กสศ. ผนึกกำลังร่วม บพท. นำร่อง 4 จังหวัดแก้จนแบบเบ็ดเสร็จ

กสศ. ผนึกกำลังร่วม บพท. นำร่อง 4 จังหวัดแก้จนแบบเบ็ดเสร็จ

กสศ. ผนึกกำลังร่วม บพท. นำร่อง 4 จังหวัด แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ สุรินทร์ และปัตตานี บูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)การบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับหน่วยงาน

นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า หลังจากได้ร่วมหารือกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวซ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ถึงแนวทางการสร้างระบบความช่วยเหลือด้านการศึกษานักเรียนยากจน เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และมีความเห็นสอดคล้องเป็นไปในแนวทางเดียวกันหากพบคนผู้ด้อยโอกาส หรือไม่ได้รับการศึกษาจะประสานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รวมถึงการ Matching ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน และระบบข้อมูลเด็กยากจนในการสร้าง Package ความช่วยเหลือให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ สุรินทร์ และปัตตานี เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดในจังหวัดเป้าหมาย โดยบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนำร่องดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาระบบเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างระบบความช่วยเหลือด้านการศึกษานักเรียนยากจนในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบัดเสร็จและแม่นยำ

เพื่อให้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะ และหาแนวทางในการปรับปรุงเงื่อนไขที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ให้กลุ่มเป้าหมายสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน กสศ.และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวซ.) จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด นายพัฒนะพงษ์ กล่าว

นายพัฒนะพงษ์ กล่าวว่า  สำหรับ กสศ.จะสนับสนุน และพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนจนที่พบจากการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาคนจนอย่างเข็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ในการ Matching ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนและระบบข้อมูลเด็กยากจน ในการสร้าง Package ความช่วยเหลือให้กับเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายด้านการศึกษาให้สามารถเข้าถึงระบบการดูแล และเงินอุดหนุนของหน่วยงาน ขณะเดียวกันยังติดตาม ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนยากจน/ยากจนพิเศษ ทั้งด้านการประกอบอาชีพ การศึกษา การดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และการช่วยเหลือด้านอุปโภคบริโภค ฯลฯ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันและร่วมผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดความเหสื่อมล้ำในระบบการศึกษาของประเทศ

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่มีมาช้านาน โดยสิ่งที่เป็นปัญหาใต้ร่มความยากจน คือ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลเท่าที่ควร โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงออกแบบแผนงานริเริ่มสำคัญ (Flagship)  เรื่อง “งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ” เสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ทำงานในพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด ที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำสุดจากข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index: HAI Index) ปี 2562 ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ มีจำนวนคนจน 131,040 คน ตามฐานข้อมูล Thai People Map and Analytics Platform (TPMAP) โดยร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่สร้างกลไกความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัดและสร้างกลไก สร้างเครื่องมือกลางในการสำรวจ วิเคราะห์เชิงปริมาณความยากจนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อจำแนกกลุ่มคนจน ออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มเป้าหมาย 20% ล่าง ได้แก่ คนจนดักดาน/คนจนยากไร้ คนจนกลุ่มนี้จะประสานและส่งต่อความช่วยเหลือจากระบบสงเคราะห์ภาครัฐและเอกชนเข้าไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 2) กลุ่มเป้าหมาย 20% บน ที่มีปัญหาความยากจนจากหนี้สินภาคครัวเรือน การประกอบอาชีพ ซึ่งจะนำงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยเข้าไปหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ ให้สามารถประกอบอาชีพและดำรงชีวิตได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ บพท. ยังได้ดำเนินการประสานทำความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในด้านการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการวิจัยร่วมกับคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนของจังหวัด เพื่อติดตามและประสานงานการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ รวมถึงได้วางแนวทางการสร้างความร่วมมือกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (สศป.)และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิจัยนโยบาย จัดทำระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อติดตามกลุ่มเป้าหมายคนจน ที่มีความแม่นยำ และทำการสังเคราะห์ภาพรวมและการเชื่อมโยงระบบข้อมูลในระดับชาติ พร้อมทั้งเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาความยากจนของโครงการวิจัยในพื้นที่ 10 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อให้การจัดสรรสวัสดิการภาครัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

ดร.กิตติ กล่าวว่า สำหรับในปี 2564 จะดำเนินงานขับเคลื่อนระบบความช่วยเหลือและติดตามให้คนจนสามารถหลุดพ้นปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม และขยายผลการทำงานจากพื้นที่เป้าหมาย 10 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ชัยนาท สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นราธิวาส อุบลราชธานี ลำปาง พัทลุง นครราชสีมา ร้อยเอ็ด พิษณุโลก เลย และยะลา เพื่อให้สอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ด้วยการ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติและการเสริมพลังทางสังคม และเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12  (พ.ศ.25602564)