ศธ. หนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ยินดีส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นได้
พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ศธ. หนุนโรงเรียนพัฒนาตนเอง ยินดีส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ให้ยืดหยุ่นได้ พร้อมปรับวัฒนธรรมองค์กรให้ทันการเปลี่ยนแปลง

ในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง : โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง หรือ TSQP (Teacher and School Quality Program) จัดขึ้น ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567

อ่านข่าว : กสศ. ชูบทพิสูจน์ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง”

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจํากระทรวงศึกษาธิการ ได้รับมอบหมายจากพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นตัวแทนเข้าร่วมบอกเล่านโยบายโรงเรียนคุณภาพของกระทรวงศึกษาธิการว่าพร้อมสนับสนุนการทำงานโรงเรียนพัฒนาตนเอง ที่ขณะนี้ได้ยกระดับการขับเคลื่อนงานจาก TSQP (Teacher and School Quality Program) ไปสู่ TSQM (Teacher and School Quality Movement) ในลักษณะของขบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบทางการศึกษา สร้างระบบนิเวศทางการเรียนรู้ร่วมกันด้วยกลไกการทำงานในระดับจังหวัดและเครือข่าย

ดร.สิริพงศ์ กล่าวว่า Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง “โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” มีความสอดคล้องกับนโยบายเรียนดีมีความสุข ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเริ่มต้นจากการอยากเห็นทั้งผู้เรียนและผู้สอนมีความสุข ด้วยเชื่อว่าเมื่อทุกคนมีความสุขผลการเรียนก็จะดีขึ้น เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นจริง จำเป็นต้องขับเคลื่อนประเด็นด้านการศึกษาอีกหลายเรื่อง และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน

“คะแนน PISA ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทย มีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำสูงและเป็นปัญหาที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องแก้ไขด้วยการหาแนวทางที่เหมาะสมและพิสูจน์ว่าเป็นแนวทางที่ใช้แก้ไขปัญหาโรงเรียนที่กำลังเผชิญอยู่ได้ โดยในวันนี้เรามีการพูดกันถึงเรื่องหลักสูตรฐานสมรรถนะ และหาวิธีเทียบความสามารถและศักยภาพที่เด็กแต่ละคนมีเป็นวิชาการได้ และกำลังทบทวนว่าทำอย่างไร จึงจะพัฒนาวิชาที่เป็นทักษะพื้นฐานให้เพียงพอต่อความจำเป็นสำหรับเด็ก เพื่อนำไปต่อยอดการเรียนรู้ให้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

“มีความพยายามพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้สามารถเอาชนะอุปสรรคและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้จุดอ่อนเรื่องนี้อย่างไร  โรงเรียนแต่ละแห่งซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน ต้องช่วยกันคิดอีกด้วยว่าหากจะสร้างพื้นที่นวัตกรรม ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากใครบ้าง ชุมชนต้องมีส่วนร่วม ครูต้องมีส่วนร่วม ผู้บริหารต้องมีส่วนร่วมในการวางรากฐานเอาไว้ ให้กลไกของครูในโรงเรียน ให้กลไกของวัฒนธรรมองค์กร ให้กลไกของชุมชน ดำเนินต่อไปได้” ดร.สิริพงศ์กล่าว

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า การพัฒนาการเรียนการสอนให้เท่าทันกับความต้องการของผู้เรียน ในอนาคต จำเป็นต้องเปลี่ยนเป้าหมายของการสอนโดยตั้งคำถามว่าเด็กจะได้อะไรจากการสอน จะต้องปรับการสอนให้มีผลลัพธ์มุ่งเน้นที่ตัวเด็ก และปรับตัวชี้วัดให้เน้นไปที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มีต่อผู้เรียน

“กระทรวงศึกษาธิการกำลังวางแผนที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของโลก โดยกำลังจะนำ Digital Transformation มาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองการลดภาระครู ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของโลก และก้าวสู่องค์กรที่ใช้เครื่องมือดิจิทัลมาพัฒนาการเรียนรู้ในโรงเรียน  และพยายามสร้างระบบการศึกษาที่ดี ซึ่งควรจะมุ่งไปในเรื่องการสร้างผลลัพธ์ที่เป็นผลดีต่อตัวผู้เรียน สร้างการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ตอบโจทย์เด็กทุกกลุ่มได้ ผลักดันการจัดสรรทรัพยากรที่มีความเสมอภาค ดูแลพื้นที่ที่มีความขาดแคลน สนับสนุนให้มีพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ปลูกฝังกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิด Growth Mindset การประเมิน PISA ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงแค่เรื่องของคุณภาพทางการศึกษาเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับทัศนคติของเด็กอีกด้วย 

“ทั้งนี้ ขอให้กำลังใจทุกคน ที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาด้วยแนวทางต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการไม่ใช่หน่วยงานที่เป็นน้ำเต็มแก้ว ที่มีใครเสนออะไรแล้วก็ไม่ฟัง เรารับฟังทุกเรื่องและต้องการความคิดนอกกรอบ แต่ต้องเอาข้อเท็จจริงและข้อจำกัดมาพูดคุยกัน สิ่งใดที่เป็นข้อเสนอแนะที่มาจากการอภิปรายหารือกัน สิ่งไหนที่เป็นเรื่องดีและกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการให้ได้ก็จะทำให้ทันที” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการกล่าว