรวงก็จะได้เข้ามาจัดการดูแลต่อ

และหลังจากนั้นโรงเรียนก็สามารถที่จะเคลียร์บัญชีว่ามีการตามกลับมาได้กี่คน ถ้าคนไหนตามกลับคืนมาไม่ได้ก็โอนเงินคืนกลับมาที่ กสศ.เราก็จะได้นำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือเด็กที่เขาอยู่ในภาวะวิกฤตที่เขากลับมาไม่ได้จริงๆ ต้องมีการช่วยเหลือเป็นรายกรณีบุคคลและมีมาตรการการทำงานของ หน่วยงานต่างๆ ทั้ง 12 กระทรวงตรงนี้ต่อไป

“เงินในส่วนนี้ก็จะเป็นการตามไปเรื่อยๆ อย่างที่ท่านรองเลขาธิการ สพฐ.บอกว่าเราจะตามทั้งปี เพื่อที่จะพาน้องๆ ทุกคนกลับมาให้ได้ในที่สุด ด้วยงบประมาณที่ภาคเอกชนสนับสนุนมาตรงนี้ ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือท่าน ผอ.สถานศึกษา คุณครู และเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ช่วยเช็คบัญชีของท่านว่าตอนนี้บัญชีเงินอุดหนุนของท่านที่เปิดไว้กับ กสศ.เงินเข้าแล้วใช่หรือไม่ ถ้าเข้าแล้วมันจะเข้าไปพอดีกับจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่ได้รับทุนจากท่านเมื่อเทอมที่ผ่านมา และเป็นนักเรียนที่ต้องย้ายโรงเรียนจากการทำแบบสำรวจ ให้รีบโทรตามน้องเข้ามา แล้วก็สามารถที่จะโอนเงินให้น้องๆ เป็นรูปแบบที่ท่านได้ตกลงกันไว้ ภายใน 20 วันทำการ ตรงนี้ให้ได้”

โดยคุณครูเก็บหลักฐานการเข้าเรียน หลักฐานที่แสดงว่านักเรียนได้เรียนในที่ใหม่แล้ว ส่วนเงินคงเหลือให้โอนคืนกลับมาในรูปแบบ Teller Payment โดยวิธีสแกนคิวอาร์โค้ด เราทำระบบตรงนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้สามารถโอนกลับมาได้ใน 25 กรกฎาคม แล้วหลังจากนั้น ก็เตรียมตัวทำงานในรูปแบบของทุนเสมอภาค ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ที่จะมีการเบิกจ่ายต่อไป

“เพราะฉะนั้นถ้าเป็นน้อง ป.6 นอกจากจะได้ 1,000 บาท เป็นทุนช่วงชั้นรอยต่อแล้ว ยังได้ทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน แล้วจะได้ทุนเสมอภาคต่อ ก็จะเป็น 3 ส่วน เพราะว่าปัจจัยพื้นฐาน ถ้าเป็น ม.1 จะได้ 3,000 บาท ถ้าเป็นทุนเสมอภาคก็อีก 3,000 บาท ฉะนั้นก็จะมีเงินประมาณ 6,000 บาท ที่น้องจะได้ต่อ ถ้าน้องจบจาก ป.6 มายัง ม.1 แล้ว ก็จะเป็นมาตรการที่ทำให้เห็นว่าการที่เราดึงน้องกลับมาได้ เขาจะได้รับการดูแลและสวัสดิการต่างๆ ที่รอเขาอยู่ที่โรงเรียน ขอแค่เขาก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคในช่วงนี้แล้วโรงเรียนช่วยกัน โรงเรียนต้นทาง โรงเรียนปลายทาง หน่วยงานต่างๆ ถ้าเกิดเราทำตรงนี้ได้ เราก็จะสามารถช่วยได้ในระยะยาว ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษามันก็จะค่อยๆ น้อยลงไปเรื่อยๆ”

โดย กสศ.ได้จัดทำคิวอาร์โค้ด เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กสศ.โดยคิวอาร์โค้ดนี้ผู้ใช้สามารถสแกนเข้าไปดูคู่มือการใช้งาน วิดีโอสาธิตระบบการทำงาน

“อันนี้อาจจะเป็นปีสำคัญที่เราจะต้องมีการเข้าใจระบบตรงนี้ให้ดี แต่ถ้าเกิดว่าปีต่อๆ ไป เราเริ่มคุ้นกับมันแล้ว ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อจะค่อยๆ หายไป”

ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า นี่คือมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ใช้เงินน้อยกว่า เพราะถ้าเกิดเด็กหายไปนานแล้ว จะยิ่งมีความซับซ้อน ยิ่งมีความยากในการดึง ถ้าดึงกลับมาได้ภายในเดือนกรกฎาคม ภายในสองสามสัปดาห์แรกหลังจากเปิดเทอม จะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งต้องฝากให้กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต้นสังกัดที่รับฟังข้อมูลตรงนี้อยู่ช่วยให้ความสำคัญกับตรงนี้

“เรามาพาน้องกลับเข้ามาเรียนด้วยกันนะครับ เพราะว่าประชาชนคนไทยหลายแสนคน ให้การสนับสนุน เลยทำให้เราได้งบประมาณตรงนี้มา สนับสนุนให้น้องๆ กลับมา โครงการลมหายใจเพื่อน้องที่ ปตท.จัด พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยจำนวนมากที่มาวิ่งกันใน Virtual Run ระยะทางสะสมทะลุ 600,000 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียงแค่ 6 วัน ทำให้เราเห็นได้ว่าสังคมไทยตั้งใจที่จะสนับสนุนโครงการพาน้องกลับมาเรียนของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นภาพนี้เกิดขึ้นเพราะภาคเอกชน ประชาชนให้ความสนใจ สนับสนุนการทำงานของภาครัฐแล้วเราก็หวังว่าระบบนี้จะเป็นระบบที่มีความยั่งยืนต่อไปสำหรับประเทศไทยครับ”