เปิดห้องเรียนต้นแบบ Active Learning เตรียมพร้อมทักษะในศตวรรษ 21 รับมือความผันผวนท้าทายของตลาดงานในอนาคต

เปิดห้องเรียนต้นแบบ Active Learning เตรียมพร้อมทักษะในศตวรรษ 21 รับมือความผันผวนท้าทายของตลาดงานในอนาคต

เข้าสู่ปีที่ 2 ของโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาครูแกนนําและนักจัดการเรียนรู้ด้วยแนวทาง Active Learning เพื่อเตรียมทักษะผู้เรียนให้มีความพร้อมต่อการรับมือกับโลกยุคใหม่ที่มีความท้าทายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ปีนี้ สํานักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. มีการจัดงาน ‘วันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ Active Learning’ โดยมี 8 เขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ และอีก 13 โรงเรียนมาเปิดห้องเรียนตัวอย่างให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเสมือนห้องเรียนจริง ณ โรงแรมทีเคพาเลซแอนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

ปัจจุบัน โครงการนี้มีครูและนักจัดการเรียนรู้กว่า 400 คน จากทั่วประเทศเข้าร่วม โดยมีศึกษานิเทศและนักวิจัยในโครงการเป็นพี่เลี้ยงให้กับครูโรงเรียนต่าง ๆ จนสามารถขับเคลื่อนให้เกิดห้องเรียน Active Learning มากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่ใช้ได้จริงในโรงเรียน อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ คือการเกิดขึ้นของโรงเรียนต้นแบบและมีบุคลากรที่สามารถส่งต่อการจัดการการเรียนรู้ไปยังโรงเรียนอื่น ๆ ในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ.

ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านวิชาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะประธานจัดงานวันเปิดบ้านห้องเรียนต้นแบบ กล่าวว่า วันนี้เป็นอีกวันสำคัญสำหรับคนในแวดวงการศึกษา ซึ่งตนเองได้ติดตามโครงการนี้มาตลอด และทุกครั้งที่พูดถึงกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learnig กสศ. ก็คือภาคีสำคัญที่ช่วยให้ สพฐ. สามารถมองเห็นเด็ก ๆ ทุกกลุ่มให้รับโอกาสอย่างเสมอภาคกัน

“เมื่อเราบอกว่า อยากเรียนต้องได้เรียน การเรียนรู้แบบ Active Learnig เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้ทำการสืบค้น สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้มีสมรรถนะที่สามารถเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในโลกใบนี้ได้ สพฐ. เอง ก็อยากรู้ว่าพื้นที่ไหนทำเรื่องนี้ได้อย่างเข้มแข็งและสามารถเป็นศูนย์กลางต้นแบบในพื้นที่นั้น ๆ การจัดงานครั้งนี้จึงช่วยทำให้ สพฐ. และตัวแทนจากเขตพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ได้รู้ถึงศักยภาพ รวมถึงมองเห็นกระบวนการทำงานที่ผ่านมาของผู้บริหารระดับโรงเรียน ศึกษานิเทศ เขตพื้นที่การศึกษาต้นแบบ ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญให้ สพฐ. สามารถทำงานเชิงรุกต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ทำงานอย่างใกล้ชิด กับ สพฐ. ภายใต้พันธกิจเดียวกัน โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้ กสศ. มุ่งเน้นเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษา การทำให้สถานศึกษาสามารถสนับสนุนผู้เรียนที่มีความต้องการและความสามารถหลากหลายประสบความสำเร็จได้ รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถของเยาวชน

“กสศ. สนับสนุนโครงการนี้เพื่อพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความสำคัญมาก และทราบดีว่าครูและผู้บริหารยุคนี้ต้องเจอกับความท้าทายอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันความท้าทายหลายอย่างก็เป็นโอกาสให้แสดงฝีมือและความสามารถในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กที่ได้เรียนแบบ Active Learnig วันนี้ จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต”

ดร.ไกรยส กล่าวว่า ความท้าทายในอนาคตสำหรับเด็กที่กำลังเรียนอยู่ในขณะนี้ หากให้ยกตัวอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ ตลาดแรงงานในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า งานในตลาดแรงงานที่เคยมีในวันนี้จะหายไปถึงร้อยละ 60 หมายความว่า จากวันนี้เมื่อไปถึงวันที่เขาเรียนจบ งานที่เคยเห็นในวันนี้จะหายไป แต่จะเกิดสิ่งใหม่มาแทนที่ในตลาดงาน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาเวลานี้ก็คือ การเตรียมความพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีในตำราหรือไม่มีในหลักสูตร เพราะสิ่งที่เคยมีในวันนี้จะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะยังมีอยู่ในอนาคต แต่สิ่งที่เราเตรียมได้คือ ทักษะความสามารถ ความรู้ และทัศนะคติ ที่ติดตัวเพื่อไปเอาชนะอุปสรรคในอนาคต

“Active Learnig จึงสำคัญมาก เพราะประเทศไทยอาจไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่มากพอ แต่เรามีทรัพยากรมนุษย์ การจะไปสู่ความยั่งยืนได้ ต้องไปสู่ความสำเร็จภายใต้ความหลากหลาย ในยุคนี้ทุกคนไม่ต้องเก่งเหมือนกัน ไม่ต้องเรียนเรื่องเดียวกันเพื่อไปสู่ภาคอุตสาหกรรมแบบเดิม ๆ อีกแล้ว แต่ Active Learnig จะพาไปสู่การมีทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถสร้างสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมบริการที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้ เมื่อมีนวัตกรรมแบบนี้ เราจะสามารถตั้งราคาสูงแค่ไหนก็ได้ หรือไม่ว่าใครก็ต้องมาทดลองใช้ รับบริการ หรือซื้อกลับไป สิ่งเหล่านี้คืออนาคต แต่จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีการเรียนการสอนแบบ Active Learnig  ที่กระตุ้นให้เกิดการคิด การเรียนรู้จากตัวผู้เรียนเอง กสศ. จึงต้องขอบคุณ สพฐ. ที่ทำให้มีโอกาสเริ่มต้นการทำโครงการนี้กับเครือข่ายและโรงเรียนต่าง ๆ อีกสิ่งที่อยากพูดคือ ความเสมอภาคทางการศึกษา ที่ Active Learnig สามารถช่วยได้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่าปัจจุบันยังมีอีกหลายโรงเรียนที่ครูไม่ครบชั้น อาจเพราะไม่มีอุปกรณ์หรือบุคลากร แต่ความสำเร็จของ Active Learnig จะไปถึงน้อง ๆ กลุ่มเป้าหมายจากครัวเรือนยากจนด้อยโอกาสได้มากขึ้น และพวกเขาก็สามารถเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เป็นนวัตกรของชาติ ไม่ว่าสายวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ จึงอยากสนับสนุนในสิ่งเหล่านี้ และขอยืนยันว่า พวกเราเป็นทีมเดียวกัน และพร้อมทำงานร่วมกัน”

ภายในงาน ยังได้มีพิธีมอบโล่ให้แก่ 8 เขตพื้นที่การศึกษา ที่สามารถทำให้มีโรงเรียนต้นแบบเกิดขึ้นในพื้นที่ได้ ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1, ศึกษาธิการจังหวัดยโสธร, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 1, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเชียงราย เขต 1, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพิจิตร เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาพะเยา เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 1 และสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 2

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนตัวอย่างห้องเรียน Active Learning ได้รับเกียรติบัตรทั้งสิ้น 13 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ เตรียมอุดมน้อมเกล้า, โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนีย์),โรงเรียนบ้านแม่งอนขี้เหล็ก, โรงเรียนภูผาม่าน, โรงเรียนบ้านน้ำพาง, โรงเรียนบ้านคุ้ม, โรงเรียนอนุบาลตรัง, โรงเรียนเวียงเชียงรุ้งวิทยา, โรงเรียนวัดวังเรือน, โรงเรียนบ้านดู่, โรงเรียนบ้านตาเปาว์, โรงเรียนบ้านโคราช และวิทยาลัยเทคนิคลำพูน

สำหรับห้องเรียนต้นแบบ Active Learning ในโครงการพัฒนาทักษะการจัดการการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีทั้งสิ้น 8 หลักสูตรให้ครูสามารถเลือกนำไปปฏิบัติการในห้องเรียน โดยจะมีโค้ชจากโครงการคอยเป็นที่ปรึกษา เพื่อสนับสนุนให้การออกแบบการเรียนรู้สามารถบรรลุผลตามหลักสูตรได้

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าว ได้แก่ หลักสูตรโครงการนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้อิงสมรรถนะผู้เรียน, หลักสูตรการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์โควิดโดยใช้บ้านแทนห้องเรียน, หลักสูตรการออกแบบบอร์ดเกมสำหรับห้องเรียน Active Learning, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาสมองส่วนหน้า, หลักสูตรจิตศึกษากับการพัฒนาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการเสริมสร้างอุปนิสัยผู้เรียน, หลักสูตรทักษะการตั้งคำถามเพื่อเสริมสร้างการคิดเชิงเหตุผล และหลักสูตรการเขียนเพื่อพัฒนาการคิดในห้องเรียน