ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.ปี 67 ชวนสถานศึกษาสายอาชีพผลิตกำลังคนคุณภาพ  สาขาพัฒนา Soft Power 11 ด้าน ตอบโจทย์พื้นที่

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.ปี 67 ชวนสถานศึกษาสายอาชีพผลิตกำลังคนคุณภาพ  สาขาพัฒนา Soft Power 11 ด้าน ตอบโจทย์พื้นที่

กสศ.  ชวนสถานศึกษา ยื่นข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมผลิตกำลังคนสายอาชีพคุณภาพ  2,500 คน ปี 67 ผ่านระบบออนไลน์ ยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 9 มกราคม 2567

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง  กสศ. ได้สร้างโอกาสให้เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบาก ได้เรียนต่อสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับในสาขาความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศและท้องถิ่นแล้ว ถึง 11,768 คน โดยกลุ่มนักศึกษาที่เรียนจบแล้วและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆ  สามารถสร้างรายได้สูงกว่าพ่อแม่ถึง 4 เท่า มีรายได้หลักเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท เยาวชนกลุ่มนี้เป็นคนแรกของครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น

ดังนั้น ในปีการศึกษา 2567  กสศ. ขอเชิญสถานศึกษาสายอาชีพยื่นข้อเสนอ “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีพและสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ โดยคุณสมบัติต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพ ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (1 ปี) จากทุกสังกัด

ทั้งนี้สถานศึกษาแต่ละแห่ง สามารถเสนอจำนวนนักศึกษาตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป โดยรวมทุกข้อเสนอโครงการแล้วไม่เกิน 150 คนต่อสถานศึกษา และไม่เกิน 5 สาขางาน โดยในปี 2567 ได้เพิ่มเกณฑ์ใหม่ ที่แตกต่างจากปีอื่นๆ คือแต่ละสาขาที่เปิดรับ ต้องมีจำนวนนักศึกษาอย่างน้อย 15 คนต่อสาขางาน

ทั้งนี้กสศ. จะคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุดตามเกณฑ์เพื่อจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ สามารถสนับสนุนได้ จำนวนประมาณ 50- 70 โครงการ โดยมีกำหนดรับนักศึกษาเข้าสู่โครงการในปีการศึกษา 2567

“สำหรับในกระบวนการคัดเลือกประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนทั้งภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคสื่อสารมวลชน และภาคท้องถิ่น จะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติเชิงคุณภาพ พร้อมเชิญสถานศึกษาเข้าชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงลงไปเยี่ยมสถาบันที่ยื่นข้อเสนอ เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการคัดเลือก เพื่อให้โครงการ ฯ เดินไปได้ตามวัตถุประสงค์ ตอบโจทย์ความคุ้มค่า และความคาดหวังของประชาชนและเป้าหมายการพัฒนาประเทศได้มากที่สุด” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าว

ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวว่า หลักสูตรและสาขาที่เปิดรับในปีนี้ ประกอบด้วย 1.สาขาที่เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายผลักดันเศรษฐกิจและพัฒนาไปสู่เป้าหมายนโยบายประเทศ 4.0 ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นหลักสูตร สมัยใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและเพื่อคุณภาพชีวิต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

2. สาขาที่ขาดแคลน ด้านสายอาชีพในท้องถิ่นจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ซึ่งสถานศึกษา ตั้งอยู่ในจังหวัด หรืออาจรวมถึงพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยในปีนี้ ได้เพิ่มเติมด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา ที่ตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น  สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมและแอนิเมชั่น  สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย สาขาวิชาธุรกิจความงาม สาขาวิชาเชฟอาหารไทย สาขาวิชาการธุรกิจการกีฬา สาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิก  สาขาวิชาศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ สาขาวิชาการถ่ายภาพและมัลติมีเดีย สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี 

และ 3. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) ซึ่งเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี ได้แก่หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล สถานศึกษาที่ขอรับทุนต้องได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลอย่างน้อย 3 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งสถานศึกษาที่ขอรับทุนต้องได้รับการรับรองจาก ทันตแพทยสภา

โครงการจะพิจารณาถึงความพร้อมของสถานศึกษาในด้านต่างๆ รวม 5 ด้าน  เช่น 1.ด้านบุคลากร ต้องมีรายละเอียดครูผู้รับผิดชอบหลักสูตร ครูประจำหลักสูตร ครูนิเทศ ที่มีวุฒิประสบการณ์การทำงานที่สอดคล้องกับหลักสูตรรวมถึงผู้บริหารโครงการและคณะทำงานที่ชัดเจน 2.ด้านสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์และ แหล่งเรียนรู้ ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมต่อการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ สำหรับวิทยาลัยขนาดเล็ก ซึ่งขาดความพร้อมบางด้าน สามารถแก้ปัญหา ด้วยการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับพันธมิตร หรือวิทยาลัยอื่นที่มีความพร้อมได้

3.ด้านที่พัก มีหอพักและระบบจัดการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีมีครูผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลผู้รับทุนในหอพัก ในกรณีที่สถานศึกษาไม่มีหอพัก ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษา ต้องแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหอพักภายนอก แม้กระทั่งนักศึกษาที่พักที่บ้านตัวเอง ก็ต้องมีระบบการดูแลและติดตามผู้รับทุนที่ชัดเจน เพื่อป้องกันนักศึกษาหลุดจากระบบการศึกษา   4.ด้านการบูรณาการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning) พัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ  ระบบการเรียนการสอนที่สร้างสมรรถนะ  5.ความร่วมมือในการผลิตบุคลากรให้กับสถานประกอบการ  มีสถานประกอบการร่วมมือไม่น้อยกว่า 2 แห่งต่อสาขา และควรมีการประกันการมีงาน

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า  ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนที่ฐานะยากลำบาก แต่มีผลการเรียนดี หรือกลุ่มเด็กช้างเผือก ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง  ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. 5 ปี และทุน 2 ปีในระดับปวส. ด้วยสวัสดิการเรียนฟรีเต็มรูปแบบ ค่าเทอมค่าครองชีพ ในจำนวนนี้ ยังมีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้นม. 6 และเป็นแรงงานที่มีทักษะ พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ผลลัพธ์สำคัญ พบว่า 78% ของนักศึกษาทุนมีผลการเรียนที่มีระดับดีมากเกรดเฉลี่ย 3.00 ถึง 4.00 นักศึกษาทุนรุ่นแรกที่เรียนจบในระดับปวส. มีรายได้เฉลี่ย ถึง 10,800 บาท และมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 32,000 บาท และเกิดความร่วมมือร่วมทุนกับภาคเอกชนผ่านการยกระดับคุณภาพเรื่องหลักสูตรที่ทันสมัยในสถานศึกษา ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและโภชนาการแมคคาทรอนิกส์ การซ่อมบำรุงระบบรางเครื่องกล งานเชื่อมยานยนต์ไฟฟ้ายานยนต์สมัยใหม่มีการพัฒนามาตรฐานการฝึกงาน มีการพัฒนามาตรฐานการจัดการศึกษาทวิภาคีการพัฒนาเครื่องมือในการเรียนการสอน การพัฒนาครูอาชีวศึกษาในสถานประกอบการ

“การทำงานร่วมกันระหว่างกสศ.และอาชีวะ มีความสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างมีกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวการทำงานจับมือไว้แล้วไปด้วยกันและเรียนดีมีความสุข โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรกำลังคนของประเทศหรือทุนมนุษย์”

สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีคุณสมบัติเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สามารถยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.eef.or.th  ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 9 มกราคม 2567 (ปิดรับ เวลา 23.59 น.)