กสศ. จับมือ อบจ.ศรีสะเกษ ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์
เพิ่มทางเลือกการศึกษา ยกระดับทั้งจังหวัดอย่างยั่งยืน

กสศ. จับมือ อบจ.ศรีสะเกษ ร่วมสร้างหลักประกันโอกาสเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ และคณะ ประกอบด้วยผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม และคณะศึกษานิเทศก์จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ 39 แห่ง เดินทางเข้าเยี่ยมชมกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. เพื่อเดินหน้าความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน โดยมุ่งเป้าหมายการทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พาเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่สุดในสังคม ให้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ได้พัฒนาทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ จนสามารถพาตนเองพ้นจากวงจรความยากจนที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นได้สำเร็จ

นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ

นายไกรศักดิ์ วรทัต ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า อบจ.ศรีสะเกษ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีโรงเรียนในความรับผิดชอบมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ด้วยจำนวนโรงเรียนในสังกัด 39 แห่ง ครูมากกว่า 1,000 คน และนักเรียนอีกราว 20,000 คน ซึ่งจากข้อมูลเชิงลึกพบว่า มีนักเรียนถึงเกือบร้อยละ 90 ที่อยู่ในกลุ่มขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส อันเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำงานเพื่อความเสมอภาคของ กสศ. อีกทั้งทาง อบจ.ศรีสะเกษ ไม่สามารถขับเคลื่อนภารกิจการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้โดยลำพัง เพราะเชื่อว่าการจะทำงานให้สำเร็จลุล่วงได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ดังนั้นจึงมองว่าการเป็นภาคีทำงานร่วมกับ กสศ. จะทำให้ อบจ.ศรีสะเกษ สามารถขยายเครือข่ายการทำงาน และเปิดมิติใหม่ทางการศึกษาของจังหวัดได้

ตัวเลขจากฐานข้อมูลของระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education หรือ iSEE) ของ กสศ. สะท้อนถึงปัญหาเร่งด่วนด้านการศึกษาของจังหวัดศรีสะเกษว่า มีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบการศึกษา 17,400 คน จากจำนวน 270,962 คน ใน 22 อำเภอ และยังมีเด็กที่หลุดจากระบบในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนไม่น้อย ฉะนั้นเป้าหมายสำคัญคือจะทำอย่างไรให้มีวิธีการดูแลช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้

จากสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ทำให้ อบจ.ศรีสะเกษ ต้องการฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและแม่นยำ เพื่อให้สามารถจัดการศึกษาได้ครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งระบบ iSEE ของ กสศ. นับเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่มีการบันทึกและสำรวจเพิ่มเติมในทุกเทอมหรือทุกปีการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ อบจ.ศรีสะเกษ นำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนี้จะต้องมีการประสานการทำงานและเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกันเป็นเครือข่ายระหว่างผู้บริหารสถานศึกษาต่าง ๆ กับ กสศ. ฉะนั้นในฐานะที่ อบจ.ศรีสะเกษ เป็นหน่วยงานกำกับดูแลเรื่องการศึกษาของจังหวัด จึงจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ กสศ. ในการหาแนวทางเชื่อมโยงการทำงาน และนำภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดมาหารือร่วมกันในวันนี้ 

“กสศ. มีกิจกรรมและโครงการที่จะก่อประโยชน์ให้กับนักเรียน รวมถึงช่วยยกระดับครูและโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางผู้บริหารสถานศึกษาที่สนใจสามารถเข้าร่วมหรือนำไปปรับใช้ได้ทันที ทั้งนี้ก็เพื่อการสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ และพัฒนาโรงเรียนทั้งในแผนระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาในระยะยาว วันนี้เราจึงได้รับโอกาสจากทาง กสศ. เพื่อเรียนรู้หลักการ วิธีการ และเป้าหมายในการทำงาน โดยเฉพาะการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและเยาวชนขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ทั้งในและนอกระบบการศึกษา 

“ภารกิจหนึ่งที่เราต้องให้ความสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการมองหาแนวทางดูแลช่วยเหลือเยาวชนนอกระบบการศึกษา ให้มีที่ทางยืนอยู่ได้ในสังคมโดยไม่เป็นสารตั้งต้นของปัญหาในรูปแบบอื่นต่อไป โดยต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือคิดหลักสูตรใหม่ ๆ ที่จะเติมเต็มเรื่องทักษะอาชีพและทักษะชีวิต เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิต ฉะนั้นการรับฟังการทำงานของ กสศ. ที่ได้เริ่มต้นและทำสำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วส่วนหนึ่ง จะช่วยให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ และแนวทางในการจัดการศึกษาที่เพิ่มมิติความหลากหลายยิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแก่ลูกหลานชาวศรีสะเกษต่อไป” ปลัด อบจ.ศรีสะเกษ กล่าว

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ กสศ.

นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า ตัวเลขของเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ชี้ว่าประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับสูง โดยมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านคน หากไม่มีการเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำจะยิ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นการฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศ และเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ประชากรกลุ่มนี้หลุดจากกับดักความยากจนได้สำเร็จ

ขณะที่ กสศ. มีหน้าที่โดยตรงในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศ โดยมุ่งทำงานกับประชากร 15 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มยากจนด้อยโอกาสที่สุดของประเทศ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ครอบคลุมทุกช่วงวัย ผ่านการทำงานบนฐานข้อมูล องค์ความรู้ พัฒนานวัตกรรม และเป็นการทำงานในฐานะ catalyst หรือเป็นตัวเร่งให้เกิดการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อขยายผลการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและนโยบายในทุกระดับ

นางสาวธันว์ธิดา ระบุด้วยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย อาทิ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา องค์กรท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมต่าง ๆ ทำให้การทำงานด้านการศึกษาประสบผลในแง่ของการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในระดับหนึ่ง ภายใต้ภารกิจ 3 ประการสำคัญ ได้แก่

  1. ส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนทุกกลุ่ม 
  2. ทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดข้อเสนอทางนโยบายที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว 
  3. ประสานเครือข่ายแกนกลางในการจัดการเรียนรู้ ทั้งในระดับนโยบายและท้องถิ่น ครอบคลุมเป้าหมายเด็ก เยาวชน และประชาชน ทั้งในและนอกระบบการศึกษาทุกช่วงวัย

ปัจจุบันภารกิจของ กสศ. มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา อายุ 3-14 ปี มากที่สุด คือเริ่มตั้งแต่ช่วงชั้นปฐมวัยจนถึงระดับการศึกษาไม่เกินภาคบังคับ จำนวนราว 1.1 ล้านคนโดยประมาณ กลุ่มที่สองคือเยาวชนอายุ 15-24 ปี ในระบบการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับ ซึ่งการทำงานของ กสศ. เป็นการสร้างและพัฒนาตัวแบบในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนจำนวนหนึ่ง เพื่อขยายผลไปยังเด็กและเยาวชนทั้งหมด คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2,000 คน จากทั้งหมดที่มีอยู่ราว 200,000 คน

ส่วนกลุ่มนอกระบบการศึกษา แม้ข้อมูลระบุว่าเด็กและเยาวชนมากกว่าร้อยละ 90 ของกลุ่มนี้ จะเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ตาม จำนวนของเด็กที่เข้าถึงการศึกษาจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากหลุดออกจากระบบไปในช่วงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และเมื่อถึงระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย จะเหลือเด็กและเยาวชนทั้งรุ่นอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง โดยปัจจุบันจำนวนของเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปีที่อยู่นอกระบบการศึกษา มีอยู่ราว 600,000 คน ช่วงวัย 15-24 ปี ราว 900,000 คน นอกจากนี้ยังมีประชากรกลุ่มวัยแรงงานซึ่งเป็นครอบครัวของเด็กและเยาวชนเหล่านี้อีกจำนวนหลักล้านคน

ทั้งนี้ กสศ. ได้พยายามตอบโจทย์การทำงานให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเอาปัญหาและอุปสรรคของกลุ่มเป้าหมายเป็นตัวตั้ง โดยมีจุดประสงค์หลักในการทำงาน 4 ด้าน คือ 

  1. ส่งเสริมโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ 
  2. ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ เพื่อเพิ่มทักษะวิชาการและทักษะในการประกอบอาชีพ 
  3. จัดการศึกษาที่หลากหลาย มีทางเลือก ตอบโจทย์ทุกช่วงวัยของชีวิต 
  4. สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบและนโยบาย โดยทำงานร่วมกับภาคีทุกระดับ ในการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทุกคนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม นางสาวธันว์ธิดา กล่าวว่า ด้วยจำนวนบุคลากรและงบประมาณอันจำกัด กสศ. จึงยึดหลักการทำงานโดยทำหน้าที่จุดประกาย ด้วยการสร้างตัวแบบและฐานข้อมูล เพื่อให้เกิดการลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นจากทุกภาคส่วน บนความเชื่อว่างานทุกระดับที่ทำจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมต่อความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของประเทศ และเกิดประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนได้มากที่สุด

“การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อบจ.ศรีสะเกษ วันนี้ กสศ. มองว่าปัจจัยที่จะช่วยให้เกิดการทำงานต่อเนื่องและเชิงลึก คือเรื่องฐานข้อมูลระดับจังหวัดที่ กสศ. พบว่าจังหวัดศรีสะเกษมีความท้าทายอย่างมาก ในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนด้อยโอกาส โดยศรีสะเกษถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 2 ของจังหวัดที่มีนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษมากที่สุด จำนวน 86,519 คน ทั้งยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่ฐานข้อมูลจากระบบ iSEE ของ กสศ. สามารถระบุตัวเลขเชิงลึกได้ในระดับอำเภอ ทำให้เห็นว่าพื้นที่ใดที่มีปัญหาเร่งด่วนที่สุด และไม่ใช่แค่แสดงจำนวนตัวเลข แต่ข้อมูลยังช่วยชี้แจงรายละเอียดว่า เด็กมีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษามากน้อยเพียงใดและอย่างไร โดยชี้ให้เห็นปัญหาความยากจน สถานภาพครอบครัว ผลการเรียน และบันทึกด้านพัฒนาการสุขภาพ

“ส่วนเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา พบว่าศรีสะเกษมีข้อมูลเด็กและเยาวชนวัย 15-17 ปี หรือเป็นวัยที่พ้นจากการศึกษาภาคบังคับไปแล้วถึง 8,000 กว่าคนที่ไม่ได้ศึกษาต่อ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือหลุดจากระบบตั้งแต่ช่วงชั้นมัธยมต้นประมาณ 1,900 คน และจำนวนของเด็กเล็กที่ไม่ได้เข้าเรียนหรือเข้าเรียนช้าราว 6,000 คน ตัวเลขเหล่านี้คือข้อมูลคร่าว ๆ ที่จะฉายภาพให้เห็นว่า สถานการณ์ด้านการศึกษาของเด็กและเยาวชนในจังหวัดศรีสะเกษ จะช่วยกำหนดรูปแบบความร่วมมือของ อบจ.ศรีสะเกษ กับการทำงานในภารกิจลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของ กสศ. ได้อย่างไร”

นางสาวธันว์ธิดา กล่าวอีกว่า กสศ. ทำงานบนฐานของการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่สุด 15 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจนเต็มศักยภาพ โดยเริ่มที่ต้นทางคือช่วงชั้นปฐมวัย จนถึงปลายทางคือจบการศึกษาและเข้าสู่การประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน โดยมีเครื่องมือสำคัญคือฐานข้อมูลจากระบบ iSEE ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดทุกแห่งเข้าถึงได้ รวมถึงโครงการที่ กสศ. ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายในช่วงวัยต่าง ๆ ซึ่งทาง อบจ. สามารถแลกเปลี่ยนและร่วมงานได้ทันที 

ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง อบจ.ศรีสะเกษ กับ กสศ. ในครั้งนี้ยังสามารถต่อยอดไปถึงการร่วมจัดตั้งกองทุน (co-founding) ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เพื่อใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปออกแบบกระบวนการผลิตกำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ โดยอาจชักชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วม เพื่อให้เกิดโมเดลการให้ทุนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของจังหวัดอย่างแท้จริง