‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ นำร่อง 37 โรงเรียน ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ดูแลเด็กนอกระบบ ลดความเหลื่อมล้ำ

‘แม่ฮ่องสอนโมเดล’ นำร่อง 37 โรงเรียน ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ดูแลเด็กนอกระบบ ลดความเหลื่อมล้ำ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมัชชาการศึกษา จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดประชุมโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา วุฒิสภา พร้อมด้วยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของกลไกจังหวัดในการดำเนินโครงการ

นายนิติศักดิ์ โตนิติ อุปนายกสถาบันปัญญาวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นายนิติศักดิ์ โตนิติ อุปนายกสถาบันปัญญาวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดได้นำร่องโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รองรับปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา คนพิการ และเด็กชายขอบ ภายใต้ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการการขับเคลื่อนการทำงานใน 2 ด้าน คือ 1) ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม ในโรงเรียนนำร่อง 37 แห่ง ผ่านการออกแบบการจัดการศึกษาบนพื้นฐานของอาชีพที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของฐานรากของชุมชน 2) สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาทั้งระบบ โดยให้ความสำคัญกับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ นอกจากนี้ ยังได้จัดการองค์ความรู้ด้านนี้ร่วมกับภาคีด้านการศึกษาควบคู่ไปด้วย

นายบัณฑิต นิลอุดมศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ภาคเอกชนในพื้นที่ได้สร้างกลไกความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อให้มีงานทำ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการและบริบทของพื้นที่ เชื่อมั่นว่ากลไกนี้จะสร้างบุคลากรและกำลังแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการ สามารถสร้างการเติบโตของตลาดและเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้

นางอ่อนศรี ศรีอัมพร อุปนายกสมาคมพัฒนาการศึกษาแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า แนวทางที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่คือ การใช้เครื่องมือและทุนที่มีอยู่ เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่พิเศษที่มีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น กล่าวคือ แม้จะมีประชากรยากจนในกลุ่มยากจนพิเศษและมีความเหลื่อมล้ำสูง แต่มีต้นทุนเชิงพื้นที่ในเชิงบวก นั่นคือ ค่านิยมของการดำรงชีพบนพื้นฐานของความพอเพียง ดำรงวิถีชีวิตภายใต้ความพอประมาณ คำนึงถึงความจำเป็นทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม รูปแบบการทำงานจึงเน้นการทำงานเสริมเติมเต็ม (Complement) กับหน่วยงานทางการศึกษาหลัก โดยไม่ก่อให้เกิดกลไกการทำงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศห่างไกลทุรกันดาร เป็นพื้นที่ชายแดน เด็กและเยาวชนจึงยากที่จะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและโอกาสทางสังคม มีฐานะยากจนพิเศษ และมีสถิติเด็กหลุดออกนอกระบบในพื้นที่ทุกอำเภอค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอำเภอสบเมย และพบว่าเด็กในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหลุดจากระบบการศึกษาอันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านคมนาคมเป็นหลัก 

สิ่งที่ท้าทายสำคัญในการทำงานในพื้นที่นี้ คือ การค้นหาเด็กกลุ่มดังกล่าวให้พบ ทำให้นำไปสู่การทำงานร่วมกับ กสศ. และกำหนดแนวทางในการช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า ความสมบูรณ์ของเด็กแรกคลอด คือต้นทุนที่ดีสำหรับการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้น อาจจะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของเด็กกลุ่มนี้ในอนาคตได้ 

ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จับมือกันช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่ตกเกณฑ์ด้านสุขภาพ ด้วยการจัดอาหารเสริม ได้แก่ นม ไข่ และมื้ออื่น ๆ ตามความเหมาะสม และสร้างกลไกการส่งต่อข้อมูลเด็กรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเด็กปฐมวัย เด็กพิการ รวมถึงมีการสร้างอาชีพทางเลือกที่เหมาะกับบริบทของพื้นที่ โดยการปรับวิธีคิดและทัศนคติเพื่อให้เด็กได้ค้นหาตัวเองอย่างเหมาะสม

นายสมคิด ศรีธร ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำแผนงานลดความเหลื่อมล้ำที่ได้จากการทำงานร่วมกับ กสศ. มาปรับเป็นแผนพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในจังหวัด และมีการกำหนดตัวชี้วัดการทำงานต่าง ๆ ร่วมกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำให้ทราบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีจำนวนเด็กพิการค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสรรคในการเดินทางไปโรงพยาบาลตั้งแต่ตอนแรกเกิด เมื่อได้เห็นว่าจังหวัดให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทำให้เชื่อมั่นว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขในระดับฐานรากได้ในที่สุด

ผู้จัดการ กสศ. กล่าวอีกว่า ความยั่งยืนของโครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของคนในพื้นที่เป็นสำคัญ โดย กสศ. มีหน้าที่เป็นตัวเร่ง ในการเชื่อมโยงภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานระดับผู้กำหนดนโยบาย มาทำงานอย่างสอดคล้องกัน นอกจากนี้ กสศ. ได้มีการพัฒนานวัตกรรมและใช้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ในการวิเคราะห์และลงลึกถึงปัญหาให้ได้มากที่สุดและสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับพื้นที่ได้ 

เป้าหมายข้างหน้า กสศ. มีความมุ่งหวังให้แต่ละจังหวัดนำร่องสามารถยืนได้ด้วยตนเองภายใน 3 ปี ผ่านกลไกกลางของจังหวัด เช่น สมัชชาการศึกษาจังหวัด ซึ่งมีแผนและข้อมูลที่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ด้วยตนเอง