นวัตกรรม iSEE เพื่อความเสมอภาคที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน มุ่งขยายการมีส่วนร่วมคือกุญแจสร้างการเปลี่ยนแปลง
โดย : ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

นวัตกรรม iSEE เพื่อความเสมอภาคที่ไม่ใช่แค่ตัวเงิน มุ่งขยายการมีส่วนร่วมคือกุญแจสร้างการเปลี่ยนแปลง

ความถดถอยทางเศรษฐกิจเป็นผลกระทบหนึ่งจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันนี้ สำหรับประเทศไทยพบว่า จำนวนเด็กยากจนพิเศษในภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากกว่า 1.3 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากภาคการศึกษาแรกของปีการศึกษา 2563 ที่มีจำนวนเด็กยากจนพิเศษทั่วประเทศ ประมาณ 9.9 แสนคน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education) หรือ iSEE ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 6 กระทรวง และข้อมูลจากระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ซึ่งสามารถระบุเป้าหมายของเด็กที่มีความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างแม่นยำ และกองทุนก็ได้นำเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เหล่านี้มาเริ่มต้นโครงการนำร่องในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

Image Caption

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้กล่าวถึงการดำเนินงานเพื่อการศึกษาไทย ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ การเงินและการกำกับดูแล (Financing and Governance) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ว่า ปัจจุบัน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ร่วมมือกับ แสนสิริ ในโครงการ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ตั้งเป้าให้เด็กหลุดจากการศึกษาเป็นศูนย์ภายใน 3 ปี โดยเริ่มต้นจากพื้นที่จังหวัดราชบุรี และแสนสิริได้มอบเงินบริจาคเป็นจำนวน 100 ล้านบาทซึ่งระดมทุนผ่านหุ้นกู้ให้กับโครงการฯ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้มีเพียงเงินบริจาคเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในมิติอื่นๆ เช่น การระดมความร่วมมือพนักงานและลูกบ้านบริจาคหนังสือกว่า 2,500 เล่ม และลงพื้นที่ซ่อมแซมห้องสมุดโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง เป็นต้น และในส่วนของ กสศ. ก็ได้สร้างการมีส่วนร่วมระดับท้องถิ่น โดยการขยายขอบเขตโครงการที่มีอยู่และกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม มหาวิทยาลัย โรงเรียน และชุมชนในการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน และสนับสนุนให้ผู้นำในท้องถิ่นสามารถดำเนินแผนงานการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education: ABE) ได้อย่างยั่งยืน

อีกตัวอย่างหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและภาคเอกชน ได้แก่ โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ซึ่ง กสศ. ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกับ ปตท. ซึ่งเป็นองค์กรด้านพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยมีการระดมทุนผ่าน ผ่านกิจกรรม Virtual Run และได้มอบทุนการศึกษา มูลค่า 151 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านช่วงชั้นการศึกษา ซึ่งอยู่ในกลุ่มครัวเรือนยากจนพิเศษ และมีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จำนวน 60,000 คน ทั่วประเทศ

ด้วยความท้าทายในปัจจุบันที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มจำนวนขึ้น ความจำกัดของพื้นที่การคลัง และการขาดความยืดหยุ่นในการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน บทเรียนนวัตกรรมเพื่อสร้างความเสมอภาคให้ประสบความสำเร็จตาม SDG4 จึงไม่ใช่แค่การพูดถึงเพียงตัวเงินเท่านั้น แต่หมายถึงการมองหาพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเพื่อสร้างช่องทางในการขยายการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

การพัฒนาเทคโนโลยีฐานข้อมูลและความโปร่งใส ซึ่งข้อมูลคือกุญแจสำคัญที่จะสร้างความเข้าใจให้กับภาคเอกชนถึงขอบเขตของปัญหา รวมทั้งเป็นกลไกในการติดตามประเมินผลได้อย่างแม่นยำ

นอกจากนี้ในปัจจุบันภาคเอกชนเองก็มีความคาดหวังที่จะสนันสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในรูปแบบของการรณรงค์ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้นำในท้องถิ่น รวมไปถึงข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ เช่นเดียวกับสังคมที่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้และมีความยั่งยืนจากภาคเอกชน โดยไม่ใช่แค่โครงการประชาสัมพันธ์ในระยะสั้นเท่านั้น แต่หมายถึงโครงการที่มีผลกระทบในระยะยาวมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

สิ่งสำคัญประการสุดท้ายก็คือภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงจูงใจในเชิงระบบเพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการมีส่วนร่วมทางสังคม

เหล่านี้คือปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดเครือข่ายแนวทางปวงชนเพื่อการศึกษา All for Education Partnership (AFE) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตาม SDG4