ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เสนอแผน 5 ประการ ใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้คุ้มค่าและยั่งยืน เพื่อคุณภาพการศึกษาหลังยุคโควิด-19
โดย : Al Kingsley - eschool news
แปลและเรียบเรียง : นงลักษณ์ อัจนปัญญา

ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ เสนอแผน 5 ประการ ใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้คุ้มค่าและยั่งยืน เพื่อคุณภาพการศึกษาหลังยุคโควิด-19

องค์กรอิสระไม่แสวงหาผลกำไรและบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาของสหรัฐเผยแผน 5 ประการ เพื่อการจัดการศึกษาหลังวิกฤตการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 โดยคาดหวังว่าหลักเกณฑ์เหล่านี้จะสามารถช่วยให้ผู้บริหารโรงเรียนเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมวางแผนต่อยอดสำหรับอนาคตทางการศึกษาด้วย 

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนในสังคมสหรัฐเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาและการจัดการศึกษาในสหรัฐครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ฉุกละหุกบ้างกับการที่ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนไปในรูปแบบออนไลน์ หรือเรียนทางไกล หรือเรียนแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์กับออนไซต์ แต่การพูดว่าการศึกษาได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติที่เด็กๆ สามารถกลับไปเรียนหนังสือที่ห้องเรียนได้แล้วก็เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกต้องเช่นกัน 

เพราะถึงแม้นักเรียนจะกลับไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนได้แล้ว แต่ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โรงเรียนแทบทุกแห่งทั่วสหรัฐต่างจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาจัดซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีจำนวนมากเพื่อให้การเรียนการสอนดำเนินต่อไปได้ 

จากการสำรวจในปี 2022 โดยสมาคมเครือข่ายโรงเรียน (Consortium for School Networking) พบข้อมูลว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา มีอุปกรณ์สำหรับนักเรียนแต่ละคนในระดับการศึกษาภาคบังคับ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาด ซึ่งในขณะนั้นมีเพียงราว 2 ใน 3 ของโรงเรียนมัธยมศึกษา และน้อยกว่าครึ่งของโรงเรียนระดับประถมศึกษา ที่มีอุปกรณ์เพียงพอสำหรับนักเรียนแต่ละคน

ขณะเดียวกัน การระบาดของโควิดยังทำให้เกิดการปรับปรุงเครือข่าย การฝึกอบรมครู หรือการจัดซื้ออุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายที่จำเป็นต่อการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั้งในโรงเรียนและที่บ้านของนักเรียน

แม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีนี้จะทำให้เกิดมาตรฐานตามที่โรงเรียนคาดหวังทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แต่ค่าใช้จ่ายดังกล่าวก็ยังนำมาซึ่งคำถามที่น่าสนใจว่า โรงเรียนจะสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ทั้งหมดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาจะสามารถบำรุงรักษาอุปกรณ์ทั้งหมดนี้ในระยะยาวได้หรือไม่

จากผลสำรวจล่าสุดของ แม็กคินซีย์ (McKinsey) พบว่าเขตต่างๆ ยังมีเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลส่วนกลางที่ยังไม่ได้ใช้อีกราว 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสามารถนำไปดำเนินการเพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างการเข้าถึงการศึกษา กระนั้น เจ้าหน้าที่เขตมากกว่าครึ่งจาก 260 คนที่ทำการสำรวจกล่าวว่า “พวกเขาประสบปัญหาในการวางแผนงานเชิงกลยุทธ์ภายใน และมีข้อจำกัดเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้จ่ายเมื่อต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา” และเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ยังคาดอีกว่า ค่าบริการด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 6-8 ในอีก 3 ปีข้างหน้า

เนื่องจากเงินจำนวน 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนี้เป็นเงินที่จะต้องใช้จ่ายในอีก 3 ปีข้างหน้า และภาคการศึกษาไม่น่าจะได้รับเงินจำนวนมากเช่นนี้จากรัฐบาลกลางอีก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่จะต้องใช้เงินเหล่านี้อย่างรัดกุม ไม่เพียงแต่วางแผนสำหรับวันนี้เท่านั้น แต่เพื่อให้แน่ใจว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว

ทั้งนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการศึกษาระบุว่า โดยปกติแล้วเป็นเรื่องง่ายมากที่จะให้คำแนะนำโรงเรียนในแต่ละเขตการศึกษาเกี่ยวกับวิธีซื้อ วิธีใช้ และสนับสนุนโปรแกรมเทคโนโลยี หลักการสำคัญคือการวางแผนอย่างรอบคอบในการใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่ต้นทุนของอุปกรณ์ การฝึกอบรมครู ไปจนถึงความต้องการระยะยาวในการบำรุงรักษาและการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อความยั่งยืนของเทคโนโลยี

กระนั้น เมื่อต้องเผชิญกับข้อกำหนดด้านการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาลส่วนกลาง คำแนะนำข้างต้นอาจไม่เพียงพออีกต่อไป จากที่เคยใช้จ่ายงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ปัจจุบันการระบาดของโควิดได้คลี่คลายแล้ว บริบทของความท้าทายจึงแตกต่างออกไป 

ดังนั้น ผู้บริหารสถานศึกษาในปัจจุบันจึงต้องพิจารณาประเด็นใหม่ นั่นคือวิธีการใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งบางอย่างซื้อมาโดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนระยะยาว 

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเสนอว่า ผู้บริหารโรงเรียนควรตัดสินใจโดยอิงจากแผนเทคโนโลยีระยะยาวที่มั่นคงและยั่งยืนกว่าการซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พร้อมย้ำว่าขณะนี้การวางแผนการใช้เทคโนโลยีของโรงเรียนต่างๆ ดำเนินไปภายใต้สถานการณ์ที่เป็นปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ 

งานนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปหลักเกณฑ์ 5 ข้อ ในการใช้เทคโนโลยีที่โรงเรียนมีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งวางแผนสำหรับอนาคต ดังนี้

  1. สำรวจสถานการณ์: ขั้นตอนแรกคือการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของโรงเรียน ด้วยการพูดคุยกับครู นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อพิจารณาว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ถูกใช้งานอย่างเหมาะสมแล้วหรือไม่ แทนที่จะคิดว่าจะใช้งานเทคโนโลยีอย่างไร สิ่งที่ควรคำนึงถึงควบคู่ไปด้วยก็คือ การจัดการศึกษาในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องแน่ใจว่าภาพที่เห็นเป็นภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนและโรงเรียนในขณะนี้จริงๆ ไม่ใช่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วหรือ 3 ปีที่แล้ว
  2. ปรับปรุงเป้าหมาย: ข้อได้เปรียบในเวลานี้ก็คือ การที่บรรดาสถาบันหรือโรงเรียนมีบทเรียนจากความยากลำบากในภาวะการแพร่ระบาดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรเดินหน้าทบทวนเป้าหมายเหล่านี้เพื่อให้แน่ใจว่ายังคงตอบสนองความต้องการของนักเรียน โรงเรียนจำเป็นต้องถอยกลับมาทบทวนว่าทักษะที่นักเรียนพลาดไปนั้นจะสามารถกระตุ้นได้ด้วยระบบใหม่หรือไม่ หรือจำเป็นต้องเพิ่มการเรียนรู้ทางสังคมและอารมณ์เป็น 2 เท่าหรือไม่
  3. การทำงานร่วมกัน: คือการเปิดให้มีการสนทนาใหม่ระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครอง หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยโรงเรียนต้องมองว่าการทำงานร่วมกันนี้เป็นขั้นตอนสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่าโรงเรียนสามารถสื่อสารถึงเป้าหมายให้กับนักเรียนได้อย่างชัดเจน และยังรับฟังข้อกังวลของผู้ปกครองด้วย นอกจากนี้หากนักเรียนเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างการเรียนกับเป้าหมายของชีวิต เพื่อให้ประสบความสำเร็จในวิทยาลัยหรือในหน้าที่การงาน นักเรียนก็จะให้ความสนใจเรียนมากขึ้นด้วย 
  4. การปรับใช้: หากโรงเรียนได้ทำตามขั้นตอนที่ 1-3 อย่างถูกต้อง โรงเรียนจะได้รับข้อมูลใหม่มากมายที่สามารถนำไปสู่การวางแผนการใช้เทคโนโลยีของโรงเรียน ขั้นตอนนี้คือผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานทั้งหมดอย่างเสร็จสมบูรณ์ แต่โปรดจำไว้ว่า แค่เปลี่ยนแผนยังไม่เพียงพอ แต่ควรมีการสื่อสารเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้เจ้าหน้าที่ นักเรียน และชุมชนทราบอย่างชัดเจนอีกทางหนึ่งด้วย 
  5. วางแผนสำรอง: เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนทั้งหมดนี้แล้ว ให้พิจารณาเป้าหมายระยะยาว การมีแผนงานที่ชัดเจน และการรู้ว่าโรงเรียนจะใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างไร ซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอุปกรณ์และระบบออนไลน์ต่างๆ ให้ทำงานต่อไปได้ สิ่งนี้ช่วยในการตัดสินใจได้ว่าอะไรจะต้องเปลี่ยนและอะไรจะไม่ทำให้โรงเรียนไม่สิ้นเปลืองงบประมาณในอนาคต ทั้งนี้ โปรดจำไว้ว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่คาดไม่ถึงในช่วงวิกฤตโควิด 3 ปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ค่าใช้จ่ายเดียวกันนี้จะต้องเกิดขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป เพราะนับต่อจากนี้เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์นั้นแตกต่างออกไปแล้ว

ที่มา : A 5-point plan for post-pandemic education