ส่องโมเดล “โซนนิ่ง” จัดลำดับความเสี่ยง มาตรการสนับสนุน เปิดเรียนในสถานการณ์ COVID-19

ส่องโมเดล “โซนนิ่ง” จัดลำดับความเสี่ยง มาตรการสนับสนุน เปิดเรียนในสถานการณ์ COVID-19

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

สถานการณ์ความรู้ถดถอย หรือ Learning Loss จากการที่ต้องหยุดเรียนเพราะการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางสภาพปัญหาในปัจจุบันหลายพื้นที่ยังพบการแพร่ระบาดต่อเนื่องทำให้สถานศึกษาจำนวนไม่น้อยยังคงต้องปิดเรียน ในขณะที่การสอนเสริมผ่านระบบบออนไลน์ หรือใบงานก็ยังมีช่องว่างที่ไม่อาจทดแทนการเรียนแบบในห้องเรียนได้ 100% ปัญหานี้จึงนำมาสู่ แนวคิดเรื่องการหาทางกลับมาเปิดเรียน ซึ่งอาจทำได้ด้วยระบบ “โซนนิ่ง” ด้วยการประเมินปัจจัยแวดล้อม หากพบว่าไม่มีความสุ่มเสี่ยงก็พร้อมจัดมาตรการดูแลการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด


สหรัฐอเมริกาเป็นอีกตัวอย่างที่มีแนวทางการรจัดโซนนิ่งที่ชัดเจน ทั้งในแง่แนวคิด แนวทางปฏิบัติ และมาตรการรับมือในด้านอื่น ๆ ที่เป็นระบบ สามารถนำมาเป็นแนวทางปรับใช้ตามให้เหมาะสมกับบางพื้นที่ในประเทศไทยได้ ​เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาให้เบาบางลงไปได้

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีหน่วยงาน Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC ที่จะกำหนดแนวทางมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในช่วง COVID-19 ว่าควรทำอย่างไร ซึ่งมีคำแนะนำว่า โรงเรียนถือเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงของการติดโรคน้อย ควรจะเป็นที่สุดท้ายที่จะปิด และเป็นที่แรกที่จะเปิด โดยเฉพาะสถานศึกษาในระดับประถมศึกษาที่มีสถิติของการติดเชื้อน้อยมาก ขณะที่การที่นักเรียนไม่ได้ไปเรียนจะส่งผลเสียโดยเฉพาะต่อกลุ่มเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต นอกจากนี้ ทาง CDC ยังมีคำแนะนำเป็นแนวทางปฏิบัติในการกำหนดพื้นที่เป็น 4 ประเภท คือ สีน้ำเงิน มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 5 % สีเหลือง มีผู้ติดเชื้อ 5-7.9% สีส้ม มีผู้ติดเชื้อ 8-9.9% และ สีแดงมีผู้ติดเชื้อ มากกว่า 10 % โดยแม้แต่ในพื้นที่สีแดงก็ยังไม่มีมาตรการให้ปิดโรงเรียนถาวร แต่ให้ใช้แนวทางเรียนแบบผสมผสาน พร้อมใช้หลักเกณฑ์การดูแลป้องกัน เช่น การตรวจหาเชื้อครูทุกคนทุกสัปดาห์ และสุ่มตรวจเด็ก 10 % ทุกสัปดาห์ ขึ้นกับความสมัครใจของเด็ก

โดยทั้งพื้นที่สีแดงและสีส้ม จะใช้วิธีการเรียนแบบผสมทั้งออนไลน์และในห้องเรียน ซึ่งการจัดห้องเรียนจะมีทั้งลดจำนวนเด็ก สลับวันเรียน และมาตรการโซเชียลดิสแทนซิ่ง ไม่ให้เด็กสัมผัสกัน ไม่มีการเล่นกีฬา พร้อมทั้งมีคำแนะนำให้จัดเป็น Learning Pod นำเด็กและครูที่ผ่านการคัดกรองมาจัดการสอนเป็นกลุ่มเล็กๆ ส่วนโซนสีน้ำเงินให้มาเรียนได้ตามปกติโดยใช้มาตรการป้องกัน เช่นการรักษาระยะห่าง 6 ฟุต สามารถเล่นกีฬาได้แต่ต้องไม่มีการสัมผัสตัว โดยยังต้องมีการทดสอบการติดเชื้อครูทุกสัปดาห์แต่ไม่ต้องมีการทดสอบเด็ก


ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่า หากเทียบเคียงกับในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ยังใช้แนวทางการปิดสถานศึกษาทั้งจังหวัด ส่งผลให้เด็กทั้งจังหวัดเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้อย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย โดยทางออกสามารถแบ่งโซนพื้นที่เสี่ยงคล้ายกับสหรัฐได้ โดยพิจารณาการติดเชื้อในพื้นที่ของโรงเรียน และที่พักอาศัยของเด็กนักเรียน พิจารณาว่าการเดินทางของเด็กต้องข้ามเขตพื้นที่ไปยังโซนเสี่ยงหรือไม่ หากพื้นที่ไหนไม่มีความเสี่ยงก็อาจเปิดการสอนโดยใช้มาตรการควบคุมป้องกันได้ พร้อมตรวจหาเชื้อครูหรือเด็กนักเรียนอย่างสม่ำเสมอ หรือพิจารณาให้ครูในพื้นที่เสี่ยงได้รับวัคซีนก่อน หากเด็กหรือผู้ปกครองอยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็กำหนดให้สามารถมีช่องทางเรียนแบบออนไลน์ไม่ต้องมาที่โรงเรียน พร้อมกันนี้ควรมีการประเมินความรู้เด็กในช่วงที่หยุดเรียนนานๆ ว่ามีการลดลงอย่างไร เพื่อที่จะได้หามาตรการไปช่วยเหลือเช่น การสอนเสริมนอกเวลาเรียนปกติ หรือโดยแนวทางอื่นๆ