กสศ. นำเสนอรายงานประจำปี พ.ศ.2565 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ใช้ความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืน

กสศ. นำเสนอรายงานประจำปี พ.ศ.2565 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา ใช้ความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบอย่างยั่งยืน

วันที่ 3 ตุลาคม 2566  ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้นำเสนอรายงานประจำปี พ.ศ. 2565  ต่อที่ประชุมวุฒิสภา

“กสศ.ขอนำเสนอรายงานประจำปี 2565 เพื่อวุฒิสภารับทราบตามมาตรา 43 ของพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพ.ศ. 2561 โดยในส่วนของปี 2565 นี้ กสศ.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกองทุนฯ ที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 วรรคท้าย ที่มุ่งให้ กสศ.ดูแลประชากรกลุ่มที่มีรายได้น้อยและเป็นผู้ด้อยโอกาสที่สุด 15% ของประเทศ 

“ประชากรกลุ่มนี้กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของระบบการศึกษา แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการบริหาร กสศ.ได้พิจารณากรอบงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่ กสศ.ในแต่ละปี และกำหนดแผนกลยุทธ์ในปีพ.ศ. 2565-67 ให้ กสศ.ดำเนินการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กที่อยู่หลังและก่อนวัยการศึกษาภาคบังคับ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษาก่อนวัยอันควร โดยมีทรัพยากรส่วนอื่นๆ ที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาล เพื่อดูแลประชากรที่อยู่นอกระบบการศึกษาและสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ”

“การดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ 3 ปี ฉบับที่ 2 ที่ครอบคลุมปีงบประมาณ 2565 – 2567  มีเป้าประสงค์ 4 ด้าน ประกอบด้วย  เป้าประสงค์ที่ 1. เด็กเยาวชนที่เป็นสมาชิกครัวเรือนรายได้น้อยและด้อยโอกาส สามารถที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษาและคงอยู่อย่างน้อยในระบบการศึกษาภาคบังคับ หรือได้รับการส่งต่อไปสู่ระดับที่สูงกว่า เป้าประสงค์ที่ 2. กสศ. มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาในสังกัด สามารถสนับสนุนความเสมอภาคทางการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษาให้ได้อย่างเต็มที่  เป้าประสงค์ที่ 3. ในโลกยุคปัจจุบัน การศึกษาทางเลือกเป็นสิ่งสำคัญและควรจะเป็นทางเลือกที่มีมากขึ้น สำหรับเยาวชนที่จำเป็นต้องเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย  ให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพได้ตรงความต้องการและศักยภาพของแต่ละคน  เป้าประสงค์ที่ 4. กสศ.ต้องสนับสนุนให้เกิดการวิจัย พัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ รวมถึงฐานข้อมูลที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานสามประการข้างต้นมีความยั่งยืนได้”

“รายงานประจำปี 2565 ของกสศ. ยังได้นำเสนอสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปี พ.ศ. 2565 คาบเกี่ยวถึงปี 2566 ซึ่งเป็นปีฟื้นตัวของเศรษฐกิจและระบบการศึกษาหลังวิกฤตโควิด-19  จำนวนนักเรียนยากจนพิเศษที่อยู่ใต้เส้นความยากจนยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในปีการศึกษา 2565 ต่อเนื่องจากปี 2564  สืบเนื่องจากรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของสมาชิกครัวเรือนยากจนพิเศษยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยอยู่สูงเกือบ 1,300 บาทต่อคนต่อเดือนก่อนโควิด-19 ลงมาอยู่ที่ 1,044 บาท ต่อคนต่อเดือนโดยเฉลี่ย ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)ระบุ

“เหตุการณ์นี้สวนทางกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะดัชนีราคาผู้บริโภคทางด้านพลังงานและอาหาร ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายสูงที่สุดสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ลดลงและมีบุตรหลานอยู่ในระบบการศึกษา  สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น นำไปสู่ความเสี่ยงการหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงปีการศึกษา 2565 ที่เพิ่มสูงขึ้น”

ดร. ไกรยส กล่าวว่าที่ผ่านมา กสศ. ได้สำรวจความจำเป็นพื้นฐานในการเรียนช่วงที่มีการปิดโรงเรียน  พบว่าอินเตอร์เน็ตเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษาและภาวะถดถอยทางการเรียนรู้

 ผลสำรวจของกสศ. พบว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตของเด็กในครัวเรือนยากจนพิเศษนั้นสูงกว่าครัวเรือนทั่วไปค่อนข้างมาก คิดเป็นเกือบ 1 ใน 5 ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน นอกจากค่าอินเตอร์เน็ตแล้ว เด็กเยาวชนเหล่านี้ไม่สามารถสมัครสมาชิกอินเทอร์เน็ตรายเดือนได้ ต้องใช้ลักษณะการเติมเงิน  ซึ่งผู้ประกอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสูงถึง 20%  ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้สามารถลดลงได้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กสศ. ได้ส่งข้อเสนอนโยบายเหล่านี้ไปยังหน่วยงานกำกับดูแลแล้ว 

“กสศ.ได้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทั้ง 6 สังกัด สำรวจพบว่าในปีการศึกษา 2565  สถานภาพครัวเรือนของเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย มีพ่อแม่อยู่ด้วยกันเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น  โดยกว่า 40% ของเด็กเยาวชนเหล่านี้ พ่อแม่แยกทางกัน  เกือบ 5% พ่อแม่เสียชีวิตและหายสาบสูญไปแล้ว เด็กเหล่านี้อาศัยอยู่กับญาติและผู้อุปการะ 

เด็กกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มเปราะบางเป็นอย่างมาก  ควรต้องมีการดูแลมากกว่าแค่เรื่องค่าใช้จ่าย  นอกจากจะเป็นครอบครัวแหว่งกลางแล้ว ผู้ที่เลี้ยงดูเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่มีภาวะว่างงาน เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และจำนวนมากเป็นผู้พิการและเจ็บป่วยเรื้อรัง เพราะฉะนั้นผู้ปกครองของกลุ่มประชากรในระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านชีวิตเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการดูแลและบูรณาการการช่วยเหลือมากกว่าเพียงแค่หน่วยงานทางด้านการศึกษา แต่ควรต้องรวมถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และมหาดไทย ซึ่งเป็นแนวทางที่กสศ.ได้ดำเนินการตลอดมา

กสศ. ยังคงดูแลกลุ่มประชากรมากกว่า 1.3 ล้านคน โดย กสศ.สนับสนุนการคัดกรองความยากจนให้กับหน่วยงานต้นสังกัด 5 สังกัด และเริ่มต้นการทำงานกับกรุงเทพมหานครในปีการศึกษา 2565 นี้เป็นปีแรก  ผลคือเด็กที่ได้รับทุนเสมอภาค มีการคงอยู่ในระบบการศึกษามากกว่า 95% ส่วนใหญ่ที่ออกไปเป็นการออกในช่วง ม. 3 หรือสิ้นสุดการศึกษาภาคบังคับเพื่อไปประกอบอาชีพ นอกจากนี้ยังทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ กว่า 11 หน่วยงาน ในโครงการพาน้องกลับมาเรียน ของรัฐบาล เพื่อให้เด็กเยาวชนที่ออกไปจากโลกการศึกษาชั่วคราวในช่วงโควิด-19 ได้กลับเข้าสู่กระบบการศึกษาภายในปีนี้

“กสศ.ยังสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษาต่อสายอาชีพรวมแล้วเกือบ 7,000 คน  เช่น โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง มอบทุนการศึกษาให้ได้เรียนจบระดับ ปวช. ขึ้นไป แก่เด็กที่เรียนดีและมีศักยภาพแต่ครอบครัวมีรายได้น้อย  นอกจากนี้ยังมีทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพสำหรับเด็กสายอาชีพ ให้ได้เรียนต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก เพื่อกลับมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถทำงานในระบบการศึกษาสายอาชีพได้ต่อไป

“นอกจากนี้ กสศ.ยังได้ทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษามากกว่าหมื่นชีวิต รวมถึงหน่วยจัดการเรียนรู้ใน 56 จังหวัด จำนวนกว่า 110 แห่ง เพื่อพัฒนาการศึกษาทางเลือก สร้างโอกาสทางการเรียนและมีรายได้ของเยาวชนกลุ่มนี้ต่อไป 

“ในส่วนของการผลิตครู กสศ.ทำงานร่วมกับสถาบันผลิตและพัฒนาครูมากกว่า 16 แห่ง เพื่อสนับสนุนทุนครูรัก(ษ์) ถิ่น มาแล้วรวม 3 รุ่น จำนวน 863 คน ใน 53 จังหวัด ซึ่งในปีการศึกษา 2567 จะเป็นปีแรกที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นเหล่านี้ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนปลายทาง

“กสศ. ยังได้ทำงานร่วมกับโรงเรียน 636 แห่ง ในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชน เพื่อให้โรงเรียนขนาดกลางเหล่านี้ริเริ่มพัฒนาตนเอง มีการทำงานกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมากกว่า 685 แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล  นอกจากนี้ กสศ. ยังทำงานกับครูนอกระบบใน 12 จังหวัด เพื่อทำให้เกิดกลไกการทำงานที่ยั่งยืน ในระดับโรงเรียน คุณครู และนักเรียนต่อไป”

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานการประเมินผลการทำงาน 3 ปี นั้น กสศ.ได้นำคำแนะนำไปดำเนินการอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อเสนอแนะจากวุฒิสภาที่มีต่อรายงานประจำปี 2564 ด้วย

“ที่ผ่านมา กสศ. ได้นำข้อเสนอแนะจากวุฒิสภาที่มีต่อรายงานประจำปี 2564 เรื่องการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนนอกระบบการศึกษาไปดำเนินการ โดย กสศ. ได้ทำงานกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน  เพื่อให้เด็กในสถานพินิจ ฯ สามารถมีวุฒิการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมีการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดวนซ้ำอีก 

“ตามคำแนะนำของวุฒิสภา ที่ให้ใช้กลไกจังหวัดมาสนับสนุนการทำงานให้ครอบคลุมการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ไม่เฉพาะแค่การศึกษาภาคบังคับเท่านั้น  กสศ.ได้ขยายการทำงานในระดับชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชน 

“โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น มีการสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน เรื่องของภาษาแม่ในชุมชนท้องถิ่นและการสอนแบบคละชั้น  และเมื่อกลับไปสอนแล้ว นักเรียนทุนเหล่านี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นคนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาบ้านเกิดอย่างเต็มที่

กสศ.ได้ทำตามคำแนะนำเรื่องการระดมทุน โดยปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่กสศ. สามารถระดมทุนได้เกิน 100 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2564 ที่ระดมทุนได้เพียง 17 ล้าน  ในปีงบประมาณ 2565 กสศ. สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ได้ถึง 222 ล้านบาท ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนมากขึ้น” 

ส่วนสุดท้ายของการรายงานต่อที่ประชุมวุฒิสภา  ดร. ไกรยส ได้นำเสนอนวัตกรรมการทำงานในหลายพื้นที่ เช่น การแก้ไขปัญหาเด็กนอกระบบการศึกษาที่จังหวัดระยอง โดยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านตัวเลข 13 หลักในบัตรประชาชน  กสศ. จะนำเสนอนวัตกรรมการทำงานรูปแบบนี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กเยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และนำไปสู่เส้นทางการปฏิรูปการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป


หมายเหตุ

ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 กำหนดให้กองทุน ฯ จัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี  สภาผู้แทนราษฎร  และวุฒิสภาเพื่อทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานการสอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีและเปิดเผยให้ประชาชนทราบในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของกองทุน ฯ