“ความไม่รู้หนังสือ” ผลกระทบที่เจ็บปวดและเลวร้ายที่สุดของ COVID-19

“ความไม่รู้หนังสือ” ผลกระทบที่เจ็บปวดและเลวร้ายที่สุดของ COVID-19

ที่มาภาพ: unsplash-Lavi-Perchik

แปลและเรียบเรียง: นงลักษณ์ อัจนปัญญา

 

ผู้สื่อข่าวอาวุโสและคอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ของสหรัฐฯ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตการระบาด COVID-19 โดยมุ่งหวังกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทั่วโลก เห็นความสำคัญของการยื่นมือให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่อที่ได้รับความเจ็บปวดมากที่สุดจากการพลาดโอกาสที่จะได้เรียนหนังสือ

Nicholas Kristof แสดงความเห็นว่า ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่สัดส่วนผู้ติดเชื้อที่ได้รับการรักษาหรือเสียชีวิต และการวางแผนจัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมา ประเด็นเรื่องสวัสดิการ สุขภาวะ และชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กกลับไม่ได้รับการเอ่ยถึง หรือเอ่ยถึงน้อยมากจนน่าใจหาย 

สถานการณ์ของการระบาดทำให้เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมดในประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ หรือยากจน ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารและโภชนการที่ดี บีบให้เด็กต้องเลิกเรียนกลางคัน โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อลดภาระปากท้องของครอบครัว หรือทำให้การแจกจ่ายยา วัคซีน และวิตามินที่จำเป็นต่อการเติบโตติดขัด เช่น การจ่ายวิตามิน A ที่ถึงขั้นทำให้เด็กหลายคนเสี่ยงพิการทางสายตา หรือเสียชีวิต COVID-19 คือหายนะที่สามารถคร่าชีวิตเด็กโดยที่เด็กคนนั้นไม่จำเป็นต้องติดเชื้อดังกล่าว เพราะสิ่งที่ตามมาจากการระบาด ก็คือปัญหาความยากจนขั้นสุด และความไม่รู้หนังสือ ซึ่งเด็กคือผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงที่เมื่อครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับสถานะการเงินเมื่อใด มักต้องรับบทเป็นผู้เสียสละตัดใจจากการเรียนหนังสือเพื่อไปแต่งงาน หรือไปรับจัางเป็นแรงงานราคาถูก ยอมโดนเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานา

ก่อนหน้านี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UN Population Fund) เตือนว่า COVID-19 อาจนำไปสู่การที่เด็กผู้หญิงราว 13 ล้านคนทั่วโลกต้องแต่งงานตั้งแต่อายุไม่ถึง 14 ปี แถมที่สำคัญเด็กเหล่านี้ต้องเสี่ยงเสียชีวิตกับการคลอดลูกตั้งแต่วัยเยาว์ โดยที่ไม่สามารถเข้าถึงวิธีการคุมกำเนิดอย่างถูกต้องเหมาะสมได้

Kristof กล่าวว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของ COVID-19 อาจไม่ได้อยู่ที่ฤทธิ์ทำลายในตัวเชื้อไวรัส แต่อยู่ที่ผลกระทบทางอ้อมที่ตามมา ซึ่งสั่นคลอนระบบเศรษฐกิจ สุขภาพ และการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย 

Dr.Muhammad Musa ผู้อำนวยการบริหาร BRAC International องค์กรเอ็นจีโอขั้นแนวหน้าของบังกลาเทศ กล่าวชัดเจนว่า ผลกระทบทางอ้อมของ COVID-19 ในซีกโลกทางใต้ จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตกงาน ความอดอยาก ปัญหาความใช้รุนแรงภายในครอบครัว และการเลิกเรียนกลางคัน ซึ่งประเด็นหลังสุดจะทำให้เกิดวงจรความยากจนที่ไม่จบไม่สิ้น และกลายเป็นตัวขัดขวางการฟื้นฟูพัฒนาประเทศในระยะยาว เป็นราคาที่ต้องจ่ายที่แพงที่สุด  

นอกจากนี้ Angeline Murimirwa ผู้อำนวยการบริหาร Camfed International ประจำภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นองค์กรที่สนับสนุนช่วยเหลือการศึกษาของเด็กหญิงในประเทศกำลังพัฒนา เสริมว่า ปัญหาเรื่องความหิวโหย ก็นับเป็นปัญหาที่มีความสำคัญไม่แพ้ปัญหาการศึกษา 

ที่มาภาพ: unsplash-Charlein Gracia

ในเวลานี้ เด็กที่ตายส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เป็นการเข้าไม่ถึงวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น และขาดแคลนอาหาร โดยมีรายงานว่า มากกว่า 60% ของนักเรียนในสังกัดของ Camfed ในมาลาวี ต้องตกอยู่ในสภาวะลำบาก เพราะขาดอาหาร 

Mark Lowcock หัวหน้าด้านมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประเมินว่า หลังจากนี้จะมีรายงานตัวเลขความยากจนต่อหัวเพิ่มขึ้น สัดส่วนการเสียชีวิตในวัยเด็กเพิ่มขึ้น รวมถึงการเสียชีวิตของแม่และเด็กระหว่างคลอดเพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ จำนวนผู้คนทั่วโลกที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในภาวะยากจนข้นแค้นมีเพิ่มมากขึ้นถึง 38 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 โดยสถาบัน Institute of Health Metrics and Evaluation (IHME) แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตันคาดการณ์ว่า จะมีผู้คนทั่วโลกยากจนมากขึ้นอีก 25 สล้านคนในปีหน้า 

Kristof คอลัมนิสต์ของนิวยอร์ก ไทม์ส รายนี้ยอมรับว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่อีกหลายปีต่อจากนี้ตนคงไม่สามารถเขียนสรุปภาพรวมประจำปีระบุว่า ปีที่ผ่านมา เป็นปีที่ดีที่สุดของประวัติศาสตร์มวลมนุษยชาติ เนื่องจากสถิติตัวเลขต่างๆ ที่บ่งชี้ถึงคุณภาพชีวิตของประชากรโลก อย่างอัตราการอ่านออกเขียนได้ ภาวะยากจน ภาวะความหิวโหยหรือขาดแคลนอาหาร มีแนวโน้มพลิกกลับมาสูงขึ้น

โดย เมื่อถาม Lowcock ว่า การระบาดของโรค COVID-19 ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้เป็นอุปสรรคที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของยุค หรือเป็นตัวจุดชนวนให้เร่งเกิดการปฎิรูปเปลี่ยนแปลง ผู้เชี่ยชาญรายนี้ระบุว่า ในเบื้องต้นอย่างน้อยที่สุด วิกฤตที่เกิดขึ้น คือปัญหาชั่วคราวก่อนที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ถ้าขาดการวางแผนอย่างรอบคอบระมัดระวัง ผลกระทบที่ตามมาย่อมมีผลทำให้ความก้าวหน้าที่ทำมาหลายสิบปีก่อนหน้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกลบเลือนหายไปในพริบตา 

Kristof สรุปว่า นานาประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ต้องการเม็ดเงินในการลงทุนมหาศาลอย่างเร่งด่วนในด้านการศึกษา สุขอนามัยและโภชนาการสำหรับประชากรวัยเยาว์ โดยรัฐบาลจากประเทศร่ำรวยควรต้องจัดสรรงบส่วนหนึ่งเป็นทุนสนับสนุนการทำงานดังกล่าวให้แก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ที่กระจายอยู่หลายแห่งทั่วโลก เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ สามรถฟื้นฟูลุกขึ้นมาตั้งหลักได้อย่างมั่นคง เหมือนที่เคยทำมาในอดีตตั้งแต่ปี 1990 ที่ความร่วมมือจากทั่วโลกส่งผลให้อัตราความยากจน (หมายถึงคนที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ) สามารถลดลงจนเหลือราว 2 ใน 3 ของประชากรโลกได้สำเร็จมาแล้ว

 

ที่มา: A Cataclysm of Hunger, Disease and Illiteracy