กสศ. ร่วมกับสถานศึกษาต้นแบบ เชื่อมต่อฐานข้อมูลการทำงานลดความเหลื่อมล้ำของนักเรียนทุกมิติ เตรียมขยายผลทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ

กสศ. ร่วมกับสถานศึกษาต้นแบบ เชื่อมต่อฐานข้อมูลการทำงานลดความเหลื่อมล้ำของนักเรียนทุกมิติ เตรียมขยายผลทุกเขตพื้นที่ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มสถานศึกษาต้นแบบในมิติการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมีบุคลากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารและครูจากสถานศึกษาต้นแบบทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 50 คน

วัตถุประสงค์ของการจัดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ คือสร้างจุดเชื่อมต่อการทำงานระหว่างสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีรายละเอียดแตกต่างกันไปทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงบริบทเป็นรายกรณี ซึ่งการทำงานของเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน จนถึงครู จำเป็นต้องมีความหลากหลาย และตั้งอยู่บนฐานของความร่วมมือ โดยบทเรียนการทำงานจากครู ผู้บริหาร และเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับจากเวทีนี้ จะนำไปสู่การถอดบทเรียนและขยายผลในวงกว้างระดับประเทศต่อไป 

ที่ผ่านมา กสศ. มีภารกิจในการลดความเหลื่อมล้ำทั้งในภาพใหญ่ของประเทศ และลงลึกรายละเอียดไปที่โรงเรียนต้นแบบ ด้วยการสนับสนุนโครงการและเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ อาทิ โครงการทุนเสมอภาค (โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข) โครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program: TSQP) ฐานข้อมูลระบบปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อหลักประกันโอกาสทางการเรียนรู้ (CCT) ระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Q-info) รวมถึงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ซึ่งจำเป็นต้องติดตามการทำงานและทำความเข้าใจร่วมกันกับเครือข่ายโรงเรียนต้นแบบ เพื่อยกระดับความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือนักเรียนให้มีคุณภาพ มีชีวิตที่ดีขึ้น และแก้ปัญหาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า 5 ปีที่ กสศ. ทำงานมา แต่ละฝ่ายทั้งโรงเรียน ครู เขตพื้นที่การศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่ กสศ. ได้มีการประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เพื่อดำเนินงานต่อไปข้างหน้า จึงจำเป็นต้องชวนพูดคุยกันเป็นวงเล็ก โดยรวบรวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการศึกษาและช่วยเหลือกลุ่มเด็กเยาวชนด้อยโอกาสมาทำความเข้าใจร่วมกัน เนื่องจากมีงานอยู่หลายระดับหลายโครงการ ซึ่งเปรียบได้กับการประกอบจิ๊กซอว์ชิ้นเล็ก ๆ ให้เป็นภาพขนาดใหญ่

“สำนักพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษา มีโครงการ TSQP ที่ชวนโรงเรียนขนาดกลางราว 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ให้ลุกขึ้นพัฒนาตนเอง เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มนี้เหมาะสมทั้งด้านขนาดและความพร้อม โดย กสศ. ถอดบทเรียน 4 ปีแรกของการทำงาน พบว่ามีนโยบายและนวัตกรรมมากมายเกิดขึ้น และสามารถขยายผลเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของโรงเรียนต้นแบบ เช่น ระบบสารสนเทศ Q-info ระบบ School Network ระบบ Student Support 

“จนถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 5 ของการทำงาน กสศ. และโรงเรียนต้นแบบได้เตรียมขับเคลื่อนการทำงานให้ไปต่อ โดยพยายามสร้างเครือข่ายโรงเรียนราว 600 แห่งที่ผ่านโครงการ TSQP ให้ขยับขึ้นเป็นโรงเรียนแกนนำในการขยายงานไปสู่ส่วนอื่น ๆ ในพื้นที่ดำเนินงานของ กสศ. ซึ่งกระบวนการทำงานต่อจากนี้ต้องมีการ Mapping หรือร่างแผนงานที่ กสศ. จะสามารถสนับสนุนงบประมาณและกลไกการทำงาน โดยต้องมีการวิเคราะห์และสะท้อนผล เพื่อการปรับปรุงงานตามความจำเป็นและเหมาะสม และอีกเหตุผลประการสำคัญคือการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ เนื่องจาก กสศ. ไม่สามารถทำงานกับทุกโรงเรียนและทุกเขตพื้นที่การศึกษา 100 เปอร์เซ็นต์เต็มได้ จึงต้องมองหา ‘พื้นที่ตัวแทน’ หรือ ‘ลักษณะปัญหา’ ที่มีแนวโน้มทำงานร่วมกันเพื่อนำไปสู่การขยายผลได้”

ดร.อุดม กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของ กสศ. คือค้นหา สนับสนุน และผลักดันให้เกิด ‘ต้นแบบ’ การทำงานที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมาย ต่อโรงเรียน หรือต่อภูมิภาค เพื่อให้ภาคนโยบายของประเทศมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น นำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ โดย กสศ. พยายามรวบรวมผลสัมฤทธิ์จากการทำงานตั้งแต่ปี 2562-2566 เพื่อขยายการทำงานให้ต่อเนื่องไปทั้งในโรงเรียนเดิมและโรงเรียนหน้าใหม่ที่สนใจ นอกจากนี้ กสศ. จะขยับไปทำงานในระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัด โดยเชื่อมประสานกับโครงการอื่นที่ทำอยู่แล้วของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานหลัก และมี กสศ. เป็นหน่วยสนับสนุน

กนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่สถานศึกษาจะได้ทำความเข้าใจเชิงลึก และตั้งคำถามว่า กสศ. ทำงานผ่านระบบใดบ้าง ตั้งแต่ทุนเสมอภาคที่ทำผ่านระบบ CCT และระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ทำกับโรงเรียนทั้งประเทศ และโรงเรียนพัฒนาตนเองหรือ TSQP ที่ทำงานผ่านโรงเรียนต้นแบบ ซึ่งเวทีนี้จะเป็นการขมวดให้เห็นว่าทั้งสามระบบทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร 

ทั้งนี้ กสศ. ยังมุ่งที่จะผลักดัน ‘ระบบหลักประกันความเสมอภาคทางการศึกษา’ ให้กับเด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก โดยมีเป้าหมายปลายทางคือ เด็กทุกคนเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ โดยการทำโครงการทุนเสมอภาค ผ่านระบบ CCT หรือการคัดกรองข้อมูลนักเรียนจากการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน การมอบทุนสนับสนุนเพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงติดตามว่าเด็กที่ได้รับทุนมีผลการเรียน คุณภาพชีวิต และมีการเจริญเติบโตอย่างไร ส่วนระบบดูแลช่วยเหลือและ TSQP คือความพยายามของ กสศ. ในการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ด้วยการหนุนเสริมกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. เพื่อทำให้โรงเรียนขับเคลื่อนการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ทุนเสมอภาคคือ การทำงานกับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยการให้ทุนคือส่วนหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญกว่าคือระบบฐานข้อมูลที่จะส่งต่อระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดูแลช่วยเหลือที่ส่งต่อจากการศึกษาภาคบังคับไปยังระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ทั้งอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา โดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กยศ. (กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา) หรือ ทปอ. (สำนักงานเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย) ซึ่งจากการติดตามทำให้ทราบว่ามีนักเรียนทุนเสมอภาคที่สามารถเรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษาได้ ส่วนระดับโรงเรียนก็มีระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) ระบบ CCT ระบบดูแลช่วยเหลือ ระบบ Q-info และ ณ ขณะนี้กำลังเชื่อมต่อไปถึงระบบ School Health Hero เพื่อดูแลสุขภาพจิตของนักเรียนด้วย เหล่านี้คือภาพใหญ่ที่ กสศ. จะทำงานกับโรงเรียนในระยะยาวต่อไป

“ข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษที่ผ่านการคัดกรองจากครูทั่วประเทศ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่ กสศ. ทำงานกับ สพฐ. ปัจจุบันมีอยู่ราว 1.3 ล้านคน รวมถึงมีกลุ่มนักเรียนยากจนที่ สพฐ. สนับสนุนเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานโดยใช้ฐานข้อมูลของ กสศ. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักเรียนใต้เส้นความยากจนอีกราว 700,000 คน ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดดูแล ดังนั้น สิ่งที่ กสศ. จะทำต่อไปคือ การส่งต่อข้อมูลเชิงลึกของเด็กกลุ่มนี้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ภาคเอกชน สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือกระทรวงการคลัง ในการทำงานต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้”

กนิษฐา กล่าวอีกว่า หลักการทำงานของ กสศ. คือรับฟังคำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างมาตรการป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เช่น ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน การให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไข ซึ่งใช้ต้นทุนน้อยกว่าการพาเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้วกลับเข้าสู่ห้องเรียน และยังมีโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะหลุดซ้ำซ้อน อย่างไรก็ตาม เด็กที่หลุดจากระบบแล้วนั้น กสศ. มีการทำงานเชิงพื้นที่กับสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือให้กลับสู่ระบบการศึกษาและการพัฒนาตนเองตามบริบทที่เหมาะสม

“เราพยายามพัฒนาเครื่องมือเพื่อพาเด็กให้เข้าถึงระบบการศึกษาและคงอยู่ได้ ซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าการเข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษาไม่ได้มีมิติความยากจนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น กสศ. จึงพยายามขยายการทำงานไปยังมิติอื่น ๆ ผ่านระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยร่วมกับ สพฐ. ออกแบบความเชื่อมโยงการทำงานในเขตพื้นที่และโรงเรียน ผ่านฐานข้อมูลที่ สพฐ. มีอยู่แล้วคือ DMC และ CCT ให้เชื่อมโยงกันเพื่อลดภาระการทำงานของครู แล้วเพิ่มข้อมูลเรื่องการดูแลช่วยเหลือเข้าไป โดยทำร่วมกับ 28 เขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนกว่า 1,000 แห่งในทุกภูมิภาค 

“การร่วมงานกับโรงเรียนต้นแบบ ทำให้เห็นว่าถ้าเรามีฐานข้อมูลที่สามารถเห็นในทุกมิติได้ จะทำให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น จากนั้นสิ่งที่จะทำให้ข้อมูลเกิดประโยชน์สุงสุด คือบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานเพื่อลดงานซ้ำซ้อน โดยสถานศึกษาจะมีข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในทุกมิติ ส่วนเขตพื้นที่การศึกษาก็สามารถประมวลได้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่เป็นอย่างไร มีเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษามากน้อยเท่าไร ขั้นตอนเหล่านี้จะประกอบกันเป็นภาพใหญ่ที่ประมวลและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ” 

กนิษฐา ระบุว่า ขณะนี้ กสศ. และ สพฐ. กำลังอยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมที่จะขยายการทำงานไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ฉะนั้นการเปิดเวทีขอคำแนะนำจากผู้ร่วมประชุมในครั้งนี้ จะทำให้การใช้ประโยชน์จากข้อมูลสามารถนำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบาย การบริหารจัดการ รวมไปถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศได้มากขึ้น

วรรณาวดี ภักดีณรงค์ ครูโรงเรียนบ้านบุ (ประชารัฐพัฒนา) จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นการพัฒนาระบบของ กสศ. จนปัจจุบันพบว่าระบบใช้งานสะดวกและรองรับการทำงานดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการลดทอนขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน รวมถึงเติมเต็มส่วนที่จำเป็นเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตามยังมีบางส่วนที่จำเป็นต้องปรับปรุง ซึ่งหวังอย่างยิ่งว่าการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้มาพูดคุยในวันนี้จะนำไปสู่การทำงานที่ดียิ่งขึ้น 

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนจากการใช้ระบบสารสนเทศ Q-info คือช่วยวัดผลประเมินผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยในช่วงแรกที่นำระบบมาใช้พบว่า ปัญหาใหญ่คือยังไม่ได้รับการยอมรับจากครูเนื่องจากความไม่คุ้นชิน แต่เมื่อครูได้ลองใช้ ลองทำความเข้าใจ ทุกคนก็เห็นประโยชน์ร่วมกัน จนในปี 2565 ที่ผ่านมา สามารถพูดได้ว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จในการใช้งาน Q-info ซึ่งครูทุกคนสามารถใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม และช่วยลดภาระงานได้เป็นอย่างดี

สายันห์ คำลือ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 4 กล่าวว่า สพฐ. พยายามดูแลช่วยเหลือและให้โอกาส โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ตามอัตลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน ส่วนเขตพื้นที่การศึกษามีหน้าที่ช่วยเหลือส่งเสริมตามลักษณะปัญหา 

ทั้งนี้ ปัญหาในปัจจุบันพบว่า ทุกหน่วยงานได้รับนโยบายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแพลตฟอร์มตามหน่วยงานของตน แล้วส่งแพลตฟอร์มไปยังเขตพื้นที่ ก่อนให้โรงเรียนนำไปใช้ ทำให้เรื่องการกรอกข้อมูลเป็นภาระมากเกินไป ฉะนั้นถ้าทุกข้อมูลเชื่อมต่อกันได้ผ่านระบบ DMC หรือระบบใดก็ตาม จะเป็นการสนับสนุนให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสะดวกราบรื่น อย่างเช่นระบบดูแลความปลอดภัย คุณภาพชีวิต การเรียน หรืออาหารกลางวัน ถ้าผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลร่วมกันได้ จะทำให้เกิดเป็นระบบใหญ่ที่มีคุณภาพ แล้วข้อมูลที่มีอยู่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่เพิ่มภาระงาน ไม่ทำให้การดูแลช่วยเหลือนักเรียนล่าช้าอีกต่อไป

นคร ตังคะพิภพ ผู้ทรงคุณวุฒิ กสศ. กล่าวว่า อุปสรรคในการทำงานด้านการศึกษาส่วนหนึ่งมาจากระบบข้อมูลสารสนเทศที่เป็น Big Data ยังไม่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าวันนี้ระบบและเทคโนโลยีจะมีประโยชน์ต่องานด้านการศึกษาแค่ไหน แต่ถ้าทุกฝ่ายไม่ขับเคลื่อนงานร่วมกัน การนำมาใช้ก็ไม่มีทางสำเร็จได้ 

“เราต้องมีผู้อำนวยการและผู้บริหารสถานศึกษาที่พร้อมให้การสนับสนุน มีครูที่พร้อมเรียนรู้ และมีเขตพื้นที่การศึกษาคอยดูแลการทำงานอย่างทั่วถึง ซึ่งปัญหาด้านการศึกษาส่วนหนึ่งเกิดจากการขาด ‘ระบบเตือน’ ที่จะช่วยเตือนเป็นระยะ ถึงความผิดปกติเรื่องการเรียน การขาดเรียน ปัญหาเศรษฐกิจหรือสุขภาพ ดังนั้นถ้ามีการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูล การแจ้งเตือนความเสี่ยงของเด็กในพื้นที่ก็จะถูกส่งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอย่างทันท่วงที และทุกฝ่ายจะสามารถช่วยกันดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงได้ตรงกับลักษณะปัญหา นอกจากนี้ยังสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผนจัดสรรงบประมาณระดับพื้นที่ได้อีกด้วย”

เวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะช่วยสะท้อนข้อมูล ทั้งอุปสรรคและการใช้ประโยชน์จากระบบต่าง ๆ เพื่อการดูแลช่วยเหลือเด็กทุกคนได้ทันเวลา รวมถึงถอดบทเรียนในอดีตเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาในระดับพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้การจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาของประเทศเกิดความคุ้มค่าและถูกทิศทาง