กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผสานความร่วมมือพัฒนาตัวแบบ ‘กองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ’

กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ผสานความร่วมมือพัฒนาตัวแบบ ‘กองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ’

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ มูลนิธิเอสซีจี และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น นำโดย ​ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา คุณธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. และ คุณสุวิมล​ จิวา​ลักษณ์ กรรมการ​และ​ผู้จัดการ​มูลนิธิ​เอส​ซี​จี​ ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการดำเนิน “โครงการพัฒนาตัวแบบกองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพที่เชื่อมโยงกับโอกาสทางการศึกษาของเยาวชน และแรงงานนอกระบบ” ภายใต้โครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ เพื่อผสานความร่วมมือในการขยายพื้นที่การทำงานของโครงการฯ โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อสร้างการเรียนรู้ และการพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ และความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ​มูลนิธิ​เอส​ซี​จี

ทั้งนี้ มีหน่วยจัดการเรียนรู้เข้าร่วมโครงการนำร่องทั้งหมด 3 หน่วย ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพอใจในวิถีพอเพียง จังหวัดกาญจนบุรี, กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอเสื่อบ้านโพธิ์ทอง (ก.กกบึงกาฬ) จังหวัดบึงกาฬ, ชมรมเพื่อเพื่อนผู้พิการตำบลแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง โดยมีเป้าหมายเพื่อร่วมกันสร้างตัวแบบกองทุนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาอาชีพ ภายใต้แนวคิดการใช้ “อาชีพ” และ “กองทุน” เป็น “เครื่องมือช่วยให้คนเกิดการเรียนรู้” โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ผ่านการพัฒนางานบนความต้องการของคนในชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส

สำหรับการทำงานระหว่าง กสศ. และมูลนิธิเอสซีจี จะดำเนินงานร่วมกันในลักษณะการบริหารเครือข่ายความร่วมมือ เน้นการเข้าไปสร้างการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และส่งเสริมการลงมือปฏิบัติโดยคนในพื้นที่ (community based) พัฒนาต่อยอดจากทุนเดิมที่สร้างไว้ในชุมชน ผ่านการหนุนเสริมกลไกการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับชุมชน มุ่งเน้นให้ผู้ด้อยโอกาสที่เป็นเยาวชนและแรงงานนอกระบบ เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ สร้างความเป็นเจ้าของ และร่วมเป็นคณะทำงานในการขับเคลื่อนกองทุน และยังเกิดนวัตกรรมทางการเงินช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (Innovative Finance) ที่นำไปสู่การมีอาชีพและโอกาสทางเลือกที่เพิ่มมากขึ้น และยังเกิดผลลัพธ์คืนสู่สังคม (social return) จากความร่วมมือที่เกิดขึ้นไปได้